อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูฝน ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง การส่งออกปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากมีแนวโน้มความต้องการใช้ในประเทศสูงขึ้นตลอดทั้งปี บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์หลายรายจึงมีนโยบายสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศมากขึ้น และลดปริมาณการส่งออกลง สำหรับไตรมาสที่ 4 ปี 2556 คาดว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะหดตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยว แรงงานภาคก่อสร้างซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มเดียวกับภาคเกษตรจะกลับภูมิลำเนา ทำให้ภาคก่อสร้างขาดแคลนแรงงาน และการก่อสร้างโครงการต่างๆ ต้องชะลอตัวลง
การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 9.50 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 11.09 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 2.56 และ 9.00 ตามลำดับ สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 1.68 ทั้งนี้ เนื่องจากไตรมาสที่ 3 ของทุกปีเป็นช่วงฤดูฝนของไทย การก่อสร้างทั้งในโครงการของภาครัฐและภาคเอกชนจึงชะลอตัวลง
นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสนี้หดตัวลง ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.32
สำหรับในช่วง 9 เดือนแรก มีการผลิตปูนเม็ด 28.99 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 33.18 ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 2.52 การผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.62
การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 3 ปี 2556 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 9.40 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.19 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 9.21 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.87 และ 5.85 ตามลำดับ
สำหรับในช่วง 9 เดือนแรก มีการจำหน่ายปูนเม็ด 0.67 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 27.56 ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายปูนเม็ดลดลง ร้อยละ 22.99 การจำหน่ายปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.77
ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในช่วง 3 ไตรมาสแรก ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.62 และมีปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศสูงขึ้นร้อยละ 9.67 แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังมีการขยายตัวที่ดี
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2556 มีปริมาณการส่งออกรวม 2.21 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 126.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 0.40 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 17.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดลดลงร้อยละ 33.33 และ ร้อยละ 31.65 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดลดลงร้อยละ 72.03 และ ร้อยละ 70.17 ตามลำดับ ในส่วนของปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการส่งออกจำนวน 1.81 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า
108.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ทรงตัว โดยมีมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 0.97 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 5.73 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.01
ในช่วง 9 เดือนแรก มีการส่งออกปูนเม็ด 2.11 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 91.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 5.41 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 326.09 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดลดลง ร้อย 58.71 และ 56.97 ตามลำดับ ในส่วนของการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 0.91 แต่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.44
ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดที่ลดลงค่อนข้างมากทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และในช่วง 9 เดือนแรก เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าตลาดในประเทศจะมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิต
ปูนซีเมนต์รายใหญ่ของไทยมีนโยบายสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศ โดยลดปริมาณการส่งออกลง อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ต่อปูนซีเมนต์ในตลาดหลักของไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดในประเทศเพื่อนบ้านที่มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ เมียนมาร์ รองลงมา คือ กัมพูชา บังคลาเทศ ลาว และมาเลเซีย ตามลำดับ
การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 3 ปี 2556 มีปริมาณรวม 4,240.91 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.52 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 14.15 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 2.99 ในขณะที่มูลค่านำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.14
โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ด จำนวน 4.22 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.01 ล้านเหรียญสหรัฐ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 4,236.69 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในช่วง 9 เดือนแรก มีการนำเข้าปูนเม็ด 163.51 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 12,645.14 ตัน คิดเป็นมูลค่า 5.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการนำเข้าปูนเม็ดลดลงร้อยละ 49.73
ในขณะที่มูลค่า การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.67 ในส่วนของการนำเข้าปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณและมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 4.13 และ 4.01ตามลำดับ ทั้งนี้ การนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นปูนซีเมนต์ขาวชนิดพิเศษและอะลูมินัสซีเมนต์ ซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ อินเดีย รองลงมา คือ จีน เนเธอร์แลนด์ อียิปต์ และเกาหลีใต้ ตามลำดับ
ราคาปูนซีเมนต์มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรเนื่องมาจากราคาเชื้อเพลิงที่ขยับสูงขึ้นเมื่อกลางปี 2555 รวมถึงต้นทุนการขนส่งและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์บางรายได้ปรับขึ้นราคาขายปูนซีเมนต์บ้างแล้ว โดยเฉลี่ย 100-200 บาทต่อตัน ตามต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น
รัฐบาลไม่มีมาตรการ/นโยบาย รองรับสำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์โดยตรงแต่มีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
สรุปและแนวโน้ม
ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่การจำหน่ายในประเทศยังคงขยายตัวได้ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และในภาพรวมทั้งปีคาดว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ โครงการพัฒนาระบบขนส่งอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ จะมีไม่มากนัก แต่ผลจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าจะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมตามบริเวณแนวรถไฟฟ้า ขยายตัวได้ดี ส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์สูงขึ้น
ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ปรับตัวลดลงแม้ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมาร์และกัมพูชา ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยในอาเซียน จะมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมีแนวโน้มสูงตลอดทั้งปี บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยจึงลดปริมาณการส่งออกลง เพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศต่อไป
แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะปรับตัวลดลง เนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของทุกปีเป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยว แรงงานในภาคก่อสร้างจะทยอยกันกลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท เท่ากันทุกภาคส่วน ส่งผลให้ภาคก่อสร้างขาดแคลนแรงงาน และการก่อสร้างโครงการต่างๆ ต้องชะลอตัวลง
สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 คาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในไตรมาสแรกของปีถัดไป ซึ่งเป็นฤดูการก่อสร้างของไทย โดยแนวโน้มอุปสงค์ต่อปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงขึ้น จะส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตปูนรายใหญ่บางรายลดปริมาณการส่งออกลงเพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศต่อไป นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร ค่าจ้างแรงงาน ฯลฯ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกปูนซีเมนต์ของไทยในระยะต่อไป เนื่องจากการแข่งขันในตลาดต่างประเทศค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถปรับขึ้นราคาขายได้ และหากต้องขายในราคาเดิมก็จะประสบปัญหาขาดทุน ทั้งนี้ แม้ว่าคุณภาพปูนซีเมนต์ของไทยจะสามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ดี แต่ตลาดต่างประเทศยังคงมีความต้องการปูนซีเมนต์ที่มีคุณภาพพอใช้ได้ในราคาถูกมากกว่า
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--