สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2556 (กรกฎาคม – กันยายน 2556)(อุตสาหกรรมยานยนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 27, 2013 13:26 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากปีก่อนหน้ามีฐานสูงอันเนื่องมาจากการเร่งผลิตรถยนต์อันเป็นผลจากนโยบายรถยนต์คันแรก ประกอบกับในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สามารถผลิตและส่งมอบรถที่เป็นยอดตกค้างให้กับผู้บริโภคจากโครงการรถยนต์คันแรกได้เรียบร้อยแล้ว
  • สถานการณ์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 สถานการณ์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2556 มีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวม 47 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวมกว่า 35,871 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 6,328 คน ในจำนวนนี้มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 6 โครงการ คือ 1) โครงการของบริษัท สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับรถบรรทุกขนาดเล็กและชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ได้แก่ เสื้อสูบ (Cylinder block) ฝาสูบ (Cylinder head) เพลาข้อเหวี่ยง (Crank shaft) และเพลาลูกเบี้ยว (Cam Shaft) มีเงินลงทุน 17,730.20 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 1,178 คน 2) โครงการของบริษัท อีซูซุเอ็นยิ่นแมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริม ให้ผลิตเครื่องยนต์ดีเซล มีเงินลงทุน 1,777.70 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 56 คน 3) โครงการของบริษัทอนโดะ ชินโช (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชุดเฟืองระบบเกียร์อัตโนมัติ มีเงินลงทุน 1,722 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 125 คน 4) โครงการของบริษัท จี-เทคคุโตะ อีสเทิร์น จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูปสำหรับยานพาหนะ มีเงินลงทุน 1,600 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 230 คน 5) โครงการของบริษัท MR.HIROKI FUJIL ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนอลูมิเนียมสำหรับยานยนต์ มีเงินลงทุน 1,600 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 87 คน และ 6) โครงการของบริษัท MR. MOTOHIKO SUZUKI ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูปสำหรับยานพาหนะ มีเงินลงทุน 1,400 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 230 คน (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.boi.go.th) .
อุตสาหกรรมรถยนต์โลก (รวบรวมข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2556 จาก FOURIN)
  • อุตสาหกรรมรถยนต์โลกในช่วงหกเดือนแรกของปี 2556 (ม.ค.-มิ.ย.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 40,820,631 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 0.0043 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 30,434,305 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 0.46 และผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์10,364,599 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 1.19 เมื่อพิจารณาประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น พบว่าในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2556 จีนมีการผลิตรถยนต์ จำนวน 10,751,036 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.34 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งโลก และสหรัฐอเมริกามีการผลิตรถยนต์จำนวน 5,687,045 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.93 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งโลก ญี่ปุ่นมีการผลิตรถยนต์ จำนวน 4,674,956 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.45 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งโลก
  • การจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลกในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี 2556 (ม.ค.-ก.ค.) มีการ จำหน่ายรถยนต์ 46,622,246 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 19.70 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 34,276,748 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 12,345,498 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 18.66 และ 22.69 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ พบว่า จีนมีการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี 2556 จำนวน 12,297,863 คัน คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 26.38 ของปริมาณจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลก สหรัฐอเมริกามีการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี 2556 จำนวน 9,295,852 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.07 ของปริมาณจำหน่ายรถยนต์ทั้งโลก ญี่ปุ่นมีการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี 2556 จำนวน 3,183,753 คัน คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 6.83 ของปริมาณจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลก
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศจีน มีปริมาณการผลิตรถยนต์ในช่วงเก้าเดือน ของปี 2556 (ม.ค.-ก.ย.) จำนวน 15,938,136 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 12.73 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 12,927,251 คัน ลดลงร้อยละ 13.70 และการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 3,010,885 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.78 สำหรับการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงเก้าเดือนของปี 2556 (ม.ค.-ก.ย.) มีจำนวน 15,882,585 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 12.67 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 12,849,034 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.01 และการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 3,033,551 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.34
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีปริมาณการผลิตรถยนต์ในช่วงเก้าเดือนของปี 2556 (ม.ค.-ก.ย.) จำนวน 8,326,694 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 6.71 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 3,294,624 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.93 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และการผลิตรถบรรทุก 5,032,070 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 7.00 สำหรับการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงเก้าเดือนของปี 2556 (ม.ค.-ก.ย.) มีจำนวน 11,984,845 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 7.76 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 5,817,696 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.19 และการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 6,167,149 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 10.30
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่น มีปริมาณการผลิตรถยนต์ในช่วงแปด เดือนของปี 2556 (ม.ค.-ส.ค.) จำนวน 6,265,689 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 9.57 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 5,326,181 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 10.70 และการผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ 939,508 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 2.61 สำหรับการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงแปดเดือนของปี 2556 (ม.ค.-ส.ค.) มีจำนวน 3,550,507 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 7.33 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 3,023,972 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 8.00 และการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ จำนวน 526,535 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 3.29
อุตสาหกรรมรถยนต์

การผลิต ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2556 (ก.ค.-ก.ย.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 589,292 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 662,321 คัน ร้อยละ 11.03 โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 258,742 คัน ลดลงร้อยละ 7.20 รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ 315,496 คัน ลดลงร้อยละ 15.50 แต่รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 15,054 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.40 หากพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาส ที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงร้อยละ 4.87 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ ลดลงร้อยละ 2.81 และ 6.64 และ 1.56 ตามลำดับ

การจำหน่าย ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2556 (ก.ค.-ก.ย.) มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ 293,492 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ 392,826 คัน ร้อยละ 25.29 หากแยกตามประเภทรถยนต์ มีการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 145,801 คัน รถปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ 110,029 คัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 19,641 คัน และรถยนต์ PPV (รวมรถยนต์ SUV) 18,021 คัน โดยการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์และรถยนต์ PPV ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 24.30 29.01 และ 30.05 ตามลำดับ แต่มีการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.86 หากพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงร้อยละ 9.96 โดยการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ และรถยนต์ PPV(รวม SUV) ลดลงร้อยละ 1.91, 19.46, 4.86 และ 10.13 ตามลำดับ

การส่งออก ปริมาณการส่งออกรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2556 (ก.ค.-ก.ย.) มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ (CBU) จำนวน 305,178 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการส่งออกรถยนต์ 281,396 คัน ร้อยละ 8.45 ถ้าหากคิดเป็นมูลค่าการส่งออกมีมูลค่า 140,234.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์ 136,582.13 ล้านบาท ร้อยละ 2.67 หากพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.88 และเมื่อคิดเป็นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.76

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งของไทยในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่า 140,985.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 42.96 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถยนต์นั่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 25.31, 19.34 และ 10.76 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถยนต์นั่งไปออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 113.78 และ 33.48 ตามลำดับ แต่มูลค่าการส่งออกไปอินโดนีเซียลดลงร้อยละ 15.23 มูลค่าการส่งออกรถแวนและปิกอัพของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่า 11,233.94 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 17.85 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถแวนและปิกอัพ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และบรูไน คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 87.37, 4.71 และ 2.18 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถแวนและปิกอัพไปญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 15.76 แต่การส่งออกไปออสเตรเลียและบรูไนเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.12 และ 5.89 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกรถบัสและรถบรรทุกของไทยในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่า 237,381.34 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 0.66 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถบัสและรถบรรทุก ได้แก่ ออสเตรเลีย ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 24.82, 10.36 และ 4.60 ตามลำดับ โดยการส่งออก รถบัสและรถบรรทุกไปออสเตรเลีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.71 แต่การส่งออกไปซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลดลงร้อยละ 3.96 และ11.55 ตามลำดับ

การนำเข้า การนำเข้ารถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2556 (ก.ค.ก.ย.) มีการนำเข้ารถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก คิดเป็นมูลค่า 9,660.69 และ 4,643.47 ล้านบาท ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า การนำเข้ารถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ลดลงร้อยละ 3.09 และ 22.00 ตามลำดับ หากพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า การนำเข้ารถยนต์นั่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.61 และการนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุก เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.27 แหล่งนำเข้ารถยนต์นั่งที่สำคัญในช่วงเก้า เดือนแรกของปี 2556 ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 31.26, 23.80 และ 18.56 ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถยนต์นั่งจากอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี ลดลงร้อยละ 11.42, 42.37 และ 10.38 ตามลำดับ ส่วนแหล่งนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี และเกาหลีใต้ คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 23.55, 20.56 และ 10.90 ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ลดลงร้อยละ 71.39 และ 13.07 ตามลำดับ แต่การนำเข้ารถยนต์นั่งจากเยอรมนี เพิ่มขึ้นร้อยละ 261.48

สรุปและแนวโน้มรถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่สามของปี 2556 มีปริมาณการผลิตและการจำหน่ายชะลอตัว เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ได้ทยอยส่งมอบรถยนต์ตามโครงการรถยนต์คันแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ดีการส่งออกมีการขยายตัว ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดในต่างประเทศ อุตสาหกรรมรถยนต์ ไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 คาดว่าจะทรงตัว เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2555 แต่จะขยายตัวในไตรมาสสุดท้ายซึ่งเป็นฤดูการขาย บริษัทรถยนต์แต่ละค่ายจัดส่งเสริมการตลาด เพื่อกระตุ้นตลาดในประเทศ โดยข้อมูลจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถยนต์ ประมาณการว่า ในไตรมาสที่สี่ของปี 2556 จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 6 แสนคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 45-50

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์

การผลิต ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2556 (ก.ค.-ก.ย.) มีจำนวน 552,296 คัน ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ 679,245 คัน ร้อยละ 18.69 แบ่งเป็นการผลิตรถจักรยานยนต์ แบบครอบครัว 464,243 คัน ลดลงร้อยละ 24.48 แต่มีการผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 88,053 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.43 หากพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมามีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 8.99 โดยมีการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว ลดลงร้อยละ 10.60 แต่การผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.58

การจำหน่าย ตลาดรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2556 (ก.ค.-ก.ย.) มีจำนวน 492,120 คัน ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ 538,351 คัน ร้อยละ 8.59 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 235,399 คัน ลดลงร้อยละ 5.89 การจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสกูตเตอร์ 214,811 คัน ลดลงร้อยละ 19.34 แต่มีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 41,910 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 91.33 หากพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 10.34 โดยมีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว รถจักรยานยนต์แบบสกูตเตอร์ ลดลงร้อยละ 9.41 และ 13.80 ตามลำดับ แต่มีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.15

การส่งออก ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU&CKD) ของประเทศไทยในช่วง ไตรมาสที่สามของปี 2556 (ก.ค.-ก.ย.) จำนวน 222,853 คัน (เป็นการส่งออก CBU จำนวน 89,006 คัน และ CKD จำนวน 133,847 ชุด) เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ 191,963 คัน ร้อยละ 16.09 หากคิดเป็นมูลค่าการส่งออกมีมูลค่าการส่งออก12,798.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 6,418.45 ล้านบาท ร้อยละ 99.40 หากพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2556 เปรียบเทียบกับ ไตรมาสที่ผ่านมา มีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU&CKD) ลดลงร้อยละ 7.71 แต่เมื่อคิดเป็นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.54

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ของไทยในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่า 28,163.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 25.38 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถจักรยานยนต์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 15.07, 14.71 และ 13.49 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถจักรยานยนต์ไป สหราชอาณาจักร และอินโดนีเซีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.67 และ 42.90 ตามลำดับ แต่การส่งออกรถจักรยานยนต์ไปสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 16.83

การนำเข้า การนำเข้ารถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2556 (ก.ค.-ก.ย.) มีการนำเข้ารถจักรยานยนต์ คิดเป็นมูลค่า 731.85 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการนำเข้ารถจักรยานยนต์ 1,019.41 ล้านบาท ร้อยละ 28.21 หากพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า การนำเข้ารถจักรยานยนต์ ลดลงร้อยละ 56.64 จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า แหล่งนำเข้ารถจักรยานยนต์ที่สำคัญในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2556 ได้แก่ เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า ร้อยละ 74.24, 5.07 และ 4.55 ตามลำดับ โดยมีการนำเข้ารถจักรยานยนต์จากเวียดนาม สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 229.06, 118.69 และ 2.71 ตามลำดับ

สรุปและแนวโน้ม รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่สามของปี 2556 การผลิตหดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี สำหรับอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไตรมาสที่สี่ของปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่สามของปี 2556 โดยข้อมูลจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ ประมาณการว่า ในไตรมาสที่สี่ของปี 2556 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์ (CBU) 5.7 แสนคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 85-90 และการผลิตเพื่อการส่งออก ร้อยละ 10-15

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (OEM) ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2556 (ก.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 50,851.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 9.11 การส่งออกเครื่องยนต์มีมูลค่า 7,088.32 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 0.84 และการส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ 5,627.69 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 1.18 หากพิจารณา ในไตรมาสที่สามของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่ามูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (OEM) เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.11, 13.14 และ 22.92 ตามลำดับ

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของไทยในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่า 165,196.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 2.04 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 15.01, 11.80 และ 11.21 ตามลำดับ โดยการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ไป อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.05 และ 14.59 ตามลำดับ แต่การส่งออกไปญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 16.01

การส่งออกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ (OEM) ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2556 (ก.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 1,515.26 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 27.30 การส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีมูลค่า 294.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 43.60 หากพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ (OEM) ลดลงร้อยละ 8.58 แต่การส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.75

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ของไทยในช่วงเดือนเก้าเดือนแรก ของปี 2556 มีมูลค่า 18,569.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 6.91 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ ได้แก่ บราซิล อินโดนีเซีย และกัมพูชา คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 11.59, 11.55 และ 10.05 ตามลำดับ โดยการส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ไปบราซิล เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.09 แต่การส่งออกไปอินโดนีเซียและกัมพูชา ลดลงร้อยละ 30.19 และ 5.78 ตามลำดับ

การนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2556 (ก.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 89,691.32 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 18.42 หากพิจารณาไตรมาสที่สามของปี 2556 เปรียบเทียบกับ ไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ลดลงร้อยละ 1.28 แหล่งนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ที่สำคัญในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2556 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 51.12, 11.65 และ 4.80 ตามลำดับ โดยการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์จากญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 2.17 แต่การนำเข้าจากจีน และอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.98 และ 38.28 ตามลำดับ

การนำเข้าชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2556 (ก.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 4,365.51 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ลดลงร้อยละ 0.06 หากพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.74 แหล่งนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ที่สำคัญในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2556 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 38.43, 15.28 และ 10.23 ตามลำดับ โดยการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์จากญี่ปุ่นและจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.33 และ 0.77 ตามลำดับ แต่การนำเข้าไปอินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 1.36

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
  • เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิงเฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 1 ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่ กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยมีสาระสำคัญของร่าง พระราชกฤษฎีกา ดังนี้

1) กำหนดให้ร่างพระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

2) กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง เฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 1 ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2555 -2554 ตามประกาศอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4416 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิงเฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 1 (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.thaigov.go.th)

  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ออกประกาศ ฉบับที่ ส 1/2556 ลงวันที่ 30 กันยายน 2556 เพื่อให้การส่งเสริมกิจการรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล รุ่นที่ 2 โดยเป็นการส่งเสริมให้เกิดการขยายฐานผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco car) ซึ่งเป็นรถยนต์ประเภทใหม่ที่ช่วยในการประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง มีความปลอดภัย และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.boi.go.th)

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ