สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2556 (ตุลาคม – ธันวาคม 2556)(อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 28, 2014 14:19 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

Highlight
  • ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2556 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 272.08 ลดลงร้อยละ 0.96 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการชะลอตัวของเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่มียอดการซื้อทั้งในประเทศและส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนภาวะการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 2.86 เช่นกัน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า ที่ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 9.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศและตลาดส่งออกชะลอตัวลง และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกลดลง
  • ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2556 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 275.01 ลดลงร้อยละ 5.70 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 6.22 เมื่อเทียบกับปีก่อน เพราะความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกลดลง และกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 3.31 เช่นกัน เนื่องจากการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกไปตลาดหลักชะลอตัวลง
  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2556 มีมูลค่า 13,269.06 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.57 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีการส่งออกไปตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.25 8.76 และ 7.31 ตามลำดับ
  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2556 มีมูลค่า 53,412.60 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.40 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการส่งออกไปตลาดจีนและญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 25.79 และ 4.61 ตามลำดับ ส่วนตลาดอาเซียน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.46 5.75 และ 4.44 ตามลำดับ
  • ในปี 2557 คาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะมีการปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 1-3 เนื่องจาก HDD มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ใน Ultrathin PC และ PC Tablets ซึ่งทำให้ความต้องการ HDD เพิ่มขึ้น ส่วน Semiconductor และ Monolithic IC จะขยายตัวได้ตามความต้องการใช้ในสมาร์ทโฟน และอุตสาหกรรมยานยนต์ สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีการขยายตัวได้ในกลุ่มเครื่องปรับอากาศทั้งตลาดในประเทศและส่งออก
การผลิต

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2556 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 272.08 ลดลงร้อยละ 0.96 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่มีการปรับลดลงถึงร้อยละ 12.19 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการใช้จ่าย ในประเทศชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.50 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะ Monolithic IC เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 9.88 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกาเข้ามามากขึ้น เพื่อนำไปใช้ผลิตสินค้าสำหรับจำหน่ายในช่วงปลายปี

นอกจากนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.86 มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.68 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงในเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะตู้เย็นมีการปรับลดลงมากที่สุดถึงร้อยละ 19.83 รองลงมา คือ เครื่องรับโทรทัศน์ และหม้อหุงข้าว ลดลงร้อยละ 16.02 และ 13.79 ตามลำดับจากการชะลอตัวของทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ยกเว้นเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยส์ยูนิต ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.98 และในส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลงเช่นกันร้อยละ 1.45 ซึ่งมาจาก HDD และ Other IC ลดลงร้อยละ 2.50 และ 2.16 เพราะความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกลดลง อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มของ Monolithic IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28.48 รองลงมาคือ Semiconductor เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ทำให้มีคำสั่งซื้อจากตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่ใช้ในสมาร์ทโฟน และในอุตสาหกรรมยานยนต์ (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 1)

ภาวะการผลิตในปี 2556 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 275.01 ลดลงร้อยละ5.70 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 139.09 ลดลงร้อยละ 3.31 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญที่มีการปรับตัวลดลง คือ ตู้เย็น เครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 11.27 และ 11.47 ตามลำดับ เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศมีการใช้จ่ายที่ลดลง และตลาดส่งออกชะลอตัวลง ขณะที่เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยส์ยูนิต และเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต สายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.48 4.59 และ 6.68 ตามลำดับซึ่งมาจากภาวะการก่อสร้างทั้งของเอกชนในโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย (บ้าน คอนโดมิเนียม) และภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานที่ขยายตัว เช่น รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ระบบจำหน่ายไฟฟ้า รวมถึงการส่งออกเครื่องปรับอากาศมีการขยายตัวในตลาดหลักได้ทุกตลาด (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 1)

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2556 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 352.10 ลดลงร้อยละ 6.22 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดย HDD มีการปรับลดลงมากที่สุดร้อยละ 7.42 รองลงมาคือ Other IC ลดลงร้อยละ 2.27 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้ความต้องการคอมพิวเตอร์ลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2556 อย่างไรก็ตามมีการนำ HDD ไปใช้งานระบบ Cloud Computing และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะรองรับการจัดเก็บข้อมูล ที่มีจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้มีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน คือ Monolithic IC และ Semiconductor เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.29 และ 1.41 ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนในสมาร์ทโฟน และอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้สถานการณ์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ปรับตัวดีขึ้น โดยมีการปรับตัวลดลงในอัตราที่ชะลอตัวลงเหลือเพียงร้อยละ 1.34 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปีที่ลดลงมากถึงร้อยละ 10.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การปรับตัวลดลงของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทยสอดคล้องกับทิศทางของตลาดโลก1 คือ การจำหน่ายคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกคาดการณ์ว่าลดลงร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่การเติบโตของเท็บเล็ตในตลาดโลกมากถึงร้อยละ 53 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากภาวะตลาด Semiconductor ของโลก ซึ่งรายงานโดย Semiconductor Industry Association 2 (SIA) พบว่ามูลค่าการจำหน่าย Semiconductor ทั่วโลกในปี 2556 มีมูลค่า 305.58 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งภูมิภาคที่มีการปรับตัวเพิ่มมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 รองลงมาคือ เอเชียแปซิก สหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และ 5.2 ตามลำดับ ยกเว้นญี่ปุ่น ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ของ Semiconductor โดยเฉพาะกลุ่ม DRAM เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึงร้อยละ 33.3 รองลงมาคือ Memorory , NAND flash, Optoelectronic และ Logic เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 8.1 5.3 และ 5.2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในไตรมาส 4/2556 ส่วนใหญ่มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการใช้จ่ายในประเทศชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นเตาอบไมโครเวฟที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ คอมเพรสเซอร์ เตาอบไมโครเวฟ และสายไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.05 46.31 และ 17.80 ตามลำดับ ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญที่ปรับตัวลดลง คือ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเด็นซิ่งยูนิต ลดลงร้อยละ 24.92 และ 9.76 ตามลำดับ

การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในปี 2556 สำหรับกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน คือ ตู้เย็น เครื่องรับโทรทัศน์ขนาดต่ำกว่า 20 นิ้ว และเครื่องรับโทรทัศน์ขนาดมากกว่า 20 นิ้ว ลดลงร้อยละ 14.38 23.23 และ 82.85 ตามลำดับ และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยส์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ เตาอบไมโครเวฟ และสายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.79 11.98 22.85 23.02 และ 6.60 ตามลำดับ เพราะผู้ประกอบการทำการตลาดร่วมกับเจ้าของโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น และความต้องการของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนระบบจำหน่ายไฟฟ้า จึงทำให้ความต้องการใช้สายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 2) การส่งออก

การส่งออกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาส 4/2556 โดยรวมมีมูลค่า 13,269.06 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.57 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อพิจารณาแยกเป็นรายอุตสาหกรรมแล้วพบว่า การส่งออกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าในไตรมาส 4/2556 มีมูลค่า 5,526.70 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.78 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 1.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่า 7,742.36 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.13 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีการส่งออกไปตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.25 8.76 และ 7.31 ตามลำดับ

การส่งออกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2556 มีมูลค่า 53,412.60 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงร้อยละ 1.37 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อาเซียนสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.29 17.17 14 10.55 และ 8.75 ของมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งหมด ตามลำดับ ซึ่งตลาดอาเซียนมีการขยายตัวมากที่สุด คือ ร้อยละ 6.46 เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมา คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.75 และ 4.44 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ ส่วนตลาดที่มีการปรับตัวลดลง คือ จีน และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 25.79 และ 4.61 ตามลำดับ

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2556 มีมูลค่า 22,571.37 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.13 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผลมาจากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกามีการลดลงถึงร้อยละ 8.43 รองลงมา คือ จีน และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 5.59 และ 1.14 ตามลำดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่า 3,803.87 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.25 เมื่อเทียบกับปีก่อน (ส่งออกไปตลาดหลักได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28.09 เมื่อเทียบกับปีก่อน) 2) กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอ ภาพนิ่ง วีดีโออื่นๆ มีมูลค่า 2,073.79 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.01 เมื่อเทียบกับปีก่อน (ส่งออกไปตลาดหลักลดลงเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาลดลงถึงร้อยละ 15.84 เมื่อเทียบกับปีก่อน ยกเว้นจีนและญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น) 3) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม (ฟิวส์ สวิตช์ ปลั๊ก socket) มีมูลค่า 2,226.82 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.06 เมื่อเทียบกับปีก่อน (โดยมาจากตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.51 เมื่อเทียบกับปีก่อน)

การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2556 มีมูลค่า 30,841.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.55 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ทำให้ตลาดมีความต้องการเท็บเล็ต/สมาร์ทโฟนมากขึ้น ขณะที่มีความต้องการคอมพิวเตอร์ลดลง โดยการส่งออกไป จีน ลดลงมากที่สุดถึงร้อยละ 32.81 จากการที่จีนเป็นฐานการผลิตคอมพิวเตอร์ที่สำคัญของโลก รองลงมาคือ ญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 9.41 ส่วนตลาดหลักอื่น ๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปอาเซียน ปรับตัวได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.71 4.11 และ 3.24 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่า 17,753.63 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.43 เมื่อเทียบกับปีก่อน (โดยมาจากตลาดจีนลดลงถึงร้อยละ 43.13 เมื่อเทียบกับปีก่อน) 2) วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี มีมูลค่า 7,423.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.32 เมื่อเทียบกับปีก่อน (ส่งออกไปตลาดหลักได้เพิ่มขึ้น โดยจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.84 ยกเว้นญี่ปุ่นเท่านั้นที่ลดลงร้อยละ 13.56 เมื่อเทียบกับปีก่อน) 3) เครื่องส่ง-เครื่องรับวิทยุโทรเลข วิทยุโทรศัพท์ เครื่องเรดาห์ มีมูลค่า 1,265.95 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.69 เมื่อเทียบกับปีก่อน (โดยส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23.40 เมื่อเทียบกับปีก่อน

การนำเข้า

การนำเข้าของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2556 มีมูลค่า 10,921.73 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 5.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเมื่อพิจารณาแยกออกเป็นรายอุตสาหกรรมพบว่าการนำเข้าของอุตสาหกรรมไฟฟ้าในไตรมาส 4/2556 คิดเป็นมูลค่า 4,227.16 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.82 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่า 6,694.52 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.07 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามา เพื่อนำไปใช้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับส่งออกให้ทันในช่วงเทศกาลปลายปี แต่ลดลงร้อยละ 3.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะมีการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ลดลง

มูลค่าการนำเข้าของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2556 มีมูลค่า 45,057.01ล้านเหรียญสหรัฐฯปรับตัวลดลงร้อยละ 5.03 เมื่อเทียบกับปีก่อน (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 4) ตลาดนำเข้าหลักของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ จีน อาเซียน และญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.15 23.67 15.48 ของมูลค่าการนำเข้ารวมทั้งหมดของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตามลำดับ ส่วนตลาดนำเข้าที่ลดลง คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน ลดลงร้อยละ 22.22 16.33 และ 3.29 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2556 มีมูลค่า 18,651.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 7.82 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีการนำเข้าจากประเทศที่ลดลง คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน ลดลงร้อยละ 27.50 10.37 และ 5.13 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่านำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม (ฟิวส์ สวิตช์ ปลั๊ก socket) มีมูลค่า 3,926.55 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 10.41 เมื่อเทียบกับปีก่อน 2) ส่วนประกอบเครื่องรับโทรทัศน์ มีมูลค่า 1,922.43 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 13.11 เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 3) เทปแม่เหล็กและจานแม่เหล็ก แผ่น CD สำหรับบันทึกเสียง ภาพ (Thumb Drive Smart Card) มีมูลค่า 1,101.73 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 12.21 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น การนำเข้าวัตถุดิบ/ชิ้นส่วนเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปต่อไป

การนำเข้าอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2556 มีมูลค่า 26,405.80 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.94 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีการนำเข้าจากประเทศที่ลดลง คือ สหรัฐอเมริกาญี่ปุ่น และจีน ลดลงร้อยละ 18.38 15.71 และ 1.89 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่านำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี มีมูลค่า 9,204.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.44 เมื่อเทียบกับปีก่อน 2) อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่า 6,808.14 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 15.38 เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 3) โทรศัพท์เคลื่อนที่ มีมูลค่า 3,326.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.88 เมื่อเทียบกับปีก่อน

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2556

ภาวะอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2556 อยู่ในภาวะชะลอตัว โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชะลอตัวจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ทำให้ความต้องการ HDD ที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ลดลง และในส่วนของอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลงเช่นกัน เนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศและตลาดส่งออก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ชะลอตัวลง

แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2557

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2557 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1-3 โดยมาจากการเริ่มผลิต Hybrid HDD เพื่อนำไปใช้ใน Ultrathin PC และ PC Tablets ซึ่งจะทำให้ความต้องการ HDD เพิ่มขึ้น ส่วนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Semiconductor และ Monolithic IC จะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากความต้องการใช้ในสมาร์ทโฟน และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น และสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีการขยายตัวในกลุ่มเครื่องปรับอากาศทั้งตลาดในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน

นอกจากนี้จากการรายงาน Semiconductor Industry Association (SIA) ของสหรัฐอเมริกาได้คาดการณ์ว่าตลาด Semiconductor ของโลกในปี 2557 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.1 ซึ่งมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกจะมีการขยายตัวมากที่สุดถึงร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาคือ ญี่ปุ่น เอเชียแปซิฟิก และสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 3.7 และ 1.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ