สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2556 (ตุลาคม – ธันวาคม 2556)(อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 28, 2014 14:25 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 มีมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าที่ลดลงจากไตรมาสที่ 3 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญของไทยลดลง และการนำเข้าลดลงเนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนแนวโน้มปี 2557 คาดว่าอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะทรงตัว เนื่องจากปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ และตลาดญี่ปุ่นมีการปรับเพิ่มภาษีการบริโภค แต่จะสามารถขยายตลาดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนได้

การตลาด

การส่งออก

การส่งออกเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 มีมูลค่ารวม 58,272 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.12 ตามลำดับ

1. เคมีภัณฑ์พื้นฐาน มีมูลค่าส่งออก 31,915 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.96 ผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์

1.1 เคมีภัณฑ์อินทรีย์ มีมูลค่าส่งออก 20,947 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.73 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.43 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์และอินเดีย คิดเป็นร้อยละ 42.44 7.32 และ 5.71 ตามลำดับ

2. เคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีมูลค่าส่งออก 26,357 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.99 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.79 ผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องสำอาง

2.1 เครื่องสำอาง มีมูลค่าส่งออก 15,045 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.73 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 0.43 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐฟิลิปปินส์และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย คิดเป็นร้อยละ 25.07 8.02 และ 7.90 ตามลำดับ

การนำเข้า

การนำเข้าเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 มีมูลค่ารวม 99,318 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.67 และ 5.53 เทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

1. เคมีภัณฑ์พื้นฐาน มีมูลค่าการนำเข้า 62,768 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.22 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.56 ผลิตภัณฑ์นำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด

1.1 เคมีภัณฑ์อินทรีย์ มีมูลค่านำเข้า 28,469 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.19 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 3.88 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ คิดเป็นร้อยละ 15.63 11.23 และ 10.64 ตามลำดับ

1.2 เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด มีมูลค่านำเข้า 22,684 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.95 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.22 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 22.64 19.52 และ 15.22 ตามลำดับ

2. เคมีภัณฑ์ขั้นปลาย มีมูลค่านำเข้า 36,550 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17.03 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.43 ผลิตภัณฑ์นำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ปุ๋ยเคมี

2.1 ปุ๋ยเคมี มีมูลค่านำเข้า 14,403 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 13.95 โดยตลาดนำเข้าสำคัญใน ไตรมาสนี้ ได้แก่ ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย ซาอุดิอาราเบียและสาธารณรัฐประชาชนจีน คิดเป็นร้อยละ 16.28 10.32 และ 10.10 ตามลำดับ สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และแนวโน้ม

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 มีมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าที่ลดลงจากไตรมาสที่ 3 โดยการส่งออกส่วนมากส่งไปยังตลาดญี่ปุ่นมีมูลค่าลดลง เนื่องจากความต้องการนำเข้าของญี่ปุ่นชะลอตัวลง ส่วนการนำเข้าลดลงเนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นของค่าพลังงาน ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า และค่าขนส่ง

แนวโน้มปี 2557 คาดว่าอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะทรงตัว โดยคาดว่าการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนในภาพรวมจะมีการขยายตัว ในประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว อย่างไรก็ตามมีปัจจัยลบ คือ ปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย ผู้นำเข้าไม่มั่นใจต่อการสั่งซื้อ ว่าจะสามารถผลิตและป้อนสินค้าให้ได้ตามคำสั่งซื้อหรือไม่ และตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญคาดว่าจะชลอตัว เนื่องจากจะเก็บภาษีการบริโภคจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ในเดือนเมษายน 2557

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ