สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2556 (กรกฎาคม – กันยายน 2556)(อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 27, 2013 13:28 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 3 โดยภาพรวมอยู่ในภาวะทรงตัว ทั้งนี้เนื่องจาก การส่งออกเคมีภัณฑ์ของไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนในภาพรวมมีการขยายตัวไม่มาก และญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญมีภาวะชะลอตัวลง เนื่องจากปัจจัยหลักคือค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ

การตลาด

การนำเข้า

การนำเข้าเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 มีมูลค่ารวม 112,568 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 3.35 โดยมีการนำเข้าเคมีภัณฑ์พื้นฐานลดลงจากไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 0.76 และเคมีภัณฑ์ขั้นปลายลดลงจากไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 7.11

เคมีภัณฑ์พื้นฐานมีมูลค่าการนำเข้าลดลงจากไตรมาสที่ 2 รวมประมาณ 525 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ได้แก่ อินทรีย์เคมี ซึ่งส่วนมากนำเข้าจากจีนและญี่ปุ่นรวมกันประมาณร้อยละ 51 ส่วนประเภทเคมีภัณฑ์ขั้นปลายมีมูลค่าการนำเข้าลดลงจากไตรมาสที่ 2 รวมประมาณ 3,373.26 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ซึ่งส่วนมากนำเข้าจากสหพันธรัฐรัสเซียและซาอุดีอาระเบียรวมกันประมาณร้อยละ 35 เป็นต้น

แนวโน้มของการนำเข้าเคมีภัณฑ์ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 คาดว่าจะมีการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของเคมีภัณฑ์พื้นฐาน และเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักในประเทศไทยมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูการผลิตทางการเกษตร

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 มีมูลค่ารวม 59,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 0.46 มีสัดส่วนของการส่งออกเคมีภัณฑ์พื้นฐานและเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย คิดเป็นร้อยละ 55 และ 45 ตามลำดับ โดยมีการส่งออกเคมีภัณฑ์พื้นฐานลดลงจากไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 1.95 และส่งออกเคมีภัณฑ์ขั้นปลายเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 3.61

เคมีภัณฑ์พื้นฐานมีมูลค่าการส่งออกลดลงจากไตรมาสที่ 2 รวมประมาณ 660 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ อนินทรีย์เคมี และอินทรีย์เคมี ซึ่งส่วนมากส่งออกไปญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ส่วนเคมีภัณฑ์ขั้นปลายมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 รวมประมาณ 937 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องสำอาง ซึ่งส่วนมากส่งออกไปยังญี่ปุ่น และตลาดอาเซียน

แนวโน้มการส่งออกเคมีภัณฑ์ในช่วงที่เหลือของปี 2556 ของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดการค้าเคมีภัณฑ์ของประเทศอินเดียซึ่งมีความต้องการเพิ่ม เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมภายในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ และตลาดการค้าเคมีภัณฑ์ของจีนซึ่งภาครัฐมีการขยายการลงทุนเพิ่มและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการส่งออกของไทยไปอาเซียนซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากการขยายตัวของกลุ่มประเทศ CLMV จึงทำให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้น สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และแนวโน้ม

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 3 มีอัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 2 เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดหลักที่ไทยส่งออกเคมีภัณฑ์ มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มุ่งเน้นการกระตุ้นการบริโภค และขยายการลงทุนเพิ่ม และตลาดอาเซียนรวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนมูลค่าการนำเข้ามีอัตราลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักของประเทศซึ่งใช้เคมีภัณฑ์มีการส่งออกในไตรมาส 3 ที่หดตัว อาทิ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

แนวโน้มไตรมาสที่ 4 ปี 2556 คาดว่าอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะทรงตัว เนื่องจากมีปัจจัยลบ คือ ปัญหาทางการเมืองภายในประเทศทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลในการจับจ่ายใช้สอย และตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญมีภาวะชะลอตัวลง ส่วนปัจจัยบวก คือ การส่งออกเคมีภัณฑ์ของไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนในภาพรวมมีการขยายตัว ในประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และจีนมีนโยบายกระตุ้นการบริโภค และขยายการลงทุนเพิ่ม รวมถึงอินเดียเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า และโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้คาดว่าการส่งออกเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ