สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2556 (ตุลาคม – ธันวาคม 2556)(อุตสาหกรรมพลาสติก)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 28, 2014 14:26 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 4 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติก และดัชนีส่งสินค้า ลดลงร้อยละ 1.40 และ 1.50 ตามลำดับ (ตารางที่ 1 และ 2) ทั้งนี้ เนื่องจากไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงเทศกาลคริสมาสต์ และ ปีใหม่ วันหยุดยาว และปัญหาการเมืองที่เริ่มส่อเค้าถึงความไม่มั่นคง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการผลิตและการจำหน่ายสินค้า

การตลาดและการจำหน่าย

การส่งออก

ไตรมาส 4 ปี 2556 ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) เท่ากับ 275,215 ตัน ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สินค้าที่มีการส่งออกลดลงได้แก่ พลาสติกปูพื้น แผ่นฟิลม์ฟอยล์ และเครื่องใช้ในครัวเรือน โดยลดลง ร้อยละ 11.21 7.05 และ 3.87 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 3) โดยประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยัง ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา

การนำเข้า

ไตรมาส 4 ปี 2556 ปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) เท่ากับ 138,797 ตัน ลดลงร้อยละ 2.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยสินค้าที่มีการนำเข้าลดลงได้แก่ แผ่นฟิลม์ฟอยล์เครื่องประกอบของอาคาร และเครื่องใช้ในครัวเรือน โดยลดลงร้อยละ 19.21 19.82 และ 5.97 ตามลำดับ (ตารางที่ 4) โดยประเทศไทยนำเข้าสินค้าดังกล่าวจาก ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ผลของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งหากมีความชัดเจน หรือมีการเริ่มดำเนินโครงการต่างๆ ได้ภายในปี 2557 จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมพลาสติก

สรุปอุตสาหกรรมพลาสติกปี 2556 และแนวโน้มปี 2557

สรุปอุตสาหกรรมพลาสติกปี 2556

อุตสาหกรรมพลาสติกในปี 2556 ยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2555 ทั้งนี้เนื่องจาก ตัวเลขยอดการผลิตรถยนต์ในช่วงต้นปียังคงสร้างผลดีต่ออุตสาหกรรมพลาสติก อันเกิดจากนโยบายรถยนต์คันแรกในปีที่ผ่านมา และนโยบายส่งเสริมของภาครัฐที่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลงส่งผลต่อปริมาณการบริโภคสินค้า

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติกปี 2557
  • ปัญหาทางการเมืองที่จะทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลมากขึ้น ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยลดลง
  • ยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่จะเพิ่มการผลิตเป็น 2.5 ล้านคัน และจากการ ตั้งเป้าในการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยผลักดันการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นพลาสติก ให้สูงขึ้นตามด้วย
  • เศรษฐกิจของโลกที่ยังคงผันผวนจากข่าวการปรับลดเพดานวงเงินของมาตรการ QE : Quantitative Easing ของสหรัฐอเมริกา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าพลาสติกจากไทย (3916-3926) ประมาณ 10,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ