สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2556 (ตุลาคม – ธันวาคม 2556)(อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 28, 2014 14:42 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 4 ปี 2556 อยู่ในภาวะชะลอตัวทั้งกลุ่มสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภาพรวมปี 2556 ขยายตัวจากปีก่อน ร้อยละ 3.61 เป็นการขยายตัวในกลุ่มสิ่งทอ ร้อยละ 7.89 ในขณะที่กลุ่มเครื่องนุ่งห่มหดตัว ร้อยละ 2.58 โดยมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอเป็นหลักส่งผลให้การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น เฉพาะในกลุ่มผ้าผืนและเส้นด้ายขยายตัว ร้อยละ 9.85 สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องยกทรง รัดทรง และส่วนประกอบมีมูลค่าลดลง จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป

การผลิตและการจำหน่าย

กลุ่มสิ่งทอ ไตรมาส 4 ปี 2556 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิต เส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ มีการผลิตลดลง ร้อยละ 2.25 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สอดคล้องกับ การจำหน่ายที่ลดลง ร้อยละ 1.34 ตามวัฏจักรของอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่จะปรับตัวลดลงในไตรมาสนี้ เพื่อนำไปผลิตเป็นผ้าผืนและเครื่องนุ่งห่ม และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.38 ในขณะที่การจำหน่ายลดลง ร้อยละ 0.71 จากการบริโภคที่ลดลงของตลาดภายในประเทศ ประกอบกับคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าหลักเส้นใยสิ่งทอจากไทย (ตารางที่ 1)

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 4 ปี 2556 การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าถัก) และการจำหน่าย ดัชนีปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ร้อยละ 4.58 และ 4.73 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิต และการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.99 และ 1.24 ตามลำดับ (ตารางที่ 2) จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลัก ประกอบกับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นภายในประเทศ จากสภาพอากาศที่หนาวเย็นกว่าปีก่อน ส่งผลให้การบริโภคเสื้อผ้าถักเพิ่มสูงขึ้น สำหรับการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้น เครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าทอ) การผลิต และการจำหน่าย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 11.55 และ 11.55 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.94 แต่การจำหน่ายลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.54 ตามลำดับ (ตารางที่ 3) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการภายใน ที่ลดลงจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองส่งผลให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยที่ระมัดระวังมากขึ้น

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ การส่งออก

ไตรมาส 4 ปี 2556 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าการส่งออก 1,849.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่มื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.17 เนื่องจากคำสั่งซื้อจากตลาดสหภาพยุโรป อาเซียน และเอเซีย ขยายตัว โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และบังคลาเทศ มีความต้องการเพื่อนำไปผลิตและส่งออกไปตลาดอื่น ๆ เพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มส่งออกที่สำคัญ ได้แก่

1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการส่งออก 1,129.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.10 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.08 โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 61.07 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

1.1 ผ้าผืนและด้าย ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 636.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรงตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.10 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อน ประกอบด้วย ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออก 405.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ63.71 และด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ มีมูลค่าการส่งออก 230.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.29 โดยมีประเทศเวียดนาม จีน บังคลาเทศ และญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

1.2 เคหะสิ่งทอ ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 80.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 0.58 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 3.56 โดยมีประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และซาอุดิอาระเบีย เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

1.3 เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 150.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 24.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 16.37 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อลดลงค่อนข้างมากจากประเทศในอาเซียน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป จากราคาเส้นใยฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียซึ่งเป็นคู่แข่งที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า โดยมีประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และบังคลาเทศ เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

1.4 สิ่งทออื่นๆ ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 165.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.97 และ 9.60 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยมีประเทศญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย และอินเดีย เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 719.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.31 โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 38.93 ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ คือ

เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออก 629.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.32 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาดสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม การส่งออกในตลาดสหภาพยุโรป และอาเซียน ยังขยายตัวได้ทำให้มูลค่าการส่งออกไม่ลดลงมากนัก แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.27 เนื่องจากการส่งออกขยายตัวได้ในตลาดหลักทุกตลาด สำหรับมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปตลอดทั้งปี 2556 ลดลง ร้อยละ 2.58 จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลัก ส่งผลให้คำสั่งซื้อลดลง โดยเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีมูลค่าการส่งออก คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 87.50 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด

การนำเข้า

ไตรมาส 4 ปี 2556 มีการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคิดเป็นมูลค่า 1,153.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 4.60 และ 2.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับโดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งทอต้นน้ำสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์นำเข้าที่สำคัญ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้า (ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ) รวมทั้งสิ้น 1,013.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.27 และ 1.98 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศในผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องลดลงทั้งผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม โดยมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 87.85 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ซึ่งผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

1.1 เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่านำเข้า 244.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.89 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเส้นใยฯ ที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บราซิล และจีน

1.2 ด้ายทอผ้าฯ มีมูลค่านำเข้า 169.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 9.74 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 9.55 โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินโดนีเซีย

1.3 ผ้าผืน มีมูลค่านำเข้า 432.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 0.89 และ 3.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

1.4 ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 101.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 4.94 และ 6.71 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

2. กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 140.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 13.25 และ 4.28 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากประชาชนระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยโดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยลง จากอัตราหนี้ภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยมูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.15 ของการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน เวียดนาม ตุรกี และฮ่องกง

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1.ปีงบประมาณ 2557 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยเส้นใยต้นแบบและการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค และโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันให้เป็นส่วนหนึ่งตามยุทธศาสตร์ศูนย์กลาง (ฮับ) ในภูมิภาคอาเซียนด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ ภายในปี 2559 โดยเฉพาะสิ่งทอต้นน้ำที่ไทยมีความแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคนี้ และคงความสามารถในการแข่งขันและเติบโตในตลาดโลกต่อไป

2.กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนา SMEs และ OTOP ของไทย ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ประเทศที่ตั้งเป้าหมายยกระดับ GDP ของ SMEs จากสัดส่วนร้อยละ 37 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 40 ของ GDP พร้อมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ปี 2557 ประกอบด้วย 1) สนับสนุนปัจจัยเอื้อต่อการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม 2) การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs 3) การพัฒนาองค์กรธุรกิจ และ 4) การส่งเสริมศักยภาพเพื่อการแข่งขันในเวทีสากล พร้อมแผนเร่งด่วน ปี 2557 ผลักดัน 5 แนวทางหลัก ได้แก่ การส่งเสริม SMEs ของไทยก้าวสู่ Supply Chain ของอาเซียน การเพิ่มผลิตภาพและนวัตกรรมเพื่อการเติบโตของ SMEs การผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแฟชั่นในอาเซียน และเพิ่มมูลค่าสินค้า OTOP ด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

กลุ่มสิ่งทอ การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไตรมาส 4 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง ร้อยละ 2.25 แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.38 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และหากเทียบทั้งปี 2556 การผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.96 เนื่องจากความต้องการในตลาดหลักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนการส่งออกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าในกลุ่มเส้นใยสิ่งทอฯ ชะลอตัวค่อนข้างมาก แต่กลุ่มผ้าผืน กลับมีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดหลักทุกตลาด ได้แก่ จีน ญี่ปุ่นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอาเซียน โดยภาพรวมมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอ ปี 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.89

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อสำเร็จรูปจากผ้าถัก และเสื้อสำเร็จรูปจากผ้าทอลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อในตลาดสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นลดลง แต่เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวได้ในตลาดหลักทุกตลาด สำหรับมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปตลอดทั้งปี 2556 ลดลง จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลัก ประกอบกับการย้ายฐานการผลิตของโรงงานเครื่องนุ่งห่มขนาดใหญ่ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มส่งผลต่อปริมาณคำสั่งซื้อในไทยลดลง ส่งผลให้การส่งออกในกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีทิศทางลดลง ในส่วนการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ปี 2556 มีการนำเข้าเสื้อผ้าแนวแฟชั่นราคาไม่สูงจากจีน เวียดนาม ตุรกี และฮ่องกง เพิ่มขึ้น

แนวโน้ม

สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในไทย เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย ผู้นำเข้าหลายรายเริ่มไม่มั่นใจต่อการสั่งซื้อ ว่าจะสามารถผลิตและป้อนสินค้าให้ได้ตามคำสั่งซื้อหรือไม่ โดยผู้นำเข้าบางรายเริ่มหันไปลงออเดอร์กับประเทศคู่แข่ง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมาจากการส่งมอบ ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าไตรมาสหน้า หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เนื่องจากกลุ่มสินค้าสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม มีการผลิตในหลายประเทศในอาเซียนและคุณภาพผลผลิตใกล้เคียงกับไทย ได้แก่ อินโดนีเซีย บังคลาเทศ กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านี้ทดแทนได้ และเริ่มมีการย้ายคำสั่งซื้อไปให้ผู้ผลิตในประเทศเหล่านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การตลาด และการค้าส่งเสื้อผ้า สิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า ที่ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย รวมทั้งผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำกระแสแฟชั่นในภูมิภาค การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก เป็นเวทีให้นักออกแบบสินค้าแฟชั่นได้แสดงผลงาน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการผลิตและการออกแบบได้มีโอกาสขยายช่องทางการค้าสู่ตลาดโลก โดยในปี 2557 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดจัดงานแสดงสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนัง (BIFF & BIL) ในช่วงเดือนมีนาคม ณ เมืองทองธานี เพื่อพัฒนาสินค้าและช่องทางการตลาดต่าง ๆ และตั้งเป้าหมายการผลิตสินค้าสิ่งทอ (ผ้าผืนและเส้นด้าย) เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปี 2556 หรือประมาณ ร้อยละ 9 เนื่องจากคาดการณ์ว่าความต้องการในตลาดหลักจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าเครื่องนุ่งห่มคาดว่า จะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 5 ตามสภาพภาวะเศรษฐกิจในตลาดสหรัฐอเมริกาที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ปลาย ปี 2556

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ