สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2556 (ตุลาคม – ธันวาคม 2556)(อุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 28, 2014 14:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2556 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ การปรับตัวของอุปสงค์ อุปทานในตลาด โดยภาพรวมราคาเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

การผลิต

ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทย มีแผนลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ (Polyplactic acid, PLA) แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน มีกำลังการผลิตรวม 140,000 ตัน/ปี โดยเริ่มงานก่อสร้างในช่วงปลายปี 2556 และมีกำหนดเริ่มเปิดดำเนินการในปี 2558

นอกจากนี้ มีโครงการร่วมลงทุนในประเทศเวียดนาม โดยวางแผนเริ่มงานก่อสร้างโรงงาน ปิโตรเคมีเพื่อผลิตโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ขั้นปลายรวม 1.4 ล้านตัน/ปี ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติและแนฟธาเป็นวัตถุดิบ งานก่อสร้างจะเริ่มในปี 2558 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2556 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมีมูลค่ารวม 73,173.90 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 0.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลาง มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 5.77 และ 17.59 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2555 ซึ่งเกิดจากประเทศที่เป็นตลาดหลักของไทย เช่น ประเทศจีนและเวียดนามมีแผนการขยายกำลังการผลิตเป็นจำนวนมากในช่วงปี 2556-2560 และบางแห่งเริ่มทยอยเดินเครื่องการผลิต ส่งผลให้ตลาดมีความตึงตัวและลดการพึ่งพิงการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากไทย

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของปี 2556 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีมูลค่ารวม 295,974.66 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมเพิ่มร้อยละ 3.09 เมื่อเทียบกับปี 2555

การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2556 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีมูลค่ารวม 30,746.78 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมปลายทางในประเทศเริ่มฟื้นตัวจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้ความต้องการวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลาง มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.76 และ 15.78 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย มีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 6.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2555 ทั้งนี้ การนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลางเพิ่มขึ้น เนื่องจากเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นเม็ดพลาสติกให้กับอุตสาหกรรมปลายทางต่อไป

สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในปี 2556 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีมูลค่ารวม 110,305.11 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 8.29 เมื่อเทียบกับปี 2555

ราคาสินค้า

ราคาเอธิลีนในตลาดเอเชียไตรมาส 4 ปี 2556 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 41.58 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ราคาเฉลี่ย 39.58 บาทต่อกิโลกรัม และราคา โพรพิลีนไตรมาส 4 ปี 2556 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 47.04 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในไตรมาส 3 ปี 2556 ที่ราคาเฉลี่ย 45.25 บาทต่อกิโลกรัม

ราคาเม็ดพลาติก PE และ PP (ราคาเฉลี่ย SE Asia CFR) ของ LDPE, HDPE, และ PP ไตรมาส 4 ปี 2556 ระดับราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 52.80, 48.83 และ 50.23 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ LDPE,HDPE และ PP มีระดับราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 ซึ่งมีระดับราคาเฉลี่ย 49.14, 47.02 และ 49.02 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2556 มูลค่าการส่งออกโดยรวมมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งประเทศต่างๆ ได้แก่ จีนและเวียดนามอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตเพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้าจากไทยแต่ยังไม่เปิดดำเนินการในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ยังคงไม่มีเสถียรภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2556 มูลค่าการนำเข้าโดยรวมมีอัตราการขยายตัวลดลง ซึ่งเกิดจากการขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตในประเทศ ทำให้ลดการนำเข้าจากต่างประเทศลง อย่างไรก็ตามปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ดังนั้น ในระยะสั้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจึงปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วนในระยะยาว เพื่อลดความเสี่ยงควรบุกเบิกตลาดในประเทศกำลังพัฒนาใหม่ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเศรษฐกิจเกิดใหม่

แนวโน้ม

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2557 คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมปลายทาง ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้ หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลในปี 2556 สามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ปัญหาเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ยังคงไม่มีเสถียรภาพ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ