สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2556 (ตุลาคม – ธันวาคม 2556)(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 28, 2014 15:00 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมยาหดตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัท ผู้ผลิตยาบางรายหยุดเดินเครื่องจักร ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยไม่ค่อยสงบตลอดช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ส่งผลให้การผลิต การจำหน่าย รวมถึงการส่งออกยาในไตรมาสนี้ปรับตัวลดลง

การผลิต

ไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 มีปริมาณการผลิตยาในประเทศทั้งสิ้นรวม 6,467.19 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 7.32 และ 6.16 ตามลำดับ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตยาบางรายหยุดเดินเครื่องจักร ประกอบกับในไตรมาสนี้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยไม่ค่อยสงบเท่าที่ควร มีการชุมนุมปิดเส้นทางเดินรถในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้ผู้ผลิตประสบปัญหาในจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อทำการผลิต

สำหรับในปี 2556 มีปริมาณการผลิต 26,651.62 ตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 10.46 เนื่องจากฐานตัวเลขการผลิตในปีก่อนค่อนข้างสูง สืบเนื่องมาจากการที่บริษัทผู้ผลิตต่างเร่งทำการผลิตหลังจากปัญหาอุทกภัยคลี่คลายลง

การตลาดและการจำหน่าย การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 มีปริมาณ 6,164.30 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ร้อยละ 7.01 และ 1.35 ตามลำดับ เนื่องจากในช่วงไตรมาสนี้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยไม่ค่อยสงบ ส่งผลให้การจัดส่งและกระจายสินค้าเป็นไปด้วยความยากลำบาก นอกจากนี้ ช่วงไตรมาสก่อนของทุกปียังเป็นช่วงที่มีการจำหน่ายยาในประเทศในปริมาณสูงกว่าไตรมาสนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่สถานพยาบาลของภาครัฐซึ่งเป็นตลาดหลักจะต้องเร่งใช้จ่ายให้ทันสิ้นปีงบประมาณ

สำหรับปริมาณการจำหน่ายในปี 2556 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 24,226.99 ตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 8.13 เนื่องจากในปีนี้ภาครัฐได้จำกัดปริมาณการนำสารวัตถุดิบบางตัวซึ่งใช้ในการผลิตยาน้ำมาใช้ ส่งผลให้มีการผลิตสินค้าดังกล่าวเพื่อจัดจำหน่ายได้ลดลง

การค้าระหว่างประเทศ การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 มีมูลค่า 2,246.80 ล้านบาท ขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ร้อยละ 3.50 และ 2.67 เนื่องจากไม่มีสถานการณ์ผิดปกติที่ทำให้ต้องใช้ยาจำนวนมากในประเทศเช่นในเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อสองปีที่ผ่านมา ทำให้การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคมีการขยายตัวที่ดี โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,425.16 ล้านบาท หรือร้อยละ 63.43 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

สำหรับในปี 2556 การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคมีมูลค่า 8,579.23 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 9.14 โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดใน 5 ประเทศดังกล่าวรวม 5,540.48 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 64.58 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด ทั้งนี้ จะเห็นว่าตลาดส่งออกยาที่สำคัญของไทยยังคงเป็นตลาดอาเซียน ถึงแม้จะมีการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีก่อน เนื่องจากมีบริษัทผู้ผลิตยาจากญี่ปุ่นบางรายมาลงทุนทำการผลิตในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตและส่งออกกลับไปยังประเทศของตน

การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 มีมูลค่า 11,419.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.54 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 1.50 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอิตาลี มีมูลค่าการนำเข้ารวม 5,131.96 ล้านบาท หรือร้อยละ 44.94 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด สำหรับการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคในปี 2556 มีมูลค่า 44,261.77 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.28 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร มีมูลค่าการนำเข้ารวม 19,448.11 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.94 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

สรุปและแนวโน้ม สรุป

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตบางรายหยุดเดินเครื่องจักร รวมถึงภาครัฐได้จำกัดปริมาณการนำสารวัตถุดิบบางชนิดมาใช้ นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองที่ไม่สงบในช่วงไตรมาสนี้ยังส่งผลให้การผลิตและการจำหน่ายยาในประเทศลดลง เนื่องจากมีความลำบากในการขนส่ง ทำให้จัดซื้อวัตถุดิบเพื่อทำการผลิตและกระจายสินค้าได้ไม่สะดวกเท่าที่ควร

สำหรับมูลค่าการส่งออกขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศค่อนข้างปกติ ไม่มีความต้องการใช้ในประเทศสูงเช่นเมื่อสองปีก่อน ในส่วนมูลค่าการนำเข้าค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากภาครัฐมีการควบคุมการเบิกจ่ายยาในระบบสวัสดิการอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 1 ของทุกปีเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมยาเข้าสู่ช่วงชะลอตัว โดยจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของทุกปี สำหรับการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตยาที่ได้มีการหยุดเดินเครื่องจักรไปเมื่อไตรมาสก่อนได้กลับมาทำการผลิตยาตามปกติ ทำให้ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ในส่วนของการนำเข้า คาดว่าจะมีมูลค่าการนำเข้าลดลงเล็กน้อยหรือทรงตัว เนื่องจากสถานพยาบาลภาครัฐซึ่งเป็นคู่ค้าหลักได้เร่งใช้จ่ายงบประมาณในช่วงปลายปีงบประมาณไปแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโดยภาพรวมอุตสาหกรรมยามีแนวโน้มชะลอตัวในไตรมาสแรกของปี แต่ก็ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตได้สูง เนื่องจากไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกไม่ถึง 2 ปีข้างหน้า ซึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน ไทยเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง โดยเป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์เท่านั้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ