สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2556 (กรกฎาคม – กันยายน 2556)(อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 27, 2013 13:20 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

Highlight
  • ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2556 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 275.02 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 1.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 2.98 และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการที่ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายและความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกลดลง
  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2556 มีมูลค่า 11,047.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากความต้องการในตลาดหลักชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น
  • ในไตรมาส 4/2556 คาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกเป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.99 และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.64
การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 3/2556 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 275.02 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.16 โดยเฉพาะ HDD ขณะที่ในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 11.04 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลจากฤดูกาลทำให้ตลาดมีความต้องการในไตรมาสนี้ลดลง ยกเว้นเครื่องรับโทรทัศน์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.22 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อน โดยมาจากการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ดิจิตอลเพื่อจำหน่ายในช่วงปลายปีรองรับการแพร่ภาพในระบบดิจิตอล

นอกจากนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.55 โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 2.98 ซึ่งกลุ่มที่มีการผลิตลดลง ได้แก่ คอมเพรสเซอร์ พัดลม ตู้เย็น กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว เนื่องจากผู้บริโภคใน

ประเทศมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นจากการใช้เงินล่วงหน้าไปแล้วกับนโยบายของภาครัฐ และตลาดส่งออกชะลอตัวลง ขณะที่เครื่องปรับอากาศ สายไฟฟ้า และเครื่องรับโทรทัศน์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย (บ้าน คอนโดมิเนียม) และภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานที่ขยายตัว อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกที่สามารถขยายตัวได้เช่นกัน สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.23 ซึ่งเป็นไตรมาสที่มีการปรับตัวลดลงน้อยกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจาก HDD ที่มีการปรับตัวลดลงเพียงร้อยละ 0.74 (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 1) เนื่องจากผู้ผลิต HDD มีความมั่นใจว่าจะไม่เกิดภาวะน้ำท่วม ทำให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาในส่วนของ

ผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้งานระบบ Cloud Computing และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะรองรับการจัดเก็บข้อมูลที่มีจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการคอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊คลดลงส่งผลกระทบให้อุตสาหกรรม HDD/ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ชะลอตัวลงตามไปด้วย โดยบริษัทวิจัย isuppli ได้รายงานว่าในไตรมาส 3/2556 การจำหน่ายคอมพิวเตอร์ ทั่วโลกลดลงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 และคาดว่าการจำหน่ายคอมพิวเตอร์ในปี 2556 จะลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปี 2555

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในไตรมาส 3/2556 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากฤดูกาลที่อยู่ในช่วง low season ทำให้ตลาดมีความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้า ในไตรมาสนี้ลดลง

สำหรับการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิตเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิตคอมเพรสเซอร์ เครื่องซักผ้า เตาอบไมโครเวฟ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.37 13.45 17.40 3.24 และ 7.23 ตามลำดับ ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการจำหน่ายลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ พัดลม ตู้เย็น กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว ลดลงร้อยละ 20.53 23.09 15.69 และ 14.84 ตามลำดับ (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 2)

การส่งออก

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2556 มีมูลค่า 13,619.21 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.89 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวลดลงร้อยละ 1.29 โดยมาจากในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการส่งออกไปตลาดหลักลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 3)

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 3/2556 มีมูลค่า 5,627.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.05 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 5.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งตลาดหลักที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 16.10 8.01 และ 6.79 ตามลำดับ ขณะที่อาเซียนและสหภาพยุโรปปรับตัวเพิ่มร้อยละ 12.18 และ 0.83 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2556 มีมูลค่า 7,992.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 5.68 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยสินค้าหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี วงจรพิมพ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.26 และ 21.16 ทั้งนี้ ตลาดหลักของอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการขยายตัว ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.61 สินค้าหลักที่เพิ่มขึ้น คือ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี วงจรพิมพ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.51 และ 59.77 ซึ่งเมื่อพิจารณาการส่งออก อิเล็กทรอนิกส์ไปตลาดหลักเกือบทุกตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้นญี่ปุ่นที่มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 10.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแล้วการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของไทยสอดคล้องกับทิศทางของโลกโดย Semiconductor Industry Association รายงานว่าการจำหน่าย Semiconductor ของโลกในไตรมาส 3/2556 มีมูลค่า 80.92 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.40 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดหลักส่วนใหญ่มีการขยายตัว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เอเชียแปซิฟิก สหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.93 10.12 และ 6.09 ตามลำดับ ยกเว้นญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 12.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การนำเข้า

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2556 มีมูลค่า 11,047.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวลดลงร้อยละ 8.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 3/2556 คิดเป็นมูลค่า 4,488.36 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.68 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 9.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2556 มีมูลค่า 6,558.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 3)

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 3/2556

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2556 อยู่ในภาวะชะลอตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลงเนื่องจากผู้บริโภคในประเทศมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นจากการใช้เงินล่วงหน้าไปแล้วกับนโยบายของภาครัฐประกอบกับการเปลี่ยนแปลงความต้องการเทคโนโลยีของโลกในการใช้แท็บเล็ต/สมาร์ทโฟนแทนการใช้คอมพิวเตอร์ ทำให้ความต้องการ HDD/ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลง ส่งผลให้ การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปจีนลดลงอย่างมาก เนื่องจากจีนเป็นฐานการผลิตคอมพิวเตอร์เพื่อส่งออกไปตลาดโลก

แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 4/2556

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2556 คาดว่าการผลิตจะทรงตัว โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะขยายตัวร้อยละ 0.99 ซึ่งมาจากสินค้าในกลุ่มตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ สายไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.64 เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเข้ามามาก ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้งานระบบ Cloud computing และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะมารองรับการจัดเก็บข้อมูลที่มีจำนวนมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ