สถานการณ์การผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 1 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสิ่งทออยู่ในภาวะชะลอตัว ในขณะที่การผลิตเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมเพิ่มขึ้น จากคำสั่งซื้อทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากตลาดสหรัฐอเมริกาที่เริ่มฟื้นตัวและตลาดสหภาพยุโรปมีทิศทางฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้มีปริมาณคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมากในผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายชั้นนอกบุรุษและเด็กชายประเภทเสื้อกีฬาเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลกที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้
กลุ่มสิ่งทอ ไตรมาส 1 ปี 2557 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ มีการผลิตลดลง ร้อยละ 2.67 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สอดคล้องกับการ จำหน่ายที่ลดลง ร้อยละ 2.73 ตามวัฏจักรของอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่จะปรับตัวลดลงในไตรมาสนี้ เพื่อ นำไปผลิตเป็นผ้าผืนและเครื่องนุ่งห่ม และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลง ร้อยละ 3.29 ในขณะที่การจำหน่ายลดลง ร้อยละ 5.56 จากการบริโภคและความต้องการของตลาดภายในที่ลดลงประกอบกับความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง และคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าหลักเส้นใยสิ่งทอจากไทย (ตารางที่ 1)
กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 1 ปี 2557 การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าถัก) และการจำหน่าย ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ร้อยละ 12.87 และ 11.52 ตามลำดับ จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลัก ประกอบกับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นภายในประเทศจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นกว่าปีก่อน ส่งผลให้การบริโภคเสื้อผ้าถักเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.16 แต่การจำหน่ายลดลง ร้อยละ 2.66 เนื่องจากความต้องการของตลาดภายในประเทศลดลง ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวในการจำหน่าย (ตารางที่ 2) สำหรับการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้น เครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าทอ) การผลิต และการจำหน่าย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.07 และ 5.49 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาส เดียวกันของปีก่อน การผลิต และการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.47 และ 11.18 ตามลำดับ(ตารางที่ 3) ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากการส่งออก ในขณะที่การบริโภคในประเทศชะลอตัวเล็กน้อย จากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ระมัดระวังมากขึ้น
การตลาด
ไตรมาส 1 ปี 2557 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าการส่งออก 1,818.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 1.67 และ 1.23 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากตลาดสหรัฐอเมริกา เอเซีย และอาเซียน ขยายตัว โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และบังคลาเทศ มีความต้องการผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเพื่อนำไปผลิตและส่งออกไปตลาดอื่น ๆ เพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มส่งออกที่สำคัญ ได้แก่
1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการส่งออก 1,111.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 1.56 และ 2.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 61.14 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้
1.1 ผ้าผืนและด้าย ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 615.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.31 และ 0.99 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ประกอบด้วย ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออก 374.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ60.87 และด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ มีมูลค่าการส่งออก 240.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.13 โดยมีประเทศเวียดนาม จีน บังคลาเทศ และญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกสำคัญ
1.2 เคหะสิ่งทอ ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 75.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.23 และ 3.63 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยมีประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ เป็นตลาดส่งออกสำคัญ
1.3 เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 167.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.32 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2556 มีฐานการส่งออกต่ำ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 19.41 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อลดลงค่อนข้างมากจากประเทศอินโดนีเซีย บังคลาเทศ อินเดีย และตุรกี จากราคาเส้นใยฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียซึ่งเป็นคู่แข่งที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า โดยมีประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และบังคลาเทศ เป็นตลาดส่งออกสำคัญ
1.4 สิ่งทออื่นๆ ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 166.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.27 และ 9.47 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยมีประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย จีน และอิตาลี เป็นตลาดส่งออกสำคัญ
2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 706.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 1.85 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.72 โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 38.86 ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ คือ
เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออก 609.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.19เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม การส่งออกในตลาดสหภาพยุโรป จีน และอาเซียน ยังขยายตัวได้ ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงไม่มากนัก แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.82 เนื่องจากการส่งออกขยายตัวได้ในตลาดสหภาพยุโรปตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าสำคัญในการขยายตัวของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้มีปริมาณคำสั่งซื้อเข้ามาค่อนข้างมาก
ไตรมาส 1 ปี 2557 มีการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคิดเป็นมูลค่า 1,104.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 4.25 และ 4.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับโดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งทอต้นน้ำสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์นำเข้าที่สำคัญ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้า (ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ) รวมทั้งสิ้น 984.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.91 และ 1.94 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องลดลงทั้งผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม โดยมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึง ร้อยละ 89.08 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ซึ่งผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้
1.1 เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่านำเข้า 235.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.74 และ 1.51 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเส้นใยฯ ที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย และบราซิล
1.2 ด้ายทอผ้าฯ มีมูลค่านำเข้า 178.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 1.73 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และไต้หวัน
1.3 ผ้าผืน มีมูลค่านำเข้า 421.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.46 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.56 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจาก ไต้หวัน ฮ่องกง และเยอรมนี โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
1.4 ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 96.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 5.30 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.11 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหราชอาณาจักร
2. กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 120.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13.91 และ 22.84 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากประชาชนระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยโดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยลง จากอัตราหนี้ภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยมูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 10.92 ของการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน เวียดนาม บังคลาเทศ และอิตาลี
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เกี่ยวข้อง จัดงานแสดงสินค้าและแฟชั่นเครื่องหนัง BIFF&BIL 2014 ในช่วงเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญในการพบปะระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย มีช่องทางพัฒนาสินค้า และการสร้างเสริมศักยภาพนักออกแบบสร้างสรรค์งานสู่อินเตอร์ ที่มีผลต่อภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การแข่งขันไม่ได้อยู่บนเงื่อนไขที่เน้นราคาถูกอีกต่อไป แต่ต้องสร้างความสามารถในหลายมิติ โดยเฉพาะการสร้างภาพลักษณ์การเป็นผู้นำแฟชั่นในภูมิภาค การนำเสนอสินค้าที่มีความเป็นตัวเอง การเตรียมสินค้าที่เหมาะกับตลาดที่ต่างกัน และการวิเคราะห์ความต้องการของผู้ซื้อในแต่ละประเทศ รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ประกอบการขายที่ถูกนำเสนออย่างดีและสอดรับกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ คาดว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยจะมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน
กลุ่มสิ่งทอ การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไตรมาส 1 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 2.67 และ 1.56 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 3.29 และ 1.23 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในลดลง ประกอบกับความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวในภาคการผลิต นอกจากนี้คำสั่งซื้อในกลุ่มสิ่งทอต้นน้ำจากต่างประเทศลดลง โดยมูลค่าการส่งออกในกลุ่มเส้นใยสิ่งทอฯ ในตลาดบังคลาเทศ สหรัฐอาหรับ-เอมิเรสต์ และสหรัฐอเมริกา ลดลงค่อนข้างมาก แต่สำหรับตลาดจีน เวียดนาม และญี่ปุ่น ยังขยายตัวได้ ส่งผลให้ในภาพรวมมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอยังขยายตัว ในส่วนของกลุ่มผ้าผืนและด้ายทอผ้า มูลค่าการส่งออกลดลงเช่นกัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากจีนที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของผ้าผืนไทย
กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อสำเร็จรูปจากผ้าถัก และเสื้อสำเร็จรูปจากผ้าทอเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อในตลาดจีน เวียดนาม และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวได้ในตลาดหลักทุกตลาด ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้มีปริมาณคำสั่งซื้อเข้ามาค่อนข้างมาก
สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในไทย เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยผู้นำเข้าหลายรายเริ่มไม่มั่นใจต่อการสั่งซื้อ ว่าจะสามารถผลิตและป้อนสินค้าให้ได้ตามคำสั่งซื้อหรือไม่ โดยผู้นำเข้าบางรายเริ่มหันไปลงออเดอร์กับประเทศคู่แข่ง ได้แก่ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมาจากการส่งมอบ เนื่องจากกลุ่มสินค้าสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม มีการผลิตในหลายประเทศในอาเซียนและคุณภาพผลผลิตใกล้เคียงกับไทย ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านี้ทดแทนได้ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การตลาด และการค้าส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปสิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า ที่ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย สำหรับภาพรวมของตลาดในประเทศ และการนำเข้าสิ่งทอ
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--