1. สถานการณ์ปัจจุบัน
การผลิต
ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีประมาณ 1,654,018 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 18.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงแบนลดลง ร้อยละ 17.36 เนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ลดลง โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 28.63 เนื่องจากเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปีก่อนกระทรวงพาณิชย์มีการประกาศใช้มาตรการปกป้องชั่วคราวสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่น ๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน ทำให้การนำเข้าสินค้าดังกล่าวลดลง ส่งผลให้การผลิตในประเทศช่วงนั้นสูงขึ้น หลังจากนั้นผู้นำเข้าได้มีการเลี่ยงมาตรการดังกล่าวด้วยการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนหน้ากว้างจากประเทศรัสเซีย, อินเดีย มาตัด ซึ่งเหล็กชนิดดังกล่าวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศทำให้ปริมาณการผลิตในช่วงนี้ลดลง รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 7.02 และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 3.41 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 10.85 เนื่องจากเป็นช่วงปลายของการก่อสร้างโครงการของภาครัฐซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้เหล็กน้อยลง ประกอบกับโครงการใหม่ๆ ก็ยังไม่เกิดขึ้น ขณะที่โครงการก่อสร้างของภาคเอกชนก็ลดลงเช่นกัน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า การผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.20 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด คือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.45 แต่เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 2.48 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 6.85 และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 2.72 รายละเอียดตามตารางที่ 1
ความต้องการใช้เหล็กในประเทศช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีจำนวนประมาณ 3,121,140 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 23.47 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการใช้ลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 27.49 เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ลดลง และผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มทรงยาว ลดลง ร้อยละ 13.04 โดยจากข้อมูลเครื่องชี้ภาวะอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (เช่น จำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อปล่อยใหม่จากธนาคารพาณิชย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล, จำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล) ไตรมาสที่ 1 เทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อนชะลอตัวลง เนื่องจากความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลงจากการที่ผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ยังคงเข้มงวดในการการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้ความต้องการในภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลงด้วย
การนำเข้า- การส่งออก
การนำเข้า
มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีจำนวนประมาณ 66,559 ล้านบาท โดยมูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 17.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 20.19 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากในช่วงนี้ ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม(Tin free)ลดลง ร้อยละ 53.81เหล็กแผ่นรีดร้อน(HR sheet) ลดลง ร้อยละ 37.69 และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก (Tin plate) ลดลง ร้อยละ 32.47 สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป(Semi-finished products) ลดลง ร้อยละ 18.66 โดยผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 64.97 เหล็กแท่งแบน (Slab) ลดลง ร้อยละ 22.26 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 14.72 โดยเหล็กเส้น (Bar) ลดลง ร้อยละ 21.71 และเหล็กลวด (Wire rod (LC/HC)) ลดลง ร้อยละ 13.57 ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการนำเข้าลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.40 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป (Semi-finished products) ลดลง ร้อยละ 5.05 โดยเหล็กแท่งแบน(Slab) ลดลง ร้อยละ 22.72 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 0.18 โดยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (HR Section (H/L)) ลดลง ร้อยละ 22.52 เหล็กลวด (Wire rod (LC/HC)) ลดลง ร้อยละ 2.43 สำหรับเหล็กทรงแบน มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.81 โดยเหล็กแผ่นหนารีดร้อน (HR plate) เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.40 เหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม (CR stainless steel) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.50 รายละเอียดตามตารางที่ 2
การส่งออก
มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีจำนวนประมาณ 7,994 ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.97 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน (HR sheet) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 334.09 และเหล็กแผ่นรีดร้อนกัดกรดเคลือบน้ำมัน (P&O) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 150.00 สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.05 โดยเหล็กเส้น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 47.59 ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 0.35 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ได้แก่ เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 5.88 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อนกัดกรดเคลือบน้ำมัน (P&O) ลดลง ร้อยละ 44.44 ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ (Pipe-Seamless) ลดลง ร้อยละ 37.41 แต่ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป (Semi-finished products) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4,600 รายละเอียดตามตารางที่ 3
การผลิตเหล็กของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีปริมาณ 1,654,018 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 18.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีปริมาณ 3,121,140 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 23.47 เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ลดลง ประกอบกับสถานการณ์ทางทางการเมืองส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนน้อยลง สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กในไตรมาสที่ 1ปี 2557 มีมูลค่า 66,559 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 17.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมาก ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมและเหล็กแผ่นรีดร้อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกมีประมาณ 7,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.59 โดยส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป. ลาว อินโดนีเซีย เมียนมาร์ และออสเตรเลีย สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดร้อนกัดกรดเคลือบน้ำมัน
สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2557 คาดการณ์ว่าความต้องการใช้เหล็กจะชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับปีก่อน เพราะมีปัจจัยลบหลายด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจมหภาคของประเทศที่มีแนวโน้มจะชะลอตัวสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุน และอาจจะทำให้การดำเนินนโยบายและการลงทุนของรัฐบาลต้องชะลอลง ภาวะภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปีก่อนๆ ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้เช่นเคยทำให้รายได้ลดลง นอกจากนั้น ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงก็ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งแนวโน้มตลาดในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็ก เช่น ก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ยังคงทรงตัวอยู่ ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กในช่วงดังกล่าวชะลอตัวลง
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--