สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2557 (มกราคม – มีนาคม 2557)(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 8, 2014 15:46 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองในประเทศและการส่งออกที่ลดลงจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

การผลิต

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 1 ปี 2557 มีปริมาณ 1.99 ล้านชิ้น (ดังตารางที่ 1) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 6.13 และ 0.50 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน ส่งผลให้ภาคการลงทุนและเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 1 ปี 2557 มีปริมาณ 1.06 ล้านชิ้น (ดังตารางที่ 2) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 5.36 เนื่องจากได้รับผลกระทบปัญหาทางการเมือง ทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง ประกอบกับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดระดับล่าง

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่ารวม 777.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ดังตารางที่ 3) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 10.48 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.17 สาเหตุที่ทำให้การส่งออกลดลง เนื่องจากภาระด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังสามารถขยายตัวได้ดีในตลาดเกาหลีใต้ ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง และกลุ่มอาเซียน

สำหรับรายละเอียดการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ในไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่ารวม 244.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 21.17 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.37 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องเรือนไม้

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วย เครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ในไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่ารวม 51.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลง ร้อยละ 5.25 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.22 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องใช้ทำด้วยไม้

3) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วย ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ในไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่ารวม 481.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลง ร้อยละ 4.47 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.09 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือไม้แปรรูป

การนำเข้า

การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่ารวม 165.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.88 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 6.94 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ ได้แก่ ไม้แปรรูป ไม้อัดและไม้วีเนียร์ และไม้ซุง มาผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเครื่องเรือน โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว และนิวซีแลนด์ ไม้อัดและไม้วีเนียร์ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ มาเลเซีย และนิวซีแลนด์

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 1 ปี 2557 ลดลงจากปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลให้ภาคการลงทุนและเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดระดับล่าง สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2557 ลดลงจากภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ในส่วนของการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2557 เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าวัตถุดิบไม้มาผลิตเป็น เครื่องเรือน

แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 2 ปี 2557 มีแนวโน้มเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาทางการเมืองในประเทศ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2557 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจาก ตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร มีความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนของไทยลดลง อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าในตลาดใหม่แถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง เช่น มาเลเซียเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน และรัสเซีย อาจทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ ในส่วนของการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2557 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเครื่องเรือนเป็นสำคัญ

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ