ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 4 ปี 2556 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 23.01 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้าสู่ฤดูหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล แต่หากไม่รวมการผลิตน้ำตาล ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเพียงร้อยละ 0.23 และหากเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตไม่รวมการผลิตน้ำตาล มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.58 เป็นผลจากการผลิตของกลุ่มปศุสัตว์ ธัญพืชและแป้งและอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากความต้องการในประเทศเป็นหลัก ซึ่งหากรวมการผลิตน้ำตาล ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.45 ส่วนสินค้าอื่นๆ ส่วนใหญ่ผลิตลดลงจากวัตถุดิบลดลง และการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าซบเซา โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่ยังคงมีปัญหาหนี้สาธารณะในหลายประเทศ ประกอบกับราคาสินค้าในตลาดโลกผันผวนมาก ส่งผลกับการส่งออกสินค้าอาหารที่มีปริมาณการส่งออกที่ลดลง
ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2556 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.01 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากเข้าสู่ฤดูหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล ขณะที่การผลิตหลายกลุ่มสินค้าสำคัญปรับชะลอตัวลง (ตารางที่ 1) แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.45 เป็นผลจากการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นในกลุ่มสินค้า เช่น ปศุสัตว์ ผักผลไม้ นมและผลิตภัณฑ์ และธัญพืชและแป้ง ขณะที่ภาพรวมการผลิตช่วงปี 2556 การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนเพียงร้อยละ 0.73 จากการผลิตที่รองรับ ตลาดในประเทศที่ยังขยายตัวจากการปรับขึ้นค่าแรงและเงินเดือน แม้ว่าวัตถุดิบบางอย่างได้รับผลกระทบจากโรคระบาด และการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าซบเซา สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.42 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.56 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การผลิตรอบปี 2556 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.18 จากผลกระทบภัยแล้ง
กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 3.33 และ 23.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง ต้องมีการพักบ่อเพื่อตัดวงจรโรค ทำให้ผลผลิตมีปริมาณลดลง ขณะที่การผลิตช่วงปี 2556 ลดลงร้อยละ 12.09 แม้ว่าการผลิตกุ้งจะมีปริมาณลดลง แต่มีการผลิตปลาทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการสำรองวัตถุดิบนำเข้ามากจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก
กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.56 และ 22.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การผลิตช่วงปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 35.07 เนื่องจากการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยจากปัญหาไข้หวัดนกในหลายประเทศ ทำให้การส่งออกไก่แช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรป และจากการนำเข้าไก่แปรรูปเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น ทดแทนจากจีนที่ประสบปัญหาไข้หวัดนกรอบใหม่
กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.38 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.92 และการผลิตช่วงปี 2556 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 7.33 เป็นผลจากการกลับมาสั่งซื้อของประเทศนำเข้า ได้แก่ กลุ่มสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่กลับมาปกติ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังอยู่ในบางประเทศเท่านั้น
กลุ่มน้ำตาลทราย ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 187.47 เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล และการผลิตปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.13 จากการที่อ้อยได้รับผลกระทบภัยแล้ง ทำให้ต้องเลื่อนเวลาส่งเข้าหีบในโรงงานในปีก่อน และการผลิตช่วงปี 2556 ลดลงร้อยละ 2.79 เนื่องจากคุณภาพอ้อยด้อยลง วัดได้จากค่า CCS ที่ได้ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืช ปริมาณการผลิตลดลง จากไตรมาสก่อนร้อยละ 12.20 เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลงตามฤดูกาล และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 4.43 ส่วนการผลิตช่วงปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.90 เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับผลิตภัณฑ์นม การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.04 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการผลิตช่วงปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 9.80 จากการที่โรงงานนมพร้อมดื่มกลับมาผลิตได้หลังเกิดปัญหาอุทกภัยในช่วงต้นปีก่อน และมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของอาหารสัตว์ การผลิตลดลงร้อยละ 9.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการลดลงของการเลี้ยงไก่และกุ้ง หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 5.02 และการผลิตช่วงปี 2556 ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 1.28 เนื่องจากมีความต้องการใช้ลดลง
ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2556 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศลดลงร้อยละ 10.23 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจลดลง จากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีการปรับขึ้นของราคาสินค้าจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานและค่าจ้าง และแม้ว่าภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัดในภาคตะวันออกและพื้นที่ภาคกลางจะคลี่คลาย แต่เกิดการชุมนุมทางการเมืองขึ้น จึงทำให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ดี แม้ระดับราคาสินค้าจะปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสินค้าปศุสัตว์ ผักผลไม้และผลิตภัณฑ์นม แต่ผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงและเงินเดือน ยังทำให้ภาพรวมปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.76 ในขณะที่การจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.98 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการจำหน่ายเครื่องดื่มอัดลมและชาพร้อมดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสมเพิ่มขึ้น จากการทำการส่งเสริมการตลาดอย่างรุนแรง ส่วนอาหารสัตว์ได้รับผลดีจากความต้องการเนื้อไก่และไก่แปรรูปเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น แต่สำหรับการเลี้ยงกุ้งยังคงชะลอการเลี้ยง ทำให้ความต้องการใช้อาหารกุ้งยังลดลง ทำให้การจำหน่ายภาพรวมลดลงร้อยละ 1.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ภาพรวมการจำหน่ายในประเทศตลอดช่วงปี 2556 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.33 เนื่องจากผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นเงินเดือนและค่าจ้างแรงงาน
ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2556 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 196,362.67 ล้านบาท โดยลดลงร้อยละ 4.98 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 3) เป็นผลจากการส่งออกน้ำตาล ผลิตภัณฑ์จากผักและผลไม้ และอาหารอื่นๆ และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 8.77 เป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศ ผู้นำเข้าหลักบางแห่งแม้ว่าจะมีสัญญาณที่ฟื้นตัว แต่ก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศในสหภาพยุโรปที่ยังมีสัญญาณฟื้นตัวไม่มากนัก ขณะที่ตลอดทั้งปี 2556 การส่งออกภาพรวมลดลงร้อยละ 9.31 โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ สรุปได้ ดังนี้
กลุ่มประมง มีมูลค่าการส่งออก 55,808.26 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.06 จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณและมูลค่าในเกือบทุกกลุ่มทั้งอาหารทะเลแปรรูปและแช่เย็นแช่แข็ง และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกลดลงร้อยละ 15.08 เนื่องจากคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรปที่ชะลอตัวลง เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เนื่องจากสหภาพยุโรปได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจซบเซา ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การบริโภคสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าทดแทน นอกจากนี้ปริมาณผลผลิตกุ้งในช่วงปี 2556 มีปริมาณลดลงจากเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง และส่งผลต่อเนื่องไปยังการส่งออกภาพรวมช่วงปี 2556 ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.67
กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออก 23,712.06 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.49 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อชะลอตัวลง แต่ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.51 จากการส่งออกผักสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้สด และผลไม้แปรรูปที่ส่งออกเพิ่มขึ้น โดยสินค้าสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง ส่งออกปรับตัวลดลง ร้อยละ 3.78 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการสั่งซื้อของสหภาพยุโรปลดลงอย่างไรก็ดีการส่งออกช่วงปี 2556 ในภาพรวมของกลุ่มผักผลไม้ สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.77
กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออก 21,803.04 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.69 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 0.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกไก่แช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นแต่มูลค่าเพิ่มต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปที่ส่งออกปรับตัวลดลง โดยช่วงปี 2556 การส่งออกภาพรวมของกลุ่มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.06
กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 78,713.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.68 จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.31 และ 12.67 หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.11 เป็นผลจากการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งมูลค่าการส่งออกลดลงเป็นอย่างมาก จากการที่ราคาในประเทศสูงจนไม่สามารถส่งออกได้ และการส่งออกภาพรวมของกลุ่มในช่วงปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.53
กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 11,460.74 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 40.37 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 1.28 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจากการส่งออกน้ำตาลในราคาที่ต่ำลง ประกอบกับการที่ประเทศผู้ผลิต เช่น อินเดีย และบราซิล กลับมาส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้สต็อกน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น ส่งผลต่อการส่งออกน้ำตาลในรอบปี 2556 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 30.08
กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 16,330.81 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 7.29 แต่เพิ่มขึ้นไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.08 โดยเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทสิ่งปรุงรสอาหาร ไขมันและน้ำมันพืช และนมและผลิตภัณฑ์นม ภาพรวมการส่งออกของกลุ่มในรอบปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 8.06
ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2556 การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีมูลค่ารวม94,448.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.06 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 4) โดยเป็นการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นม และเมล็ดพืชน้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.37 และ 8.86 เป็นผลจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมลดลงร้อยละ 1.95 เป็นผลจากการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น กากพืชน้ำมันลดลงจากการชะลอตัวลงของการใช้ผลิตอาหารสัตว์ที่ลดลง และจากราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการนำเข้าในภาพรวมของปี 2556 ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.68
ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2556 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ ในลักษณะการรับจำนำผลผลิต และการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและระดับราคาจำหน่ายลดลง รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาด้านปัจจัยการผลิต ได้แก่
1.คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 เห็นชอบตามที่ประธาน คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชเสนอ คือ การเปิดตลาดเสรีนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองภายใต้กรอบ WTO โดยนำเข้าเสรีไม่จำกัดปริมาณและช่วงเวลานำเข้าในอัตราภาษีร้อยละ 0 โดยการมีแนวทางการบริหารการนำเข้าของคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชกำหนด และรับทราบแนวทางการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง มะพร้าว เนื้อมะพร้าวแห้ง น้ำมันมะพร้าว ปี 2557 นอกจากนี้ มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หารือดำเนินการเพิ่มการปลูก และถ่ายทอดเทคโนโลยีในการปลูกถั่วเหลืองในพื้นที่ปลูกข้าว เพื่อเพิ่มปริมาณและลดต้นทุนให้เกษตรกร และเป็นทางเลือกที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่อไป
2.คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 เห็นชอบตามที่กระทรวง อุตสาหกรรมเสนอ 1) ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการปลูก 2556/57 ที่ 900 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวาน 10 CCS หรือร้อยละ 96.21 ของประมาณราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศที่ราคา 938.48 บาทต่อตันอ้อย และมีอัตราขึ้นลงเท่ากับ 54 บาทต่อ 1 CCS ต่อตันอ้อย 2) ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลขั้นต้น เท่ากับ 385.11 บาทต่อตันอ้อย โดยมอบให้เร่งทบทวนโครงสร้างการคำนวณต้นทุนการผลิตอ้อยให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นราคาที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยศึกษาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และนำเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
3.สรุปและแนวโน้ม
ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2556 ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมอยู่ในช่วงปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน หากไม่นับรวมการผลิตน้ำตาล เนื่องจากไตรมาสก่อนเป็นช่วงปิดฤดูการหีบอ้อย แต่หากนับรวมน้ำตาล การผลิตจะขยายตัวจากไตรมาสก่อนเป็นอย่างมาก และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การผลิตในภาพรวมปรับตัวสูงขึ้น ส่วนการส่งออกปรับตัวลดลงจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดหลักซบเซาจากภาวะหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย นอกจากนี้สต็อกสินค้าในตลาดโลกที่สำคัญ คือ น้ำตาลทราย แม้ว่าสต็อกที่คาดการณ์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ผลจากที่ประเทศอินเดีย และบราซิล มีผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้น และคาดว่าจะส่งออกน้ำตาลได้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อระดับราคาน้ำตาลที่ชะลอตัวลง ในส่วนสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ สินค้าไก่แปรรูป ปริมาณความต้องการจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการพิจารณายกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากกรณีไข้หวัดนกของสหภาพยุโรป ส่งผลต่อการส่งออกไก่ของไทยเพิ่มขึ้น แต่อาจไม่เป็นผลดีนักจากการส่งออกไก่สดที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าไก่แปรรูป ซึ่งจะทำให้ราคาและรายได้ของผู้ประกอบการลดลง แต่อาจได้รับอานิสงค์จากการที่ประเทศจีนเกิดพบการระบาดของไข้หวัดนกรอบใหม่ ซึ่งจะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้ามันสำปะหลัง เนื่องจากได้รับผลดีจากการนำเข้าจากจีนที่เริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าที่ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเล โดยเฉพาะวัตถุดิบกุ้ง ยังประสบปัญหาโรคตายด่วน ทำให้วัตถุดิบลดลง แต่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นจากการทดลองแก้ไขปัญหาลดอัตราการสูญเสียได้บ้าง
การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากคำสั่งซื้อจะชะลอตัวภายหลังเทศกาลจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ การจำหน่ายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง แม้จะได้รับผลดีจากการปรับค่าแรงและเงินเดือน แต่จะส่งผลทำให้การบริโภคในประเทศปรับตัวลดลง สำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน จีนและญี่ปุ่นยังขยายตัว ประกอบกับระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นภายหลังเกิดภัยแล้งในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดีมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังส่งผลต่อการผลิตและส่งออก คือ ปริมาณวัตถุดิบหลายชนิดได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง น้ำท่วมและโรคระบาด โดยเฉพาะกุ้งที่ปริมาณวัตถุดิบลดลง เนื่องจากโรคตายด่วนในลูกกุ้ง และผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศในสหภาพยุโรปจากปัญหาหนี้สาธารณะ แม้ว่าผู้บริโภคยังมีกำลังซื้ออยู่ แต่จากข่าวการที่รัฐบาลของหลายประเทศจะนำทองคำสำรองออกขายเพื่อลดหนี้ ทำให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจยังคงซบเซา และสหรัฐอเมริกาเริ่มปรับลดการใช้มาตรการซื้อคืนพันธบัตร ทำให้เป็นการลดการกระตุ้นอุปสงค์ และจากการที่งบประมาณ ซึ่งแม้ว่าจะได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรสในช่วงเดือนมกราคม 2557 แต่อาจกลับมาเกิดซ้ำได้ เริ่มส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกจะลดต่ำลง นอกจากนี้ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออก จากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงบ้าง แต่อาจอ่อนค่าลงไม่มากเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ซึ่งเป็นผลจากการเงินทุนไหลออกไปประเทศ จากการขายในตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ระยะสั้น และการปรับชะลอการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น และค่าเงินในภูมิภาคเอเชียปรับตัวอ่อนค่าลง แต่ระดับราคาสินค้าของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ประกอบกับการค้าของไทยยังผูกกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกามากกว่าเงินสกุลอื่น ทำให้การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปรับชะลอตัวลงได้
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--