ในไตรมาส 4 ปี 2556 เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ยังคงขยายตัว เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของยุโรปมีสัญญาณการฟื้นตัวเล็กน้อยและยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ 106.9 USD/Barrel ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 อยู่ที่ 107.3 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมีนาคม (ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557) อยู่ที่ 99.88 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวจัดในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ความต้องการ heating oil ปรับตัวสูงขึ้น
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัวต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากการลงทุนของภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอัตราการว่างงานก็ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาส 4 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 การบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 8.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 74.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 70.4
การผลิตภาคอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม ไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 76.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 75.7 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 101.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 97.7
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 4.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 การนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.1
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.9 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง อัตราการว่างงานไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 6.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.5 การว่างงานปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์ด้านการเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ให้คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 0.25 นอกจากนี้ Fed ได้ประกาศปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE3) ลงอีก 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน มาอยู่ที่ระดับ 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ซึ่งจะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะอัตราการว่างงานและตลาดอสังหาริมทรัพย์มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น
เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัวชะลอลง การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นผลมาจากธุรกิจค้าปลีก การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการส่งออกที่ยังคงขยายตัว
ภาวะเศรษฐกิจของจีน ในไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 7.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 มูลค่าการค้าปลีกในไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 13.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 14.9 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัว ร้อยละ 19.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ที่ขยายตัว ร้อยละ 20.7 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 101.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 105.0
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 10.0 เท่ากับไตรมาส 4 ของปี 2555
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 7.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 การนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 7.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.1 เป็นผลมาจากราคาสินค้าในหมวดอุปโภคที่เพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 เท่ากับไตรมาส 4 ของปี 2555
สถานการณ์ด้านการเงิน ธนาคารกลางจีน (People's Bank of China) ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี อยู่ที่ร้อยละ 6.00 นอกจากนี้ธนาคารกลางจีนจะใช้เครื่องมือด้านนโยบายการเงินเพื่อรักษาสภาพคล่อง และให้ระดับสินเชื่อขยายตัวอย่างเหมาะสม
เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 2556 ขยายตัว จากการบริโภค การลงทุนในภาคก่อสร้างและการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้นและในไตรมาส 4 ปี 2556 คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
ภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ในไตรมาส 3 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2555 ที่หดตัวร้อยละ 0.2 การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 การลงทุนในภาคก่อสร้างไตรมาส 3 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 8.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 41.3 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 39.9
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 99.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 94.1
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 17.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 4 ปี 2555 ที่หดตัวร้อยละ 5.5 การนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 24.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.5
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2556 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 4 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ -0.3 เนื่องจากราคาสินค้าในหมวดอาหารเพิ่มสูงขึ้น และการอ่อนค่าของเงินเยนส่งผลให้ต้นทุนพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคานำเข้าเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น อัตราการว่างงานไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.2
สถานการณ์ด้านการเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.1 (เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557) และกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2
เศรษฐกิจสหภาพยุโรปไตรมาส 3 ปี 2556 ขยายตัวเล็กน้อย เนื่องจากภาคการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และในไตรมาส 4 ปี 2556 คาดว่ายังคงขยายตัว
ภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ในไตรมาส 3 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 0.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2555 ที่หดตัวร้อยละ 0.6 การบริโภคไตรมาส 3 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 0.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2555 ที่หดตัวร้อยละ 0.8
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 3 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 98.4ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.3 สำหรับดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 97.9
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 0.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.8 สำหรับการส่งออกในเดือนตุลาคม ขยายตัวร้อยละ 1.6 การนำเข้าไตรมาส 3 ปี 2556 หดตัวร้อยละ 6.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 สำหรับการนำเข้าในเดือนตุลาคม หดตัวร้อยละ 7.6 อัตราเงินเฟ้อ ในไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.3 อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเป็นผลจากราคาพลังงานที่ลดลง อัตราการว่างงานในไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 11.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 10.9 อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง
สถานการณ์ด้านการเงิน ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.25 (เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557) เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญในเอเชีย
เศรษฐกิจฮ่องกงในไตรมาส 3 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากการบริโภคของภาคครัวเรือน
ภาวะเศรษฐกิจของฮ่องกง ในไตรมาส 3 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากการบริโภคของภาคครัวเรือน
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตสาขาอุตสาหกรรมการผลิต ในไตรมาส 3 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 101.1 หดตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่า 141,214 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของฮ่องกง (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59.6 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของฮ่องกง) ขยายตัวร้อยละ 6.6 ด้านการนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่า 162,739 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 9.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 4.3 ลดลงจากในไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.3 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 4.3 โดยราคาอาหาร และค่าเช่าที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ อัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาล ในเดือนธันวาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ลดลงจากในเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.3
เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยทางด้านอุปทานมีแรงสนับสนุนสำคัญจากภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคการเกษตร ขณะที่ทางด้านอุปสงค์มีการลงทุน การบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการส่งออกเป็นแรงเกื้อหนุนที่สำคัญ ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง
ภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ในไตรมาส 4 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เศรษฐกิจค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น จากในไตรมาส 1 2 และ 3 ของปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 1.5 2.3 และ 3.3 ตามลำดับ โดยทางด้านอุปทานมีแรงสนับสนุนสำคัญจากภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคการเกษตร ขณะที่ทางด้านอุปสงค์มีการลงทุน การบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการส่งออกเป็นแรงเกื้อหนุนที่สำคัญ
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตสาขาอุตสาหกรรมการผลิต ในไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 111.5 ขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่า 146,367 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดอันดับหนึ่งอย่างจีน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.7 ของการส่งออกทั้งหมดของเกาหลีใต้) ขยายตัวร้อยละ 5.9 การส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 12.5 ด้านการนำเข้า ในไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่า 133,062 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ลดลงจากในไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ต่ำ จากราคาผักและผลไม้ที่ลดลง รวมถึงฐานเปรียบเทียบที่สูงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน อัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 เพิ่มขึ้นจากในเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.7
สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 เพื่อให้เศรษฐกิจยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้
เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากในไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.9 จากภาคการผลิตสินค้าในกลุ่ม ไบโอเมดิคอลหดตัว
ภาวะเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ในไตรมาส 4 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากในไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 โดยในไตรมาส 4 ปี 2556 ภาคการผลิตขยายตัวร้อยละ 3.5 ลดลงจากในไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 จากการผลิตสินค้าในกลุ่มไบโอเมดิคอลหดตัว
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 106.7 ขยายตัวร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ดัชนีในเดือนธันวาคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากการผลิตสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มวิศวกรรมขนส่ง และกลุ่มเคมีภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 22.2 13.8 และ 6.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการผลิตสินค้าในกลุ่มไบโอเมดิคอลหดตัวร้อยละ 14.9
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่า 104,988 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปจีน ฮ่องกง และมาเลเซีย ขยายตัวร้อยละ 17.3 9.7 และ 4.4 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกในเดือนตุลาคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 9.5 อย่างไรก็ตามการส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2556 หดตัวร้อยละ 1.0 ด้านการนำเข้าไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่า 95,681 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนตุลาคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.7 ขณะที่การนำเข้าเดือนพฤศจิกายนหดตัวร้อยละ 5.2
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 เพิ่มขึ้นจากในไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากราคาที่อยู่อาศัย และราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามต้นทุนค่าขนส่งมีการปรับตัวลดลง อัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาล ไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 คงที่จากในไตรมาส 3 ปี 2556
เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ในไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาวะเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ในไตรมาส 4 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 115.6 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับดัชนีในเดือนธันวาคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 0.6
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่า 42,878 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่หก โดยการส่งออกไปญี่ปุ่น และ สหภาพยุโรป(27) หดตัวร้อยละ 15.7 และ 8.4 ตามลำดับ ด้านการนำเข้าในไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่า 45,939 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 8.4 ลดลงจากในไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8.6 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 8.4
สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 7.5 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้
เศรษฐกิจมาเลเซียในไตรมาส 3 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยทางด้านอุปทานมีแรงสนับสนุนสำคัญจากภาคบริการ ขณะที่ทางด้านอุปสงค์มีการบริโภคภาคเอกชน การลงทุน รวมถึงการค้าระหว่างประเทศเป็นแรงเกื้อหนุนที่สำคัญ
ภาวะเศรษฐกิจของมาเลเซีย ในไตรมาส 3 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยทางด้านอุปทานมีแรงสนับสนุนสำคัญจากภาคบริการที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ขณะที่ทางด้านอุปสงค์มีการบริโภคของภาคเอกชน การลงทุน รวมถึงการค้าระหว่างประเทศเป็นแรงเกื้อหนุนที่สำคัญ
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตสาขาอุตสาหกรรมการผลิต ในไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 132.6 ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับดัชนีในเดือนธันวาคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากการผลิตสินค้าในกลุ่มปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอุปกรณ์ขนส่งและอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ที่ขยายตัว
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่า 57,694 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม จากการส่งออกไปตลาดสำคัญหดตัวในหลายตลาด โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และจีน หดตัวร้อยละ 18.5 17.0 8.2 และ 1.4 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกในเดือนตุลาคม 2556 หดตัวร้อยละ 4.7 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่า 51,963 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนตุลาคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 9.6
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 เพิ่มขึ้นจากในไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์รวมถึงราคาค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 เพิ่มขึ้นจากในเดือนตุลาคม 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.3
สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2557 ธนาคารกลางมาเลเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.0 เนื่องจากอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้
เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการบริโภคของภาคเอกชน การลงทุน รวมถึงภาคการค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัว
ภาวะเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ในไตรมาส 4 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ยังขยายตัวได้แม้จะต้องเผชิญกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการบริโภคของภาคเอกชน การลงทุน รวมถึงภาคการค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัว
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในไตรมาส 3 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 118.0 ขยายตัวร้อยละ 16.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 20.8 และ 21.3 ตามลำดับ
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่า 14,474 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 33.3 18.0 และ 4.4 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกในเดือนตุลาคม 2556 ขยายตัวได้ร้อยละ 14.0 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่า 16,743 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามการนำเข้าในเดือนตุลาคม 2556 หดตัวร้อยละ 7.9
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 4.1
สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย overnight RRP และ overnight RP ไว้ที่ร้อยละ 3.5 และ 5.5 ตามลำดับ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แม้ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น ขณะที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดีตามความต้องการและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ดี
เศรษฐกิจอินเดียในไตรมาส 3 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง
ภาวะเศรษฐกิจของอินเดีย ในไตรมาส 3 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตสาขาอุตสาหกรรมการผลิต ในไตรมาส 3 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 177.9 ขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามดัชนีในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2556 หดตัวร้อยละ 1.8 และ 3.5 ตามลำดับ
การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่า 79,683 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดอันดับหนึ่งอย่างสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 11.1 สำหรับการส่งออกในเดือนตุลาคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 12.9 ด้านการนำเข้าใน ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่า 109,420 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 9.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนตุลาคม 2556 หดตัวร้อยละ 14.4
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 10.4 เพิ่มขึ้นจากในไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 9.7 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ธนาคารกลางอินเดียประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repo Rate) มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 8.00 จากเดิมร้อยละ 7.75 เนื่องจากเผชิญกับแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--