สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2557 (มกราคม – มีนาคม 2557)(อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 8, 2014 16:10 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.99 และ 4.86 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับแท้เพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.59 และ 55.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเกือบเท่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงจูงใจให้เกิดการส่งออก ประกอบกับ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลทำให้ราคาสินค้าออกของไทยถูกลงโดยเปรียบเทียบ แต่อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นหากต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบที่ราคาเพิ่มขึ้น

การผลิตและการจำหน่าย

การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ในไตรมาส 1 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 1) ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.73 สอดคล้องกับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 6.11 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 1.61 เป็นผลจากการส่งออกโดยใช้สต๊อกสินค้า นอกจากนี้หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 20.06 และดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลงเช่นกัน ร้อยละ 23.99 เนื่องจากคำสั่งซื้อเครื่องประดับแท้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ สำหรับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 6.20 เป็นผลจากการส่งออกโดยใช้ สต๊อกสินค้าที่มีจำนวนมาก

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2557 (ตารางที่ 2) การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 1,833.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.99 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกเพชร พลอย และเครื่องประดับแท้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ร้อยละ 4.86 ซึ่งหากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นมากถึง ร้อยละ 55.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นมากถึง ร้อยละ 493.36 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเกือบใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงจูงใจให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่

1. อัญมณี ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 735.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.25 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกเพชร และพลอยที่เพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.64 จากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกเพชรและพลอยในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 42.63 15.47 และ 8.70 ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์อัญมณีที่สำคัญมี ดังนี้

1.1 เพชร ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 486.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.76 และ 15.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากเพชรมีราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 38.38 23.10 และ 10.64 ตามลำดับ

1.2 พลอย ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 244.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 69.47 และ 19.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการในตลาดส่งออกสำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 50.38 13.59 และ 11.16 ตามลำดับ

2. เครื่องประดับแท้ ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 938.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.90 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาครัฐให้การสนับสนุนผู้ประกอบการจัดงานบางกอกเจมส์แอนด์ จิวเวลรี่แฟร์ ครั้งที่ 53 เพื่อกระตุ้นการจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 2.55 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 24.11 19.27 และ 11.33 ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแท้ที่สำคัญมี ดังนี้

2.1 เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 387.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 11.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากได้มีการส่งมอบสินค้าจากสต๊อกจำนวนมากช่วงปลายปีไปแล้ว แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.06 จากความต้องการของผู้บริโภคในตลาดสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่เศรษฐกิจเริ่มจะฟื้นตัว โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 40.79 21.61และ 5.04 ตามลำดับ

2.2 เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 493.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.90 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้าสำเร็จรูปปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 8.94 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับราคาสินค้าได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 31.14 15.38 และ 13.01 ตามลำดับ

3. เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 88.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 13.20 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นการปรับตัวลดลงจากฐานที่สูงในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.07 โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 32.55 17.62 และ 12.70 ตามลำดับ

4. อัญมณีสังเคราะห์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 35.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 5.36 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.19 เนื่องจากอัญมณีสังเคราะห์ในตลาดโลกมีราคาเพิ่มสูงขึ้น โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง ออสเตรีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 46.50 19.38 และ 12.69 ตามลำดับ

5. ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 1,200.14ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 107.32 และ 493.36 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากทองคำมีราคาเพิ่มขึ้นเกือบใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และกัมพูชา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.73 28.06 และ 12.12 ตามลำดับ

การนำเข้า

1. เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2557 (ตารางที่ 3 ) มีมูลค่าการนำเข้า 585.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 46.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการนำเข้าเพชร พลอย และเงิน ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้นตามดัชนีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาเพชรและพลอยในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 37.27 เนื่องจากมีการผลิตลดลงจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการส่งสินค้าออกจากสต๊อกทดแทนการผลิต สำหรับมูลค่าการนำเข้าในภาพรวมอยู่ที่ 1,696.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 43.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 76.50 เนื่องจากทองคำมีราคาสูงขึ้นเกือบใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในส่วนวัตถุดิบนำเข้าสำคัญประกอบด้วย

1.1 เพชร ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 278.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 93.80 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำ ประกอบกับราคาเพชรได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 43.64 เนื่องจากราคาเพชรในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมากส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการนำเข้าลดลง โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ อินเดีย เบลเยี่ยม และอิสราเอล คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 30.77 26.71 และ 13.14 ตามลำดับ

1.2 พลอย ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 77.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.45 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากความต้องการวัตถุดิบพลอยในประเทศไทยเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 30.53 เนื่องจากพลอยมีราคาสูงขึ้นจากปีก่อนทำให้มีการนำเข้าลดลง โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 36.17 11.35 และ 9.28 ตามลำดับ

1.3 ทองคำ ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 1,111.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 56.99 และ 82.32 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากทองคำในตลาดโลกมีราคาเพิ่มสูงขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และแอฟริกาใต้ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 56.10 11.17 และ 10.44 ตามลำดับ

1.4 เงิน ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 145.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.13 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเงินในตลาดโลกมีราคาลดลง จูงใจให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 41.19 ตามดัชนีการผลิตที่ลดลง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และสวิตเซอร์แลนด์ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 51.91 16.30 และ 12.79 ตามลำดับ

1.5 โลหะมีค่าและโลหะอื่นๆ ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 30.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.05 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นการปรับตัวจากฐานที่ต่ำจากไตรมาสก่อนหน้า แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 9.01 เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี และฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 38.16 18.25 และ 18.08 ตามลำดับ

ทั้งนี้ การนำเข้าเพชร พลอย ทองคำ เงิน โลหะมีค่าและโลหะอื่น ๆ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 96.84 ของการนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด

2. เครื่องประดับอัญมณี ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าทั้งสิ้น 158.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.64 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการนำเข้าเครื่องประดับแท้เพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 8.72 เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองมีส่วนทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่

2.1 เครื่องประดับอัญมณีแท้ ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 144.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.63 เนื่องจากการปรับเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 9.30 เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองมีส่วนทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอิตาลี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.68 8.61 และ 7.33 ตามลำดับ

2.2 เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีมูลค่าการนำเข้า 13.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.85 และ 2.01 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองมีส่วนทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส และอิตาลี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.95 13.97 และ 8.13 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) วางแผนส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาอุตสาหกรรมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการประกอบการที่เป็นเลิศและมีความยั่งยืนสู่สากล โดยในปี 2557 กสอ. จะนำเอา 4 ยุทธศาสตร์หลักเข้ามาช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถสร้างความเข้มแข็งในการประกอบธุรกิจได้อย่างบูรณาการ ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสนับสนุนปัจจัยเอื้อต่อการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งด้านการ สร้างที่ปรึกษาและพัฒนาหน่วยงานให้บริการ การให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้น การบริการข้อมูล และการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ทั้งผู้ประกอบการรายใหม่และรายเดิ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาองค์กรธุรกิจ โดยการพัฒนาตัวโรงงานและธุรกิจให้แข็งแกร่ง มีศักยภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร พัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ พัฒนาระบบเทคโนโลยีและการใช้ IT เพื่อการบริหารที่มีประสิทธิภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาให้ผู้ประกอบการและสินค้าสามารถแข่งขันในเวทีสากลและเวทีอาเซียนได้ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและการเชื่อมโยงธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนผ่านโครงการ และหน่วยงานภายใต้ กรมฯ ในรูปแบบการจัดอบรมสัมมนา

นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงธุรกิจกับนักลงทุนต่างชาติ โดยการนำผู้ประกอบการไป ศึกษาดูงานและเจรจาจับคู่ธุรกิจกับนักลงทุนเพื่อนบ้านเพื่อการต่อยอดธุรกิจต่อไป

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ด้านการผลิตปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.73 สอดคล้องกับการส่งออกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปที่มีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนด้านการจำหน่ายหดตัวลง ร้อยละ 6.11 และสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 1.61 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนตามภาวะเศรษฐกิจภายในที่ชะลอตัวส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง

ด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.99 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับแท้เพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.86 ซึ่งหากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวม เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 39.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มมากถึง ร้อยละ 107.32 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกสูงขึ้น และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 55.52 เนื่องจากมีการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นมากถึง ร้อยละ 493.36 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเกือบเท่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จูงใจให้เกิดการส่งออก

ด้านการนำเข้า (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 46.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการนำเข้าเพชร พลอย และเงิน ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้นตามดัชนีการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 37.27 เนื่องจากมีการนำเข้าวัตถุดิบเพชร พลอย และเงิน ลดลง ตามดัชนีการผลิตที่หดตัว สำหรับมูลค่าการนำเข้าในภาพรวมลดลง ร้อยละ 76.50 เนื่องจากมีการหดตัวของการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปถึง ร้อยละ 82.32 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเกือบใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง มีส่วนทำให้เกิดการชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจ นอกจากนี้ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง

แนวโน้ม

การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2557 คาดว่า จะขยายตัวได้ตามการผลิตเพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อจากการจัดงานบางกอกเจมส์แอนด์ จิวเวลรี่แฟร์ ครั้งที่ 53 ประกอบกับแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีราคาที่ถูกลงโดยเปรียบเทียบ

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2557 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะขยายตัวจากปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ ความสำเร็จจากการจัดงานบางกอกเจมส์

แอนด์ จิวเวลรี่แฟร์ ครั้งที่ 53 ที่เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณคำสั่งซื้อของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะจูงใจประเทศคู่ค้าให้ความสนใจสินค้าไทยมากขึ้นจากราคาที่ถูกลงโดยเปรียบเทียบ อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและวิกฤตหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าสำคัญอาจส่งผลให้การส่งออกไม่ขยายตัวเท่าที่ควร สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม คาดว่า จะขยายตัวตามการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่ระดับราคายังอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าจะปรับตัวลดลงไม่มากนัก

การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาสที่ 2 ปี 2557 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่าจะหดตัวลง จากปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับอุตสาหกรรมนี้นำเข้าวัตถุดิบกว่าร้อยละ 95 ของการนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ