สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2557 (มกราคม – มีนาคม 2557)(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 8, 2014 16:16 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 93.12 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้าสู่ฤดูหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล แต่หากไม่รวมการผลิตน้ำตาล ปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนเพียงร้อยละ 6.29 และหากเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตไม่รวมการผลิตน้ำตาล มีปริมาณลดลงร้อยละ 4.02 เป็นผลจากการผลิตของกลุ่มประมง ผักผลไม้ และผลิตภัณฑ์นมลดลงซึ่งหากรวมการผลิตน้ำตาล ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.49 ส่วนสินค้าอื่นๆ ส่วนใหญ่ผลิตลดลงจากวัตถุดิบลดลง และการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศนำเข้าซบเซา โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่ยังคงมีปัญหาหนี้สาธารณะในหลายประเทศ ประกอบกับราคาสินค้าในตลาดโลกผันผวนมาก ส่งผลกับการส่งออกสินค้าอาหารบางอย่างที่มีปริมาณการส่งออกลดลง

การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 93.12 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากเข้าสู่ฤดูหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล ขณะที่การผลิตหลายกลุ่มสินค้าสำคัญปรับชะลอตัวลง (ตารางที่ 1) แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.49 เป็นผลจากการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น ในกลุ่มสินค้า เช่น ปศุสัตว์ อาหารสัตว์และธัญพืชและแป้ง จากการผลิตที่รองรับตลาดในประเทศที่ยังขยายตัวจากการปรับขึ้นค่าแรงและเงินเดือน แม้ว่าวัตถุดิบบางอย่างได้รับผลกระทบจาก โรคระบาด และการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าซบเซา สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 3.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.88 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 6.82 และ 16.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการเกิดโรคระบาดกุ้งในแหล่งเพาะเลี้ยง ต้องลดปริมาณการเลี้ยงและระยะเวลาการเลี้ยง ผลผลิตบางส่วนไม่ได้ขนาดจึงทำให้ปริมาณออกสู่ตลาดลดลง

กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.69 เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับลดลงร้อยละ 2.71 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยจากปัญหาไข้หวัดนกในหลายประเทศ ทำให้การส่งออกไก่แช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรป และจากการนำเข้าไก่แปรรูปเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น ทดแทนจากจีนที่ประสบปัญหาไข้หวัดนกรอบใหม่

กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 15.32 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.37 เป็นผลจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง และราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้นมาก

กลุ่มน้ำตาลทราย ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 343.34 เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล และการผลิตปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.31 จากปริมาณอ้อยที่มีปริมาณและคุณภาพดีกว่าปีก่อน

กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืช ปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 15.26 เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลงตามฤดูกาล และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 17.09 สำหรับผลิตภัณฑ์นม การผลิตลดลงร้อยละ 36.12 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ในส่วนของอาหารสัตว์ การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.94 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการเลี้ยงไก่ หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.33

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศไม่รวมการจำหน่ายน้ำตาล ชะลอตัวลงทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.12 และ 1.59 เป็นผลจากการที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจลดลง จากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีการปรับขึ้นของราคาสินค้าจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานและค่าจ้าง และเกิดการชุมนุมทางการเมืองขึ้น จึงทำให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการจับจ่ายใช้สอย ในขณะที่การจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.41 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการจำหน่ายเครื่องดื่มอัดลมและชาพร้อมดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสมเพิ่มขึ้น จากการทำการส่งเสริมการตลาดอย่างรุนแรง ส่วนอาหารสัตว์ได้รับผลดีจากความต้องการเนื้อไก่และไก่แปรรูปเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.56 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่สำหรับการเลี้ยงกุ้งยังคงชะลอการเลี้ยง ทำให้ความต้องการใช้อาหารกุ้งยังลดลง

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2557 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 210,286.64 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.09 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 3) เป็นผลจากการส่งออกน้ำตาล ผลิตภัณฑ์จากผักและผลไม้ และข้าวและธัญพืช และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.69 เป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศ ผู้นำเข้าหลักบางแห่งมีสัญญาณที่ฟื้นตัว และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศในสหภาพยุโรปที่ยังมีสัญญาณฟื้นตัวไม่มากนัก โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มประมง มีมูลค่าการส่งออก 49,211.20 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.81 จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการลดลงของปริมาณและมูลค่าในเกือบทุกกลุ่มทั้งอาหารทะเลแปรรูปและแช่เย็นแช่แข็ง และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกลดลงร้อยละ 6.25 เนื่องจากคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรปที่ชะลอตัวลง เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เนื่องจากสหภาพยุโรปได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจซบเซา ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การบริโภคสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าทดแทน นอกจากนี้ปริมาณผลผลิตกุ้งลดลงจากเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออก 25,684.17 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.32 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.15 จากการส่งออกเกือบทุกสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น โดยสินค้าสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง ส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการสั่งซื้อของสหภาพยุโรปดีขึ้น

กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออก 20,472.54 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.10 จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.68 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกไก่แช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นแต่มูลค่าเพิ่มต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูป

กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 82,666.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.02 จากไตรมาสก่อน หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.54 เป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.39 และ 29.38 จากการระบายการส่งออกข้าวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปีก่อนที่มูลค่าการส่งออกลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากราคาในประเทศสูงจนไม่สามารถส่งออกได้ และความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งมันเส้นและแป้งเพื่อนำไปผลิตเอทานอลจากประเทศจีน

กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 17,410.70 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.92 จากไตรมาสก่อน แต่ปรับตัวลดลงร้อยละ 23.33 จากไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน จากการส่งออกน้ำตาลในราคาที่ต่ำลง ประกอบกับการที่ประเทศผู้ผลิต เช่น อินเดีย และบราซิล กลับมาส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้สต็อกน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น

กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 14,841.66 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 9.12 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.50 โดยเป็น ผลจากการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าประเภทไขมันและน้ำมันพืช รวมทั้งซุปและอาหารปรุงแต่ง

การนำเข้า

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2557 การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีมูลค่ารวม94,344.95 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.11 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 4) โดยเป็นการนำเข้าเมล็ด พืชน้ำมัน ลดลงร้อยละ 16.88 เป็นผลจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.62 เป็นผลจากการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น กากพืชน้ำมันและการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.28 และ 104.03 จากราคาวัตถุดิบและโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงด้วย

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2557 อยู่ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎรรัฐบาลรักษาการไม่สามารถอนุมัติโครงการหรือมาตรการที่ใช้งบประมาณเพิ่มเติมจากงบประมาณ ปกติได้ มาตรการและนโยบายในช่วงไตรมาสนี้จึงเป็นลักษณะรับทราบรายงานการติดตามการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในสินค้าที่ต้องนำเข้าและมีนโยบายและมาตรการควบคุมการนำเข้า เช่น นม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง และวัตถุดิบ ที่ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมสินค้านั้นๆ ซึ่งหากการขออนุมัติในแต่ละปี ไม่เปลี่ยนไปจากมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่านๆ มา ให้อนุโลมใช้นโยบายและมาตรการนำเข้าตามข้อผูกพันของกรอบการเจรจาการค้าที่ได้ตกลงไว้ไปพลางก่อน หากมีความจำเป็น ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมอยู่ในช่วงชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน หากไม่นับรวมการผลิตน้ำตาล เนื่องจากไตรมาสก่อนเป็นช่วงปิดฤดูการหีบอ้อย แต่หากนับรวมน้ำตาล การผลิตจะขยายตัวจากไตรมาสก่อนเป็นอย่างมาก และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การผลิตในภาพรวมปรับตัวสูงขึ้น ส่วนการส่งออกปรับตัวลดลงจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่เป็น

ตลาดหลักซบเซาจากภาวะหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย นอกจากนี้สต็อกสินค้าในตลาดโลกที่สำคัญ คือ น้ำตาลทราย แม้ว่าสต็อกที่คาดการณ์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ผลจากที่ประเทศอินเดีย และบราซิล มีผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้น และคาดว่าจะส่งออกน้ำตาลได้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อระดับราคาน้ำตาลที่ยังคงทรงตัวในระดับเดียวกันกับปีก่อน ในส่วนสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ สินค้าไก่แปรรูป ปริมาณความต้องการจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการพิจารณายกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากกรณีไข้หวัดนกของสหภาพยุโรป ส่งผลต่อการส่งออกไก่ของไทยเพิ่มขึ้น แต่อาจไม่เป็นผลดีนักจากการส่งออกไก่สดที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าไก่แปรรูป ซึ่งจะทำให้ราคาและรายได้ของผู้ประกอบการลดลง แต่อาจได้รับอานิสงค์จากการที่ประเทศจีนเกิดพบการระบาดของไข้หวัดนกรอบใหม่ ซึ่งจะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้ามันสำปะหลัง เนื่องจากได้รับผลดีจากการนำเข้าจากจีนที่เริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าที่ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเล โดยเฉพาะวัตถุดิบกุ้งยังประสบปัญหาโรคตายด่วน ทำให้วัตถุดิบลดลง แต่มีแนวโน้มดีขึ้นจากการทดลองแก้ไขปัญหาลดอัตราการสูญเสียได้บ้าง

แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสสองของปี 2557 คาดว่า จะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตที่ปรับตัวลดลง

เนื่องจากคำสั่งซื้อจะชะลอตัวภายหลังเทศกาลจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ การจำหน่ายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ส่งผลทำให้การบริโภคในประเทศปรับตัวลดลง สำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน จีนและญี่ปุ่นยังขยายตัว ประกอบกับระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ดีมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังส่งผลต่อการผลิตและส่งออก คือ ปริมาณวัตถุดิบหลายชนิดได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และโรคระบาด โดยเฉพาะกุ้งที่ปริมาณวัตถุดิบลดลง เนื่องจากโรคตายด่วนในกุ้ง และผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศในสหภาพยุโรปจากปัญหาหนี้สาธารณะ ประกอบกับความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาระหว่างยูเครน-รัสเซียและสหภาพยุโรปยังไม่ชัดเจน ส่งผลทำให้สภาพเศรษฐกิจยังคงซบเซา และสหรัฐอเมริกาเริ่มปรับลดการใช้มาตรการซื้อคืนพันธบัตร ทำให้เป็นการลดการกระตุ้นอุปสงค์ เริ่มส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสองจะลดต่ำลง นอกจากนี้ ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออก จากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า ลงบ้าง แต่อาจอ่อนค่าลงไม่มากเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ซึ่งเป็นผลจากการเงินทุนไหลออกไปนอกประเทศ จากการขายในตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ระยะสั้น และการปรับชะลอการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น และค่าเงินในภูมิภาคเอเชียปรับตัวอ่อนค่าลง แต่ระดับราคาสินค้าของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ประกอบกับการค้าของไทยยังผูกกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกามากกว่าเงินสกุลอื่น ทำให้การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปรับชะลอตัวลงได้

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ