สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2556 (ตุลาคม – ธันวาคม 2556)(อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 28, 2014 15:10 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 มีมูลค่าทั้งสิ้น 2,173.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 40.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมูลค่าการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลงมากถึง ร้อยละ 67.76 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกลดลงจากไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 1.96 ทั้งนี้ หากพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) จะมีมูลค่าทั้งสิ้น 1,594.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 14.40 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.25 โดยมูลค่าการส่งออกตลอดทั้งปี 2556 ขยายตัวได้ ร้อยละ 4.65

การผลิตและการจำหน่าย

การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ในไตรมาส 4 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 1) ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 2.39 สอดคล้องกับการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลงตามสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่ยังไม่ฟื้นตัว ในส่วนดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 5.40 สอดคล้องกับการผลิตและส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ที่ลดลง สำหรับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.13 และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 18.76 เนื่องจากปริมาณคำสั่งซื้อเครื่องประดับแท้จากสหรัฐอเมริกาในไตรมาสนี้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 20.34 เนื่องจากคำสั่งซื้อเครื่องประดับแท้ที่ลดลงมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 13.20 จากการผลิตที่ลดลงจึงต้องส่งสินค้าออกจากสต๊อก ตามลำดับ

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ การส่งออก

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ไตรมาส 4 ปี 2556 (ตารางที่ 2 ) มีมูลค่าการส่งออก 1,594.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 14.40 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกอัญมณี ได้แก่ เพชร และพลอย และเครื่องประดับแท้ลดลง แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.25 เนื่องจากมีการส่งออกเพชร เพิ่มขึ้นในตลาดฮ่องกง เบลเยี่ยม และอินเดีย และพลอยเพิ่มขึ้นในตลาดฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และจีน นอกจากนี้ยังสามารถส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และออสเตรเลีย ทั้งนี้ หากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป จะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลงถึง ร้อยละ 40.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมูลค่าการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลงมากถึง ร้อยละ 67.76 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกลดลงมากจากไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงเพียง ร้อยละ 1.96 โดยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่

1. อัญมณี ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 536.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 21.65 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการส่งออกเพชร และพลอย ลดลง แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.58 จากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอินเดีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.68 15.25 และ 11.59 ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์อัญมณีที่สำคัญมี ดังนี้

1.1 เพชร ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 386.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 15.39 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากได้มีการส่งมอบเพชรสำหรับเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตในช่วงเทศกาลก่อนหน้านี้แล้ว แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.58 เนื่องจากเพชรมีราคาเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 34.85 20.77 และ 13.05 ตามลำดับ

1.2 พลอย ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 144.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 35.30 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากได้มีการส่งมอบพลอยสำหรับเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตในช่วงเทศกาลก่อนหน้านี้แล้ว แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.50 เนื่องจากพลอยมีราคาเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และจีน คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 33.82 11.16 และ 10.71 ตามลำดับ

2. เครื่องประดับแท้ ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 886.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 12.82 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักยังไม่ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงเช่นกัน ร้อยละ 5.65 ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแท้ที่สำคัญมี ดังนี้

2.1 เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 437.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.89 และ 6.64 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากสินค้ามีราคาถูกลง จากราคาวัตถุดิบเงินที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จูงใจให้เกิดความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 42.31 23.51 และ 6.14 ตามลำดับ

2.2 เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 404.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 25.25 และ 16.89 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่ยังไม่ฟื้นตัวส่งผลให้ความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง

3. เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 101.78ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.71 และ 4.88 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากเป็นสินค้าทางเลือกให้กับผู้บริโภคในช่วงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว โดยคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์

4. อัญมณีสังเคราะห์ ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 37.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.09 และ 54.74 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากเป็นสินค้าทางเลือกให้กับผู้บริโภคในช่วงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว โดยคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง ออสเตรีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

5. ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 578.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 67.76 และ 9.84 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกลดลงอย่างมาก โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ กัมพูชา ฮ่องกง และสิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 28.26 19.41 และ 16.39 ตามลำดับ

การนำเข้า

1. เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ไตรมาส 4 ปี 2556 (ตารางที่ 3 ) มีมูลค่าการนำเข้า 400.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 41.89 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการนำเข้าเพชร พลอย และเงิน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบลดลงตามดัชนีการผลิตที่ลดลง และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงเช่นกัน ร้อยละ 20.28 จากการผลิตที่ลดลงและส่งสินค้าออกโดยตัดจากสต๊อกที่มีอยู่แทน ซึ่งตลอดทั้งปี 2556 การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว ร้อยละ 18.48 สำหรับการนำเข้าในภาพรวมมีมูลค่าทั้งสิ้น 2,983.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 14.88 และ 14.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วยวัตถุดิบสำคัญ ได้แก่

1.1 เพชร ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 143.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 50.93 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สอดคล้องกับดัชนีการผลิตที่ลดลง เนื่องจากหมดช่วงเทศกาล และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงเช่นกัน ร้อยละ 28.84 เป็นผลจากเพชรเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ อินเดีย เบลเยี่ยม และฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 37.92 18.14 และ 14.75 ตามลำดับ

1.2 พลอย ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 54.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 45.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สอดคล้องตามการผลิตที่ลดลงในไตรมาสนี้ เนื่องจากหมดช่วงเทศกาลแล้ว แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.02 เป็นผลจากพลอยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบมีราคาที่ถูกลงจูงใจให้เกิดการผลิตเพิ่มขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง อินเดีย และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 19.91 7.06 และ 3.48 ตามลำดับ

1.3 ทองคำ ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 2,583.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 8.92 และ 13.25 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ แม้ราคาทองคำจะเป็นแนวโน้มขาลง แต่จากการที่สหรัฐอเมริกามีแผนการยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเป็นเหตุให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำลง โดยแหล่งนำเข้าทองคำที่สำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และแอฟริกาใต้ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 63.77 16.34 และ 9.74 ตามลำดับ

1.4 เงิน ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 122.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 36.36 และ 35.79 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ สอดรับกับดัชนีการผลิตที่ลดลง และมีการส่งสินค้าออกโดยตัดจากสต๊อกที่มีอยู่แทน ซึ่งแหล่งนำเข้าเงินที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 48.93 36.06 และ 6.90 ตามลำดับ

1.5 โลหะมีค่าและโลหะอื่นๆ ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 26.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 20.90 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามดัชนีการผลิตที่ลดลง แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.63 เนื่องจากเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และจีน คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 68.73 12.42 และ 6.06 ตามลำดับ

ทั้งนี้ การนำเข้าเพชร พลอย ทองคำ เงิน โลหะมีค่าและโลหะอื่น ๆ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 98.24 ของการนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด

2. เครื่องประดับอัญมณี ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 148.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 25.24 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการนำเข้าเครื่องประดับแท้ลดลงอย่างมาก และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.40 ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่

2.1 เครื่องประดับอัญมณีแท้ ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 134.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 26.78 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ประกอบกับหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือยลง แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.12 โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง และอิตาลี คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 7.86 5.97 และ 5.10 ตามลำดับ

2.2 เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาส 4 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 14.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.47 เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลสำคัญ และการปรับตัวเลขจากฐานที่ต่ำในช่วงก่อนหน้า โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส และอิตาลี คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 36.50 19.01 และ 11.10 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยจะทำการศึกษาการพัฒนาการรวมกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion Cluster) และรูปแบบการเชื่อมโยงเชิงสร้างสรรค์อย่างครบวงจร ในปี 2557 ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดำเนินการในการพัฒนาการรวมกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งจะประกอบด้วยธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ และสถาบันที่เกี่ยวข้องตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มารวมตัวดำเนินกิจการในพื้นที่ใกล้เคียงกัน (Geographic Proximity) ทำให้เกิดความร่วมมือเกื้อหนุน เชื่อมโยง และเสริมกิจการซึ่งกันและกันอย่างครบวงจร (Commonality and Complementary) ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน โดยความเชื่อมโยงในหลายมิติ (Multi-Dimensional Linkage) ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และความเชื่อมโยงในแนวนอน (Horizontal Linkage) จะเป็นความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน ด้วยการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และสร้างนวัตกรรมร่วมกัน

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2556 ภาคการผลิตและการจำหน่ายหดตัวลง ร้อยละ 2.39 และ 5.40 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สอดคล้องกับการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลงตามสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่ยังไม่ฟื้นตัว

ด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลงร้อยละ 14.40 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับแท้ลดลง แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.25 และถ้ารวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวม ลดลงถึง ร้อยละ 40.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมูลค่าการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปในไตรมาสนี้ลดลงมากถึง ร้อยละ 67.76 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกลดลงมากจากไตรมาสก่อน และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 1.96

ด้านการนำเข้า (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลง ร้อยละ 41.89 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการนำเข้าเพชร พลอย และเงิน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบลดลงตามดัชนีการผลิตที่ลดลง และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 20.28 เป็นผลจากการผลิตที่ลดลงและส่งสินค้าออกโดยตัดจากสต๊อกที่มีอยู่แทน ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าในภาพรวมลดลง ร้อยละ 14.27

แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2557 คาดว่า จะทรงตัวตามการผลิตเพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อที่อาจเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2557 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะขยายตัวได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ราคาทองคำที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักของสินค้าไทยที่อาจทำให้การขยายตัวไม่เป็นไปตามที่ต้องการ สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม คาดว่า จะหดตัวลงตามทิศทางการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่มีแนวโน้มหดตัวจากราคาทองคำในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2557 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะขยายตัวได้ตามทิศทางการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น เพชร พลอย เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แนวโน้มภาพรวมการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ คาดว่า จะขยายตัวเช่นกันจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่ราคามีแนวโน้มปรับตัวลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ