สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2557 (มกราคม – มีนาคม 2557)(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 8, 2014 15:35 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 1 ปี 2557 มีการผลิต ส่งออก และนำเข้า เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีปัจจัยมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจในอาเซียน และเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ความขัดแย้งยังคงยืดเยื้อ อาจทำให้ประเทศคู่ค้าลดความเสี่ยงโดยเปลี่ยนไปทำการค้ากับประเทศคู่แข่ง เช่น สิงคโปร์ ทดแทน

การผลิต

ไตรมาส 1 ปี 2557 การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.15 2.75 1.67 และ 6.79 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) เนื่องจากมีการผลิตเพื่อรองรับการเลือกตั้งทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาภายในประเทศ ทำให้ความต้องการใช้โดยเฉพาะกระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์สูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่วนกระดาษลูกฟูก ลดลง ร้อยละ 1.73 เนื่องจากมีการนำเข้าจากญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ และกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.06 และ 5.61 ตามลำดับ เนื่องจากมีการผลิตเยื่อใยสั้นเพื่อใช้ทดแทนเยื่อใยยาวที่นำเข้าจากต่างประเทศ และมีการผลิตเพื่อสำรองใช้ในประเทศและส่งออกในอนาคต ส่วนกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก ลดลง ร้อยละ 5.90 6.45 และ 0.02 ตามลำดับ เนื่องจากมีสินค้าคงคลังจากช่วงปลายปี 2556 ประกอบกับความต้องการใช้ที่ยังไม่แน่นอน ทำให้ดัชนีผลผลิตเมื่อเทียบกับปีก่อนลดลง

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 42.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.53 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการส่งออกเยื่อกระดาษ ไปยังสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น ตามสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.49 เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในกลุ่ม AEC ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศเวียดนามมีการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นมาก

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 402.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกไปยังประเทศจีน และ ส.ป.ป.ลาว เพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสำคัญ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ชะลอตัวลง ส่งผลให้การส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษในภาพรวมเพิ่มขึ้น และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน ร้อยละ 2.32 ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม AEC ขยายตัว ทำให้มีความต้องการกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมียนมาร์ และ ส.ป.ป. ลาว

3. หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 19.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.70 แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าลดลงถึง ร้อยละ 17.63 เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้นำเข้าสินค้า ว่าไทยจะสามารถผลิตและป้อนสินค้าให้ได้ตามคำสั่งซื้อ ทำให้ประเทศคู่ค้าทำการซื้อขายกับประเทศคู่แข่ง เช่น สิงค์โปร์ ทดแทน

การนำเข้า

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 117.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง จากไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.15 และ 29.40 ตามลำดับ เนื่องจากมีการผลิตเยื่อใยสั้น และใช้กระดาษรีไซเคิล ทดแทนเยื่อใยยาวที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ประกอบกับมีการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษเพิ่มขึ้น ทำให้การนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษลดลง

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 371.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น จากไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.16 และ 1.65 ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียน กระดาษลูกฟูก และผลิตภัณฑ์กระดาษ จากจีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ซึ่งมีราคาต่ำกว่ากระดาษที่จำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น

3. สิ่งพิมพ์ ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 59.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.02 และ 12.20 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำเข้าหนังสือ และตำราเรียนจากสหรัฐอเมริกา รวมถึงนำเข้ารูปภาพ และภาพพิมพ์ จากญี่ปุ่น เพื่อใช้ประกอบการจัดงานเทศกาลหนังญี่ปุ่น 2014 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อร้องเรียนของสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย ที่ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีขาออกไม้ยูคาลิปตัสจากร้อยละ 0 เป็นเสียภาษีในอัตราที่เหมาะสม เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรมและป้องกันขาดแคลนวัตถุดิบ หลังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไม้ยูคาลิปตัส ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษ เนื่องจากมีกลุ่มเอกชนทำการรับซื้อไม้ยูคาลิปตัสจากเกษตรกร ในราคาที่สูงกว่าจำหน่ายให้โรงงานผลิตเยื่อกระดาษในประเทศ เพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาวะการผลิตกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ ไตรมาส 1 ปี 2557 เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศ และการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา สวนทางกับกระดาษลูกฟูกซึ่งลดการผลิตลง เนื่องจากมีการนำเข้าจากญี่ปุ่นทดแทน

การส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2557 เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากความต้องการกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษของประเทศในกลุ่ม AEC เช่น เวียดนาม เมียนมาร์ และ ส.ป.ป.ลาว ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนสิ่งพิมพ์ ขยายตัวเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ทำให้ประเทศคู่ค้าลดความเสี่ยงโดยจะทำการซื้อขายกับประเทศคู่แข่ง เช่น สิงคโปร์ ทดแทน

การนำเข้าเยื่อกระดาษ และเศษกระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2557 ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการผลิตเยื่อใยสั้น และกระดาษรีไซเคิล ให้สามารถทดแทนเยื่อใยยาวที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ สวนทางกับการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากการนำเข้ากระดาษจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาต่ำกว่า ในส่วนของสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการหนังสือ ตำราเรียนต่างประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น

แนวโน้ม

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2557 คาดว่า จะขยายตัวดีขึ้น โดยภาคการผลิตจะมีทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยเสี่ยง จากการแข่งขันด้านราคากระดาษพิมพ์เขียนที่นำเข้าจากจีนซึ่งมีราคาค่อนข้างต่ำ

การส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษ และผลิตภัณฑ์จากกระดาษ คาดว่า จะขยายตัวได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายตัวตามไปด้วย ในส่วนของหนังสือและสิ่งพิมพ์อาจจะชะลอตัว และต้องมีการปรับตัวจากการเข้ามาแทนที่ของสื่อดิจิตอลโดยเฉพาะในธุรกิจพิมพ์เขียน

การนำเข้าเยื่อกระดาษ คาดว่า จะปรับตัวลดลง สวนทางกับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ที่จะเพิ่มสูงขึ้น เพื่อรองรับความต้องการในการใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ส่วนสิ่งพิมพ์ คาดว่า อาจจะทรงตัว ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวและอัตราค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอย และบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยลง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ