สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2557 (มกราคม – มีนาคม 2557)(อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 8, 2014 15:23 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

Highlight
  • ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2557 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ ระดับ 267.46 ลดลงร้อยละ 1.63 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 4.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกลดลง ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะความต้องการเครื่องปรับอากาศในตลาดหลักเช่น อาเซียน สหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น
  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2557 มีมูลค่า 13,288.08 ล้าน เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการส่งออกไปอาเซียน สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ และวงจรรวม/ไมโครแอสแซมบลี (IC)
  • ในไตรมาส 2/2557 คาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการผลิตลดลงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6

การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 1/2557 (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 1) มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 267.46 ลดลงร้อยละ 1.63 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.31 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ปรับตัวลง ได้แก่ Semiconductor Monolithic IC Other IC HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.80 3.35 0.78 และ 7.52 ตามลำดับเนื่องจากเป็นผลจากฤดูกาลที่จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นมากในช่วงไตรมาส 4 เพื่อขายในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ทำให้ในช่วงไตรมาส 1 จะมีการผลิตที่ชะลอตัวลงมา ขณะที่ในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมาจากเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน คอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยล์ยูนิต และคอมเพรสเซอร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.29 54.24 และ 26.95 ตามลำดับ

นอกจากนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.11 โดยมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.23 เนื่องจาก HDD ปรับตัว ลดลงร้อยละ 7.83 เพราะความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกลดลง ซึ่ง Gartner 1 รายงานว่าการจำหน่ายคอมพิวเตอร์ PC ทั่วโลกในไตรมาส 1/2557 มีการจำหน่ายอยู่ที่ 76.6 ล้านเครื่อง ลดลงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เป็นการปรับตัวลดลงในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจาก Microsoft จะหยุดให้บริการ Window XP แล้ว ทำให้ตลาดต้องซื้อคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่แทนเครื่องเดิม เพราะคอมพิวเตอร์เก่าจะไม่สามารถรองรับ Window รุ่นใหม่ (รุ่น 7/8) ได้

นอกจากนี้ Forbe คาดการณ์ว่า2ความต้องการ HDD ในปี 2557 จะปรับตัวลดลง ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นการปรับตัวลดลงในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2556 ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งในปี 2557 ความต้องการ HDD จะมาจากกลุ่มตลาด Cloud Storage ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านวิดิทัศน์ ภาพ/เสียง (Content Generation), External HDD และกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ (Consumer Electronics)

ขณะที่ Semiconductor Monolithic IC Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.82 17.73 และ 1.85 ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนใน Smart Phone ซึ่งในปี 2557 คาดว่า3ความต้องการในตลาดโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 รวมถึงกลุ่มอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ (Communication system) / กลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Consumer Electronics) ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในอุตสาหกรรมยานยนต์มีการเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

อุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน ซึ่งกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน คอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยล์ยูนิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.55 และ 21.82 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกไปตลาดอาเซียนและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สายไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการที่ภาครัฐมีการลงทุนพัฒนาระบบสายไฟฟ้าแรงสูง สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อรองรับกับการแพร่ภาพในระบบดิจิตอล

ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ปรับตัวลดลง ได้แก่ ตู้เย็น หม้อหุงข้าว พัดลม กระติกน้ำร้อน คอมเพรสเซอร์ ลดลงร้อยละ 22.47 19.88 16.88 8.04 และ 1.50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาคครัวเรือนในประเทศมีการชะลอการใช้จ่าย

การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในไตรมาส 1/2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อน ยกเว้นเตาอบไมโครเวฟ และสายไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สำหรับ การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิตพัดลมเครื่องซักผ้า เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็น ลดลงร้อยละ 8.53 8.11 15.39 5.76 16.56 และ 24.99 ตามลำดับ เพราะผู้บริโภคในประเทศมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลงประกอบกับสถานการณ์การเมืองที่ไม่มีความแน่นอน ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ คอมเพรสเซอร์ สายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.77 และ 4.65 ตามลำดับ (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 2)

การส่งออก

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2557 มีมูลค่า 13,288.08 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลง (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 3)

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 1/2557 มีมูลค่า 5,787.01 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.71 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีการส่งออกไปสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.98 5.53 และ 0.26 ตามลำดับ ส่วนตลาดที่มีการปรับตัวลดลง คือ จีน และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 15.20 และ 0.11 ตามลำดับ สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าการส่งออก 1,224.21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.70 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาเซียนและสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.08 และ 79.71 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามลำดับ ยกเว้นจีนที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 67.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพราะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง รองลงมาคือ ตู้เย็น มีมูลค่าการส่งออก 359.45 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.93 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยการส่งออกไปสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.74 และ 40.14 ตามลำดับ

นอกจากนี้การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาเซียน สหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.06 12.22 9.76 และ 9.29 ตามลำดับ ยกเว้นจีนที่มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 2.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าการส่งออก 1,224.21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปสหภาพยุโรปและอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.76 และ 16.67 ตามลำดับ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม (ฟิวส์ สวิตช์ ปลั๊ก socket) มีมูลค่าการส่งออก 599.52 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้นทุกตลาด โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.32 และ 20.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2557 มีมูลค่า 7,501.07 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.12 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งตลาดหลักที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ลดลงร้อยละ 11.91 9.84 และ1.67 ตามลำดับ สำหรับสินค้าหลักที่ปรับตัวลดลง คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีมูลค่าการส่งออก 4,344.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.55 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการที่ตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีน ลดลงร้อยละ 11.78 และ 11.03 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน รองลงมา คือ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี ที่มีมูลค่าการส่งออก 1,784.92 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.53 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกไปจีนและสหรัฐอเมริกา ลดลงถึงร้อยละ 15.03 และ 12.42 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

สำหรับการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 0.58 ตลาดหลักที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ จีน และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 27.49 และ 12.56 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.42 7.92 และ 3.64 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าหลักที่ปรับตัวลดลง คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าการส่งออก 4,344.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาการส่งออกไปจีน สหรัฐอเมริกา และอาเซียน ลดลงถึงร้อยละ 36.93 10.38 และ 4.20 ตามลำดับ ขณะที่วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลีที่มีมูลค่าการส่งออก 1,784.92 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีการส่งออกไปญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.32 6.26 และ 13 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การส่งออกไปจีน และสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลงร้อยละ 4.42 และ 2.48 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ Semiconductor Industry Association รายงานว่าการจำหน่าย Semiconductor ของโลกในไตรมาส 1/2557 มีมูลค่า 78.47 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.05 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดหลักส่วนใหญ่มีการขยายตัว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เอเชียแปซิฟิก สหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.39 11.66 และ 10.73 ตามลำดับ ยกเว้นญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 2.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การนำเข้า

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2557 มีมูลค่า 10,544.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.45 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวลดลงร้อยละ 11.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการนำเข้าทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 4)

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 1/2557 คิดเป็นมูลค่า 4,245.46 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 18.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการนำเข้าจากแหล่งนำเข้าหลักทั้งหมดปรับตัวลดลง ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีนและอาเซียน ลดลงร้อยละ 19.11 18.29 17.04 5.93 และ 1.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ สินค้าหลักที่ปรับตัวลดลง เช่น เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม (ฟิวส์ สวิตช์ ปลั๊ก socket) มีมูลค่าการนำเข้า 911.85 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 13.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมา คือ ส่วนประกอบเครื่องรับโทรทัศน์ มีมูลค่าการนำเข้า 388.99 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 12.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การนำเข้าอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2557 มีมูลค่า 6,299.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.90 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 5.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าหลักที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน จีน และสหภาพยุโรป ลดลงร้อยละ 14.75 10.71 และ 8.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ สินค้าหลักที่ปรับตัวลดลง เช่น อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าการนำเข้า 1,558.30 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 14.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการนำเข้ามากที่สุดในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่า 2,232.57 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.4 12.8 และ 9.7 ตามลำดับ

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 1/2557

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2557 อยู่ในภาวะชะลอตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากอุตสาหกรรม HDD ปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกลดลง ขณะที่วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี (IC) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนใน Smart Phone กลุ่มอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ (Communication system) /กลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Consumer Electronics) และในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น นอกจากนี้อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการส่งออกไปตลาดหลักได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องปรับอากาศ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม (ฟิวส์ สวิตช์ ปลั๊ก socket) ยกเว้นการส่งออกไปจีนเท่านั้นที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามการจำหน่ายในประเทศยังชะลอตัว จากการที่ผู้บริโภคในประเทศมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 2/2557

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2557 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวลดลงร้อยละ 3.2 โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกามีการปรับตัวลดลง สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 ซึ่งมาจากเครื่องปรับอากาศ และสายไฟฟ้าที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ