สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2556 (ตุลาคม – ธันวาคม 2556)(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 28, 2014 14:50 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้เพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มนิยมปรับเปลี่ยนสินค้าตกแต่งบ้านมากขึ้น สำหรับการส่งออกไม้และเครื่องเรือนเติบโตเพิ่มขึ้น จากการส่งออกไปตลาดใหม่ในแถบเอเชีย

การผลิต

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ เพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีอย่างต่อเนื่อง และความต้องการของตลาดส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 4 ปี 2556 มีปริมาณการผลิต 2.15 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.14 และ 0.94 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ปี 2556 ในภาพรวมยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิต เช่น วัตถุดิบไม้ ค่าขนส่ง และค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยมีปริมาณการผลิต 8.04 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 9.87 (ดังตารางที่ 1)

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ เพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีอย่างต่อเนื่อง และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มนิยมปรับเปลี่ยนสินค้าตกแต่งบ้านมากขึ้น โดยไตรมาส 4 ปี 2556 มีปริมาณการจำหน่าย 1.12 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.74 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ในภาวะทรงตัว สำหรับการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในปี 2556 ในภาพรวมยังได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดระดับล่าง โดยมีปริมาณการจำหน่าย 4.34 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.62 (ดังตารางที่ 2)

การค้าระหว่างประเทศ การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่ารวม 868.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.52 และ 15.05 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ปี 2556 มีมูลค่ารวม 3,235.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.70 (ดังตารางที่ 3) ซึ่งการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนในตลาดใหม่แถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง เช่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย และซาอุดิอาระเบีย ทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าตลาดหลักทั้งสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป จะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องก็ตาม

สำหรับรายละเอียดการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 36 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องเรือนไม้

การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่ารวม 309.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.42 และ 18.22 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ในปี 2556 มีมูลค่ารวม 1,054.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.85

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วย เครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องใช้ทำด้วยไม้ และรูปแกะสลักไม้

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่ารวม 54.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.85 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.46 สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ ในปี 2556 มีมูลค่ารวม 204.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 7.94

3) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วย ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเวียดนาม การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือไม้แปรรูป รองลงมาคือ ไฟเบอร์บอร์ด และไม้อัด

การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่ารวม 504.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 3.04 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.69 สำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ในปี 2556 มีมูลค่ารวม 1,976.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.25

การนำเข้า

การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ ได้แก่ ไม้แปรรูป ไม้อัดและไม้วีเนียร์ และไม้ซุง มาผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเครื่องเรือน โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา ไม้อัดและไม้วีเนียร์ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย และไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ มาเลเซีย และนิวซีแลนด์

การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่ารวม 141.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 19.77 และ 19.65 ตามลำดับ ซึ่งการนำเข้าลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้น ไม้อัดและไม้วีเนียร์ สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ในปี 2556 มีมูลค่ารวม 660.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.85 (ดังตารางที่ 4)

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 4 ปี 2556 เพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีอย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มนิยมปรับเปลี่ยนสินค้าตกแต่งบ้านมากขึ้น และความต้องการของตลาดส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 4 ปี 2556 เพิ่มขึ้นจากการส่งออกไปยังตลาดใหม่แถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง เช่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย และซาอุดิอาระเบีย ทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนของการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 4 ปี 2556 ลดลงทั้งไม้แปรรูป และไม้ซุง

แนวโน้ม

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 1 ปี 2557 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน และผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น อาจทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดระดับล่าง

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2557 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากตลาดใหม่ของไทยที่มีกำลังซื้อสูง เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ยังขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ เศรษฐกิจของตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น และเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงส่งผลดีต่อการส่งออก สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2557 มีแนวโน้มลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ