สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2557 (มกราคม – มีนาคม 2557)(อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 8, 2014 15:42 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง ส่งผลให้ภาคก่อสร้างปรับตัวดีขึ้น การส่งออกปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น และหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในปริมาณที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2557 คาดว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะหดตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงที่ไทยมีวันหยุดยาว ทำให้การก่อสร้างชะลอตัวลง

  • การผลิต

การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 10.47 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 11.63 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.92 และ 7.49 ตามลำดับ สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.61 และ 7.58 ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากไตรมาสที่ 1 ของทุกปีเป็นช่วงฤดูกาลก่อสร้างของไทย แรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเพื่อทำการเก็บเกี่ยวในช่วงไตรมาสที่ผ่านมากลับเข้าสู่ภาคก่อสร้างอีกครั้ง ส่งผลให้การก่อสร้างกลับสู่สภาวะปกติ นอกจากนี้ การขยายการลงทุนทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน โดยภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบขนส่ง และโครงการจัดการน้ำ ส่วนภาคเอกชนก็มีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยแนวสูง (คอนโดมิเนียม) บนพื้นที่บริเวณแนวรถไฟฟ้าและเขตตัวเมืองในจังหวัดต่างๆ ยังส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นอีกด้วย

  • การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 9.90 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.15 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 9.75 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.73 และ 1.22 ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องมาจากการขยายตัวของภาคก่อสร้าง โดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน รวมถึงไตรมาสแรกของทุกปีเป็นฤดูกาลก่อสร้าง ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในช่วงนี้จึงเพิ่มขึ้นตามปกติ

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีปริมาณการส่งออกรวม 2.93 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 160.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 0.80 ล้านตัน คิด

เป็นมูลค่า 33.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 135.29 และ 125.11 ตามลำดับ ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดลดลงร้อยละ 27.92 และ 29.00 ตามลำดับ ในส่วน

ของปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการส่งออกจำนวน 2.13 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 126.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.12 โดยมีมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.05 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.99 โดยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.50 ทั้งนี้ ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นในภาพรวม เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการขยายการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศของตน และมีการนำเข้าปูนซีเมนต์จากไทยเพิ่มมากขึ้น โดยตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ เมียนมาร์ รองลงมา คือ กัมพูชา ลาว บังคลาเทศ และมาเลเซีย ตามลำดับ

การนำเข้า

การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีปริมาณรวม 4,211.67 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 15.40 และ 20.33 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 3.14 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.17 โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ดจำนวน 40.08 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.01 ล้านเหรียญสหรัฐ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 4,171.59 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ไทยลดปริมาณการนำเข้าปูนซีเมนต์ลง เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยบางรายได้มีการเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศมากขึ้น ซึ่งการนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นปูนซีเมนต์ขาวชนิดพิเศษและอะลูมินัสซีเมนต์ ที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ จีน รองลงมา คือ เนเธอร์แลนด์ อินเดีย อียิปต์ และฝรั่งเศสตามลำดับ

ราคาสินค้า

ราคาปูนซีเมนต์มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรเนื่องมาจากราคาเชื้อเพลิงที่ขยับสูงขึ้นเมื่อกลางปี 2555 รวมถึงต้นทุนการขนส่งและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์บางรายได้ปรับขึ้นราคาขายปูนซีเมนต์บ้างแล้ว โดยเฉลี่ย 100-200 บาท ต่อตัน ตามต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น

  • นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลไม่มีมาตรการ/นโยบาย รองรับสำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์โดยตรงแต่มีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

  • สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากไตรมาสแรกของทุกปีเป็นฤดูกาลก่อสร้างของไทย ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่สงบในไตรมาสที่ผ่านมาคลี่คลายไปในทางที่ดี นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ โครงการพัฒนาระบบขนส่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถึงแม้จะมีปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ไม่มากนัก แต่ผลจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าดังกล่าวทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมตามบริเวณแนวรถไฟฟ้าขยายตัวดีขึ้น จึงส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในปริมาณที่สูงขึ้น

ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมาร์และกัมพูชา ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยในอาเซียน มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์สูงขึ้น เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศของตนที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะปรับตัวลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่ไทยมีวันหยุดยาวและเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งจะส่งผลให้การก่อสร้างในโครงการต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนชะลอตัวลง

สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 คาดว่าจะหดตัวลงเล็กน้อย ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในไตรมาสดังกล่าวเช่นกัน นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร ค่าจ้างแรงงาน ฯลฯ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกปูนซีเมนต์ของไทยในระยะต่อไป เนื่องจากการแข่งขันในตลาดต่างประเทศค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถปรับขึ้นราคาขายได้ และหากต้องขายในราคาเดิมก็จะประสบปัญหาขาดทุน ทั้งนี้ แม้ว่าคุณภาพปูนซีเมนต์ของไทยจะสามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ดี แต่ตลาดต่างประเทศยังคงมีความต้องการปูนซีเมนต์ที่มีคุณภาพดีพอสมควรในราคาถูกมากกว่า

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ