สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2556 (กรกฎาคม – กันยายน 2556)(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 27, 2013 13:35 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ในไตรมาสนี้ การผลิตยังทรงตัว เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเยื่อกระดาษสูงขึ้น โดยเฉพาะยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นผลจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชเกษตรอื่น ๆ เช่น ข้าว และอ้อย ที่มีผลตอบแทนที่สูงกว่า สำหรับกระดาษพิมพ์เขียนมีการผลิตลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับกระดาษที่นำเข้าจากประเทศจีน และอินโดนีเซียได้

การผลิต

ไตรมาส 3 ปี 2556 การผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.72 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 1) โดย ในส่วนของกระดาษ ได้แก่ กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก มีการผลิตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.15 3.14 และ 6.80 ตามลำดับ ซึ่งยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์เพื่อการบรรจุหีบห่อ ประกอบกับความต้องการใช้ในภาคการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรม เครื่องสำอาง แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเยื่อกระดาษทรงตัว สำหรับกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก มีการผลิตลดลง ร้อยละ 19.39 4.14 5.30 และ 2.51 ตามลำดับ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อ ลดลง ซึ่งกระดาษส่วนใหญ่จะนำไปผลิตในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคซึ่งอยู่ในภาวะชะลอตัวจากหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นในไตรมาสนี้ ประกอบกับกระดาษพิมพ์เขียนได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราภาษี ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับกระดาษพิมพ์เขียนที่นำเข้าจากประเทศจีน และอินโดนีเซียซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่าได้ ซึ่งผู้ประกอบการควรมุ่งเน้นไปผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มแทนการนำไปผลิตกระดาษพิมพ์เขียน

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

1. เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 40.45 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.74 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 292.83 (ตารางที่ 2) เป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดต่าง ๆ ขยายตัวจากการส่งมอบสินค้าต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน เพื่อจัดจำหน่ายต่อและนำไปผลิตสินค้าที่ผลิตจากเยื่อกระดาษตามการใช้งาน และเติบโตตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อาทิ จีน ฝรั่งเศส อินเดีย และประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะ ประเทศคู่ค้าหลัก คือ จีน จะมีอิทธิพลต่อมูลค่าการส่งออกของไทยสูง เพราะมีความต้องการใช้ในปริมาณที่มากกว่าประเทศอื่น ๆ โดยมีสัดส่วนการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษ กระดาษจากไทย กว่าร้อยละ 50 ของการส่งออกเยื่อกระดาษและเศษกระดาษทั้งหมด ดังนั้น หากบางช่วงจีนไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ก็จะมีการนำเข้าจากไทยเพิ่มมากกว่าปกติ

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 402.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 1.55 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 2) แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.55 เนื่องจากตลาดส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษที่สำคัญโดยเฉพาะประเทศเวียดนาม เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย มีการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียน เพิ่มขึ้น ซึ่งกระดาษชนิดนี้ประเทศไทยมีสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกมากที่สุดเมื่อเทียบกับกระดาษชนิดอื่น ๆ สูงถึงร้อยละ 36.80 ของมูลค่าการส่งออก กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ รองลงมา คือ กระดาษ ชำระ กระดาษแข็ง บรรจุภัณฑ์กระดาษ (หีบ กล่อง ซองฯ) กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษอื่น ๆ และ กระดาษคราฟท์ คิดเป็น สัดส่วนร้อยละ 22.04 17.24 11.51 10.71 และ 1.70 ตามลำดับ

3. หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 24.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 7.71 และร้อยละ 5.92 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ของไทยไปตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยปรับตัวลดลง นอกจากนี้ยังมีตลาดสหรัฐอเมริกา เวียดนาม เมียนมาร์ และออสเตรเลีย ที่มีการนำเข้าจาก ไทยลดลงเช่นกัน ร้อยละ 38.56 16.31 48.79 และ 54.14 ตามลำดับ

การนำเข้า

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 160.65 ล้าน เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.86 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ภายในประเทศ เพื่อผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทั้งนี้ การนำเข้าเยื่อกระดาษ และเศษกระดาษส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าในกลุ่มสินค้าที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้ อาทิ เยื่อกระดาษใยยาว และกระดาษที่มีคุณสมบัติพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศแคนาดา แอฟริกาใต้ สหรัฐเมริกา สวีเดน และชิลี แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการนำเข้าลดลง ร้อยละ 17.22 (ตารางที่ 3) สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้ากระดาษบางประเภท ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน ซึ่งมีราคาต่ำกว่ากระดาษที่ผลิตได้ในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต คือ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ลดลง

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 411.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.31 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3) โดยกระดาษและกระดาษแข็ง มีสัดส่วนการนำเข้า มากที่สุด ร้อยละ 57.59 ของการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ รองลงมา คือ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษและผลิตภัณฑ์ กระดาษอื่น ๆ กระดาษคราฟท์ และกระดาษหนังสือพิมพ์ มีสัดส่วนร้อยละ 16.11 15.37 6.68 และ 4.25 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มีการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนจากประเทศจีนจำนวนมากมาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เนื่องจากมีราคาถูกกว่าภายในประเทศ

3. สิ่งพิมพ์ ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 66.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.05 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.11 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าหนังสือ ตำรา แบบเรียน และวารสาร เพื่อการศึกษาและความบันเทิง โดยตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร มีสัดส่วนร้อยละ 31.35 13.51 12.34 และ 8.6 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

เดือนสิงหาคม 2556 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างอัตราอากรขาเข้าสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศที่ใช้วัตถุดิบและปัจจัยการผลิตดังกล่าวในการผลิตสินค้าโดยยกเว้นอากรขาเข้าปัจจัยการผลิตของอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ จำนวน 6 ประเภทย่อย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์และของที่ทำด้วยสิ่งทอ จำนวน 3 ประเภทย่อย คือ ประเภทย่อย 5911.10.00 5911.31.00 และ 5911.32.00 และผลิตภัณฑ์เซรามิกสำหรับใช้ตามห้องปฏิบัติการ ใช้ในทางเคมี หรือในทางเทคนิคอย่างอื่นจำนวน 3 ประเภทย่อย คือ ประเภทย่อย 6909.11.00 6909.12.00 และ 6909.19.00 เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ ซึ่งจะไม่มีผลกระทบกับผู้ประกอบการผลิตในประเทศ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวภาครัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษีศุลกากร แต่เมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์ในภาพรวมที่ประเทศจะได้รับแล้ว จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งให้กับผู้ประกอบการในประเทศให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาวะการผลิต ไตรมาสที่ 3 ปี 2556 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากฐานการผลิตในปีที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำ และส่วนใหญ่จะขยายตัวตามปริมาณความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ยกเว้น กระดาษพิมพ์เขียน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนจากจีน ที่มีราคาสินค้าต่ำกว่าราคาสินค้าที่ผลิตได้ภายใน

ประเทศ ประกอบกับราคาต้นทุนวัตถุดิบ (ยูคาลิปตัส) ปรับตัวสูงขึ้น จากการที่เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ได้ผลตอบแทนสูง ทดแทน ส่งผลให้ผู้ประกอบการในประเทศลดปริมาณการผลิตลง

การส่งออกเยื่อกระดาษและกระดาษ เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากตลาดหลัก ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส เวียดนาม เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถรักษาฐานการส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ราคาวัตถุดิบ ตลอดจนการปรับค่าจ้างแรงงานตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การส่งออกโดยเฉพาะสิ่งพิมพ์มีทิศทางปรับตัวลดลง

แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 4 ปี 2556 คาดว่า การผลิตทั้งเยื่อกระดาษและกระดาษโดยรวม จะขยายตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจและมีทิศทางเดียวกันกับไตรมาสที่ 2 สำหรับการส่งออกเยื่อกระดาษและสิ่งพิมพ์ มีแนวโน้มขยายตัวแม้ว่าจะมีการใช้สื่อดิจิทัลอย่างกว้างขวาง แต่กระดาษยังคงเป็นที่ต้องการใช้ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์เพื่อการบริโภคและอุปโภค ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องมีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและออกแบบใหม่ ๆ ให้สอดรับกับพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคและกระแสอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ