สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2557 (มกราคม – มีนาคม 2557)(อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 8, 2014 16:00 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตและการส่งออกสินค้าเครื่องหนังและรองเท้า ไตรมาส 1 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่างสหภาพยุโรป (EU) เริ่มเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวจากภาวะถดถอย โดยจะเห็นได้จากดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจหลายตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ EU ที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างช้า ๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อแนวโน้มการผลิตและการส่งออกของประเทศไทย

การผลิต

ไตรมาส 1 ปี 2557 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง จำแนกได้ ดังนี้

1. การฟอกและการตกแต่งหนังฟอก ดัชนีผลผลิตไตรมาส 1 ปี 2557 เทียบกับ ไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.01 สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.08 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตลดลง ร้อยละ 2.48 สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่ลดลงร้อยละ 3.05 ซึ่งมีผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.45 และ 11.74 ตามลำดับ

2. การผลิตกระเป๋าเดินทางกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ดัชนีผลผลิตไตรมาส 1 ปี 2557 เทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 11.51 และ 11.99 ตามลำดับ เป็นผลจากดัชนีการส่งสินค้าเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 8.33 และ 12.96 ตามลำดับ ส่วนดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 4.82 และ 8.57 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกเครื่องหนังไทยส่งออกในตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นเทียบจากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัว อีกทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนตัวส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย ส่งผลให้สินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง

3. การผลิตรองเท้า ดัชนีผลผลิตไตรมาส 1 ปี 2557 เทียบกับไตรมาสก่อน และ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตลดลง ร้อยละ 5.84 และ 16.22 ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 10.50 และ 14.71 ตามลำดับ ในส่วนดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 16.41 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.98 เนื่องจากขายสินค้าได้น้อยกว่ากำลังการผลิตเพราะกำลังซื้อภายในประเทศลดลง ประกอบกับการส่งออก แม้จะขยายตัวดีขึ้นแต่ก็ยังมีไม่มาก แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องทำการผลิตเพื่อรักษาแรงงานเอาไว้ทำให้มีสินค้าในสต๊อกเพิ่มสูงขึ้น

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ไตรมาส 1 ปี 2557 อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 432.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.95 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.37 ประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้

1. หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 182.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่า 177.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.83 เป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์หนังโคกระบือฟอก ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ถุงมือหนัง เครื่องแต่งกายและเข็มขัด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.10 29.70 6.75 และ 11.68 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์หนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ ปรับตัวลดลง ร้อยละ 17.64

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.25 ตามความต้องการในกลุ่มประเทศเอเซียและอาเซียน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์หนังโคกระบือฟอก และถุงมือหนัง มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.19 และ 0.64 สำหรับผลิตภัณฑ์ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง เครื่องแต่งกายและเข็มขัด หนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ ลดลง ร้อยละ 14.24 7.08 และ 1.19 ตามลำดับ โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ได้แก่ เวียดนาม ฮ่องกง และจีน มีสัดส่วน ร้อยละ 17.20 15.20 และ 11.77 ตามลำดับ

2. เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 78.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่า 78.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.11 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกในผลิตภัณฑ์ประเภทกระเป๋าเดินทาง และกระเป๋าใส่เศษสตางค์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.99 และ 5.61 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์กระเป๋าถือ และเครื่องเดินทางอื่น ๆ มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 4.79 และ 2.64 ตามลำดับ

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทาง ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.89 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และเครื่องเดินทางอื่น ๆ ร้อยละ 5.79 20.26 และ 9.27 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์กระเป๋าเดินทาง ปรับตัวลดลง ร้อยละ 3.98 โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มเครื่องใช้สำหรับเดินทาง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ มีสัดส่วน ร้อยละ 23.14 11.04 และ 9.84 ตามลำดับ

3. รองเท้าและชิ้นส่วน ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 171.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่า 172.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.62 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกในกลุ่มรองเท้าหนัง รองเท้าอื่น ๆ และส่วนประกอบของรองเท้า ลดลง ร้อยละ 2.87 11.99 และ 6.74 ตามลำดับ เนื่องจากต้นทุนการผลิต เช่น ค่าแรงและวัตถุดิบ ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้คำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศเริ่มมีการกระจายความเสี่ยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม และจีน เพื่อลดต้นทุน สำหรับรองเท้ากีฬา และรองเท้าแตะ มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 40.31 และ 23.14 ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่างสหภาพยุโรป (EU) เริ่มเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวจากภาวะถดถอย โดยจะเห็นได้จากดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจหลายตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ EU ที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างช้า ๆ

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 2.40 ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้ากีฬา และรองเท้าแตะ ลดลง ร้อยละ 35.14 และ 22.07 ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรองเท้ารายใหญ่ของไทย ได้ตัดสินใจขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกัมพูชา เมียนมาร์และส.ป.ป.ลาว จากปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและการขาดแคลนแรงงาน อีกทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์รองเท้า

กีฬายี่ห้อดัง เช่น NIKE เริ่มยกเลิกคำสั่งซื้อจากประเทศไทย เพราะผู้ประกอบการไทยเริ่มปฏิเสธคำสั่งซื้อหรือตกลงราคากันไม่ได้ ส่งผลให้ชาวต่างชาติหันไปสั่งซื้อรองเท้ากีฬาจากเวียดนาม อินโดนีเซียและบังกลาเทศแทน เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทยมาก ในส่วนการส่งออกรองเท้าหนัง รองเท้าอื่นๆ และส่วนประกอบรองเท้า ยังขยายตัวได้ ร้อยละ 2.17 13.43 และ 51.04 ตามลำดับ ตามความต้องการของตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีสัดส่วน ร้อยละ 15.49 8.59 และ 9.84 ตามลำดับ

การนำเข้า

ไตรมาส 1 ปี 2557 อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 349.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.28 ประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้

1. หนังดิบและหนังฟอก ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 181.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.86 และ 8.30 ตามลำดับ เป็นไปในทิศทางเดียวกับการผลิตเพื่อการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยแหล่งนำเข้าหนังดิบและหนังฟอกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล และอาร์เจนตินา มีสัดส่วน ร้อยละ 16.52 14.09 และ 12.19 ตามลำดับ

2. กระเป๋า ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 87.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 12.73 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.64 ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทกระเป๋าถือและกระเป๋าอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน อิตาลี และฝรั่งเศส มีสัดส่วน ร้อยละ 44.09 22.67 และ 14.34 ตามลำดับ

3. รองเท้า ไตรมาส 1 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 80.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.67 และ 22.06 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทุกประเภท ได้แก่ รองเท้ากีฬา รองเท้าหนัง รองเท้าทำด้วยยางหรือพลาสติก และรองเท้าอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีสัดส่วน ร้อยละ 48.06 14.76 และ 11.28 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. นโยบายการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs ต้องปรับตัวทั้งกลยุทธ์ด้านการผลิตและการตลาด เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง โดยกลยุทธ์หนึ่งในการปรับตัว คือ การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ซึ่ง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้ทำการศึกษาแนวทางการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น คือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นคู่มือและแนวทางประกอบการตัดสินใจในการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

2.นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วน GDP ของ SMEs ที่ปัจจุบันมีจำนวน 2.724 ล้านราย จากร้อยละ 37 เป็น ร้อยละ 40 ใน 10 ปีข้างหน้า และเตรียมความพร้อมให้ SMEs พร้อมก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ผ่านแผนงานสำคัญ ได้แก่ ส่งเสริม SMEs ไทยให้ก้าวสู่การเป็น Supply Chain ของอาเซียน โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาธุรกิจรวม 600 กิจการ ผู้ประกอบการ 12,000 คน และพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ด้วยงบประมาณ 157 ล้านบาท ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยานยนต์และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าไลฟ์สไตล์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รองเท้าและเครื่องหนัง และก่อสร้าง เป็นต้น

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ไตรมาส 1 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวลดลงในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ รองเท้า กระเป๋าเดินทาง และกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ภายในที่ลดลงตามค่าครองชีพ และภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น มีผลให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง ประกอบกับผู้ประกอบการวิตกกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และยังกังวลถึงเศรษฐกิจของโลกจะฟื้นตัวจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญของไทยที่ยังปรับตัวลดลง รวมถึงมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนที่มีศักยภาพกว่า เช่น จีน และเวียดนาม เป็นต้น สำหรับการฟอกและตกแต่งหนังฟอก ยังคงทรงตัว

การส่งออก ไตรมาส 1 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง จากสัญญาณเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญ รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนตัวส่งผลดีกับผู้ประกอบการเครื่องหนังที่ทำตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศดังกล่าว สำหรับการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการปรับตัวลงเล็กน้อยจากปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้คำสั่งซื้อจากลูกค้าเริ่มมีการกระจายความเสี่ยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

การนำเข้า ไตรมาส 1 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์หนังดิบและหนังฟอก และรองเท้า จากการนำเข้าจากจีน และประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราภาษีนำเข้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีของไทยกับประเทศอื่น ๆ ลดลง เอื้อต่อการนำเข้า สำหรับการนำเข้ากระเป๋าลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศลดลงจากค่าครองชีพ และภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง

แนวโน้ม

แนวโน้มปี 2557 คาดว่า การผลิตและการส่งออกรองเท้า จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปี 2556 เนื่องจากการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ แต่อาจจะมีปัจจัยจากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนที่มีศักยภาพมากกว่าไทย ซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดเอเชียและอาเซียนจะมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนและเวียดนาม ที่นำเข้าชิ้นส่วนรองเท้าไปผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดอื่น รวมทั้งตลาดพม่าที่มีความต้องการรองเท้ามากขึ้น เป็นโอกาสในการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทาง และหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด คาดว่า จะสามารถขยายตัวได้จากความต้องการใช้เพื่อผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น เบาะรถยนต์ ที่การส่งออกของอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ