สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2557 (มกราคม – มีนาคม 2557)(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 8, 2014 15:50 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมยาปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมยาของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศที่สูงขึ้น รวมถึงมีการขยายตัวของการส่งออกไปยังตลาดหลักในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น

การผลิต

ไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 มีปริมาณการผลิตยาในประเทศทั้งสิ้นรวม 7,065.75 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 8.07 และ 9.87 ตามลำดับ เนื่องจากอุตสาหกรรมยามีการขยายตัวที่ดีขึ้น และช่วงต้นปีของทุกปีเป็นช่วงเร่งผลิตเพื่อส่งมอบตามการสั่งซื้อที่ได้รับมาจากเดือนธันวาคมซึ่งเป็นช่วงปิดยอดการสั่งซื้อของทุกบริษัท

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 มีปริมาณ 6,147.37 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 2.43 และ 0.33 ตามลำดับ เนื่องจากในช่วงไตรมาสนี้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยสงบลงกว่าไตรมาสก่อน ทำให้การจัดส่งและกระจายสินค้าเป็นไปได้โดยสะดวก ประกอบกับอุตสาหกรรมยาเองมีการขยายตัวที่ดีขึ้น โดยมีปริมาณการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้มีการวางจำหน่ายในประเทศในปริมาณที่สูงขึ้นด้วย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 มีมูลค่า 2,042.42 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.87 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหดตัวลดลงร้อยละ 9.09 ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีสถานการณ์ผิดปกติที่ทำให้ต้องใช้ยาจำนวนมากในประเทศเช่นในเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อสองปีที่ผ่านมา ทำให้การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคมีการขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อย ในส่วนของมูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ลดลงตามปกติ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวในไตรมาสที่ 2-4 และหดตัวลงในไตรมาสที่ 1 ของทุกปีอยู่แล้ว โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ตามลำดับ มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,375.47 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 67.34 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด ทั้งนี้ จะเห็นว่าตลาดส่งออกยาที่สำคัญของไทยยังคงเป็นตลาดอาเซียน โดยตลาดที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุด 5 ลำดับแรกของไทยในไตรมาสนี้ ล้วนเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียน ถึงแม้จะมีการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีก่อน เนื่องจากมีบริษัทผู้ผลิตยาจากญี่ปุ่นบางรายมาลงทุนทำการผลิตในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตและส่งออกกลับไปยังประเทศของตน

การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 มีมูลค่า 11,000.13 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 4.42 และ 3.67 ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และ สหราชอาณาจักร ตามลำดับ มีมูลค่าการนำเข้ารวม 4,868.80 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.26 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมยามีการขยายตัวที่ดีขึ้นในทุกปีและช่วงต้นปีของทุกปีเป็นช่วงเร่งผลิตเพื่อส่งมอบตามการสั่งซื้อที่ได้รับมาจากเดือนธันวาคมซึ่งเป็นช่วงปิดยอดการสั่งซื้อของทุกบริษัท

สำหรับมูลค่าการส่งออกขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศค่อนข้างปกติ ไม่มีความต้องการใช้ในประเทศสูงเช่นเมื่อสองปีก่อน ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าหดตัวลง เนื่องจากภาครัฐมีการควบคุมการเบิกจ่ายยาในระบบสวัสดิการด้วยการจำกัดงบประมาณอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมยามีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี สำหรับการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและระเบียบในการขึ้นทะเบียนยาซึ่งถูกปรับเปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมาของเวียดนามอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อภาพรวมของการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสหน้าไม่มากก็น้อย เนื่องจากเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดหลักของไทย ในส่วนของการนำเข้า คาดว่าจะมีมูลค่าการนำเข้าลดลง เนื่องจากการเข้มงวดในการเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการของภาครัฐทำให้แพทย์สั่งจ่ายยาที่นำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพงลดลง โดยหันมาใช้ยาที่สามารถผลิตได้เองในประเทศเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ