สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2556 (ตุลาคม – ธันวาคม 2556)(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 28, 2014 14:33 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 4 ปี 2556 มีการผลิต การนำเข้า และการส่งออก ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทางภาคตะวันออก และภาคใต้ สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง และการชะลอตัวทางเศษรฐกิจ อย่างไรก็ตาม การผลิตกระดาษพิมพ์เขียน ยังคงขยายตัวได้ เนื่องจากความต้องการในช่วงเทศกาลสำคัญช่วงปลายปี เช่น ปีใหม่ และตรุษจีน

การผลิต

การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ร้อยละ 18.10 6.74 5.10 และ 0.93 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) เนื่องจากมีการชะลอคำสั่งซื้อของอุตสาหกรรมต่อเนื่องประเภทต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม และจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ทำให้คู่ค้ามีความวิตกกังวลว่า ผู้ประกอบการไทยอาจส่งมอบสินค้าได้ไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด จึงลดความเสี่ยงโดยลดยอดคำสั่งซื้อจากไทยลง ส่งผลต่อความต้องการใช้กระดาษเพื่อนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์กระดาษลดลงตามไปด้วย ยกเว้น ในส่วนกระดาษพิมพ์เขียน ซึ่งดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.68 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มการผลิตในส่วนกระดาษคุณภาพเพื่อรองรับความต้องการช่วงปลายปี เช่น การจัดซื้อพัสดุของหน่วยงานภาครัฐช่วงต้นปีงบประมาณ ประกอบกับฐานตัวเลขที่ต่ำในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งได้ลดการผลิตมาโดยตลอดจากการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนราคาถูกจากจีนจนกระทบต่อการผลิตของไทย

สำหรับดัชนีผลผลิต เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเยื่อกระดาษอยู่ในภาวะทรงตัว การผลิตกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก หดตัวลง ตามความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์กระดาษลดลง จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และภาคการส่งออกของไทย โดยภาพรวมตลอดทั้งปี 2556 การผลิตของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษ อยู่ในภาวะชะลอตัว

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

1. เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 33.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 101.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการส่งออกเยื่อกระดาษไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า การส่งออกลดลง ร้อยละ 16.80 เป็นผลจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในที่ไม่ชัดเจนและยืดเยื้อ ทำให้คู่ค้ามีความวิตกกังวลว่า ผู้ประกอบการไทยอาจส่งมอบสินค้าได้ไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด จึงลดความเสี่ยงโดยลดยอดคำสั่งซื้อจากไทยลง

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 394.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.34 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งกระดาษแข็งและบรรจุภัณฑ์กระดาษ มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 10 เป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องมีความต้องการกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษขยายตัวตามไปด้วย ประกอบกับตลาดหลักในกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มีความต้องการกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 2.08 เนื่องจากความผันผวนของค่าเงินบาท และผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ทำให้คู่ค้าต่างชาติไม่มั่นใจและลดการสั่งซื้อจากไทยลง

3. หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 19.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า ลดลง ร้อยละ 22.32 และ 21.83 ตามลำดับ โดยมีสาเหตุมาจากปริมาณการผลิตหนังสือและสิ่งพิมพ์ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่ทำให้โรงพิมพ์บางแห่งต้องปิดทำการและติดขัดด้านการขนส่ง อีกทั้งประเทศคู่ค้ามีความกังวลว่าผู้ประกอบการไทยอาจส่งมอบสินค้าไม่เป็นไปตามเวลาที่กำหนด จึงลดความเสี่ยงโดยลดยอดคำสั่งซื้อจากไทย และกระจายการสั่งซื้อไปยังประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ที่สำคัญของไทย

การนำเข้า

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 132.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 21.57 และ 17.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องลดลง ประกอบกับมีการนำเข้ากระดาษ เช่น กระดาษพิมพ์เขียนจากจีนซึ่งมีราคาต่ำกว่ากระดาษที่ผลิตในประเทศจำนวนมาก ทำให้ความต้องการเยื่อกระดาษเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษประเภทต่าง ๆ ลดลงด้วย

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 364.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.80 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยกระดาษและกระดาษแข็งมีสัดส่วนการนำเข้ามากที่สุด ร้อยละ 56.54 รองลงมาคือ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ร้อยละ 16.78 เนื่องจากการลดอัตราภาษีการนำเข้ากระดาษเป็นร้อยละ 0 ประกอบกับกระดาษพิมพ์เขียนของประเทศจีนมีราคาต่ำกว่าราคากระดาษในประเทศเป็นอย่างมาก แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่ามูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 11.42 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมีการนำเข้าในช่วงไตรมาสก่อนหน้าเพื่อรอการผลิตในไตรมาส 4 รวมถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้าย ทำให้ อุปสงค์ในประเทศลดลง ประกอบกับหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น

3. สิ่งพิมพ์ ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 56.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.91 และ 15.08 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง จากหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาสิ่งพิมพ์ได้ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ความต้องการสิ่งพิมพ์ลดลง โดยประเภทสิ่งพิมพ์ที่มีการนำเข้าอันดับต้น ๆ เช่น ตำราเรียน สิ่งตีพิมพ์ทางการศึกษา เป็นต้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักปกป้องและตอบโต้ทางการค้า อยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้องของสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย ที่ยื่นให้มีการกำหนดมาตรการปกป้องการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียน ปริมาณมากจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีน เพื่อลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตเยื่อและกระดาษของประเทศไทย ตลอดห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษทั้งหมด

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาวะการผลิต ไตรมาส 4 ปี 2556 ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งในกลุ่มเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม และจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ทำให้คู่ค้ามีความวิตกกังวลว่า ผู้ประกอบการไทยอาจส่งมอบสินค้าได้ไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด จึงลดความเสี่ยงโดยลดยอดคำสั่งซื้อจากไทยลง ส่งผลต่อความต้องการใช้กระดาษเพื่อนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์กระดาษลดลง ยกเว้น กระดาษพิมพ์เขียน ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการช่วงปลายปี เช่น การสั่งซื้อพัสดุของหน่วยงานภาครัฐช่วงต้น ปีงบประมาณ ประกอบกับฐานตัวเลขที่ต่ำในโตรมาสก่อนหน้า ซึ่งได้ลดการผลิตมาโดยตลอดจากการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนราคาถูกจากจีนจนกระทบต่อการผลิตของไทย

การส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 4 ปี 2556 ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศและความผันผวนของค่าเงินบาท แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของตลาดหลักในกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มีความต้องการกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษเพิ่มขึ้น

การนำเข้า ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งในกลุ่มเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้ากระดาษจากต่างประเทศแทนการผลิตในประเทศ และกลุ่มกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ที่ลดลงตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศทำให้การบริโภคในประเทศลดลง

แนวโน้ม

คาดการณ์ว่าสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาสแรก ของปี 2557 จะขยายตัวขึ้นเล็กน้อย โดยภาคการผลิตอาจทรงตัว เนื่องจากการแข่งขันด้านราคากระดาษพิมพ์เขียนที่นำเข้าจากจีนซึ่งมีราคาต่ำมาก

การส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษ และผลิตภัณฑ์จากกระดาษ จะขยายตัวได้จากการขยายการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายตัวตามไปด้วย ประกอบกับอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปี 2558 ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้การผลิตและส่งออกขยายตัว ในส่วนของหนังสือและสิ่งพิมพ์อาจจะชะลอตัว และต้องปรับตัวจากการเข้ามาแทนที่ของสื่อดิจิตอลโดยเฉพาะในธุรกิจพิมพ์เขียน

การนำเข้าเยื่อกระดาษและกระดาษ อาจปรับตัวสูงขึ้น เพื่อรองรับความต้องการบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์กระดาษ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เยื่อใยยาวจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบ ส่วนผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์คาดว่า ยังคงทรงตัว ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ยังชะลอตัว

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ