สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2556 (กรกฎาคม – กันยายน 2556)(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 27, 2013 13:48 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน เติบโตเพิ่มขึ้นในตลาดใหม่แถบเอเชีย แม้ว่าการส่งออกในตลาดสหรัฐอเมริกา และตลาดสหภาพยุโรป จะลดลงอย่างต่อเนื่อง

การผลิต

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในภาพรวมยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิต เช่น วัตถุดิบไม้ ค่าขนส่ง และค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2556 มีปริมาณการผลิต 1.97 ล้านชิ้น (ดังตารางที่ 1) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.60 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการผลิตเพื่อส่งออก แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 16.88 สำหรับการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในช่วง 9 เดือนของปี 2556 มีปริมาณ 5.89 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 13.25

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดระดับล่าง ประกอบกับไม่มีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการซื้อเครื่องเรือนใหม่เหมือนปีก่อน การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้จึงลดลง โดยไตรมาส 3 ปี 2556 มีปริมาณการจำหน่าย 1.04 ล้านชิ้น (ดังตารางที่ 2) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.80 และ 9.57 ตามลำดับ สำหรับการจำหน่าย เครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในช่วง 9 เดือนของปี 2556 มีปริมาณ 3.23 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 5.83

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่ารวม 831.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ดังตารางที่ 3) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.60 และ 11.13 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนในตลาดใหม่แถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง เช่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย และซาอุดิอาระเบีย ทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าตลาดหลักทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นจะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องก็ตาม

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ในช่วง 9 เดือนของปี 2556 มีมูลค่ารวม 2,366.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.54 โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วน และกลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น เพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาเซียน

สำหรับรายละเอียดการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.22 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ ชิ้นส่วนเครื่องเรือน

การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่ารวม 259.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.03 และ 4.29 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ในช่วง 9 เดือนของปี 2556 มีมูลค่ารวม 745.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.05

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วย เครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.19 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องใช้ทำด้วยไม้ และรูปแกะสลักไม้

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่ารวม 51.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.40 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 10.63 สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ ในช่วง 9 เดือนของปี 2556 มีมูลค่ารวม 149.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 9.15

3) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วย ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และซาอุดิอาระเบีย การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.59 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ ไม้แปรรูป รองลงมา คือ ไฟเบอร์บอร์ด และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้อื่นๆ

การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่ารวม 520.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.02 และ 17.81 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ในช่วง 9 เดือนของปี 2556 มีมูลค่ารวม 1,471.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.80

การนำเข้า

การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ ได้แก่ ไม้แปรรูป ไม้อัดและไม้วีเนียร์ และไม้ซุง มาผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเครื่องเรือน โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ ไม้อัดและไม้วีเนียร์ ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน และมาเลเซีย และไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ และมาเลเซีย

การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่ารวม 176.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.40 และ 3.42 ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ในช่วง 9 เดือนของปี 2556 อยู่ในภาวะทรงตัว โดยมีมูลค่ารวม 518.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.18

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2556 ลดลงเนื่องจาก ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น อัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้นจึงทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ประกอบกับไม่มีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการซื้อเครื่องเรือนใหม่

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนในตลาดใหม่แถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2556 เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าวัตถุดิบไม้มาผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเครื่องเรือนเพื่อส่งออก

แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 4 ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ ที่ส่งผลให้ความต้องการเครื่องเรือนทำด้วยไม้เพิ่มขึ้น

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 4 ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดใหม่ในแถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 4 ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าวัตถุดิบไม้ที่ใช้ในการผลิตเครื่องเรือนเพื่อส่งออกเป็นสำคัญ

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ