สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2556 (กรกฎาคม – กันยายน 2556)(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 27, 2013 13:50 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมยาในภาพรวมของไตรมาสนี้เติบโตดีเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจาก เป็นช่วงที่สถานพยาบาลภาครัฐซึ่งเป็นตลาดหลักของผู้ผลิตยาเร่งใช้จ่ายงบประมาณ ส่งผลดีต่อการผลิตและการจำหน่ายในประเทศ รวมทั้งคู่ค้าในต่างประเทศจะทำการสั่งซื้อสินค้าในไตรมาสนี้ เพื่อบริหารสินค้าคงคลังในช่วงปลายปี ทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

การผลิต

ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 การผลิตยาในประเทศ มีปริมาณ 6,892.02 ตัน ลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.20 สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 มีปริมาณการผลิต 20,184.43 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.42 เนื่องจากผู้ผลิตชะลอการผลิต เพื่อระบายสินค้าคงคลังที่มีอยู่ก่อน นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตบางรายเปลี่ยนแผนการตลาด โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงไม่กี่รายการ เช่น ยารักษาโรคเฉพาะทางที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ (ความดัน เบาหวาน หัวใจ) จากเดิมที่เน้นผลิตยาที่จำหน่ายได้ปริมาณมาก แต่มูลค่าเพิ่มต่ำเป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการผลิตยาในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.03 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาลของรัฐในช่วงปลายปีงบประมาณ ประกอบกับการเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ทำให้มีการผลิตยาที่จำเป็นสำหรับน้ำท่วมมากขึ้น

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 มีปริมาณ 6,248.47 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10.42 สำหรับปริมาณการจำหน่ายช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 มี ปริมาณ 18,062.69 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.51 เนื่องจากยาที่ทำการตลาดใหม่ยังต้องอาศัยเวลาในการยอมรับจากแพทย์ผู้สั่งใช้ นอกจากนี้ การควบคุมการเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการข้าราชการ ทำให้ผู้รักษาไม่กล้าเบิกยาเกินจริง อาจมีผลต่อปริมาณการจัดซื้อของสถานพยาบาลภาครัฐซึ่งเป็นตลาดหลักของผู้ผลิต ตลอดจนราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีผลต่อราคาจำหน่าย รวมทั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการยกระดับยาหลายชนิดทำให้หาซื้อไม่ได้ในร้านขายยา เช่น ซูโดอีเฟดรีน อัลปราโซแลม เนื่องจากถูกนำไปผสมเป็นสารเสพติด ผู้ใช้จึงเปลี่ยนไปใช้ยาตัวใหม่ (ทรามาดอล) แทน ทำให้ยาชนิดนี้เป็นที่ต้องการ และถูกเฝ้าระวังตลอดจนควบคุมปริมาณการผลิต จำหน่าย และนำเข้าจากหน่วยงานที่กำกับดูแล

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการจำหน่ายขยายตัว ร้อยละ 8.19 เนื่องจากเข้าสู่ช่วงปลายปีงบประมาณ ทำให้โรงพยาบาลของรัฐเร่งการใช้จ่ายงบประมาณ นอกจากนี้ การเกิดปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ทำให้ยาจำเป็นสำหรับน้ำท่วมมีความต้องการ มากขึ้น

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 มีมูลค่า 2,188.26 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.67 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,472.50 ล้านบาท หรือร้อยละ 67.29 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด การส่งออกที่หดตัวลง เนื่องจากมูลค่าการส่งออกไปยังเวียดนามและกัมพูชามีมูลค่าลดลงมาก แต่ปริมาณการส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวไม่ได้ลดลง ดังนั้น อาจเกิดจากการส่งออกยาชื่อสามัญที่มีมูลค่าไม่สูงนัก เช่น กลุ่มยาแก้ไอ แก้หวัด เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.20 เนื่องจากคู่ค้าในต่างประเทศจะสั่งสินค้าในช่วงไตรมาสนี้สูง และลดการนำเข้าลงในไตรมาสสุดท้าย เพื่อบริหารปริมาณสินค้าคงคลังไม่ให้เหลือมากเกินไปในช่วงปลายปี

สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคมีมูลค่า 6,332.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 15.96 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีมูลค่าการส่งออกรวม 4,188.10 ล้านบาท หรือร้อยละ 66.14 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด ซึ่งแม้ตลาดส่งออกของไทย จะอยู่ในอาเซียน แต่เพื่อเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่ AEC ผู้ผลิตของไทยยังคงขยายตลาดไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ทั้งลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีความคล้ายคลึงในเรื่องวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิต โดยไปตั้งโรงงานและหาตัวแทนจำหน่ายเพื่อสร้างฐานการทำธุรกิจในอนาคต

การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 มีมูลค่า 11,593.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.64 แม้ว่าการควบคุมการเบิกจ่ายยาในระบบสวัสดิการของรัฐ จะส่งผลกระทบต่อยานำเข้า แต่ยาสิทธิบัตรที่จำเป็นสำหรับการรักษาโรคยังคงต้องนำเข้า ตลอดจนยาชื่อสามัญมีแนวโน้มจะเข้ามาแข่งขันในประเทศมากขึ้นจากความต้องการยาชื่อสามัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ยานำเข้าจากจีน และอินเดีย เป็นต้น และหากเทียบกับไตรมาสก่อน การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.03 เนื่องจากอยู่ในช่วงเร่งใช้งบประมาณของภาครัฐเช่นกัน ทั้งนี้ ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี มีมูลค่าการนำเข้ารวม 5,398.72 ล้านบาท หรือร้อยละ 46.57 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

สำหรับการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่า 32,842.32 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.22 จากความเข้มงวดในการเบิกจ่ายของภาครัฐ โดยส่งเสริมการใช้ยาชื่อสามัญในระบบบัญชียาหลักและโครงการประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาต้นแบบ โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร มีมูลค่าการนำเข้ารวม 14,355.46 ล้านบาท หรือร้อยละ 43.71 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ในปีงบประมาณ 2556 ข้าราชการใช้สิทธิในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวม 5.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าที่ตั้งงบประมาณไว้กว่า 1 พันล้านบาท และลดลงจากยอดเบิกจ่ายจริง

ในปีงบประมาณ 2555 ที่อยู่ในระดับ 6.1 หมื่นล้านบาท กรมบัญชีกลางจึงเตรียมเพิ่มสิทธิการรักษาพยาบาลให้กับข้าราชการ อาทิ ค่าห้อง ค่าอาหาร และอุปกรณ์ในการรักษาใหม่ๆ ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในไตรมาสหน้า

ทั้งนี้ ค่ารักษาพยาบาลในปีงบประมาณ 2556 ที่ปรับลดลงกว่า 1 พันล้านบาทนั้น เกิดจาก การที่กรมบัญชีกลางได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่ในการจ่ายยาของข้าราชการ โดยได้กำหนดแนวทางการเบิกจ่ายยาไว้ 4 แผน คือ ABCD โดยให้ข้าราชการใช้ยาในบัญชีหลักที่ผลิต ในไทยก่อน หากยาบัญชีหลักใช้ไม่ได้ จึงจะให้ใช้ยานอกบัญชี หรือยานำเข้าจากต่างประเทศ ที่ส่วนใหญ่จะมีราคาแพงกว่ายาบัญชีหลัก นอกจากนี้ ยังว่าจ้างสำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ ตรวจสอบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่งทำให้แพทย์ผู้รักษาไม่กล้าเบิกยาเกินจริง ซึ่งช่วยทำให้ใช้งบประมาณลดลง โดยในปีงบประมาณ 2557 นี้ ยังตั้งงบสำหรับค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการไว้ที่ 6 หมื่นล้านบาทเท่ากับปีที่ผ่านมา

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตและการจำหน่าย ตลอดจนมูลค่าการนำเข้ายาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงปลายปีงบประมาณ ภาครัฐจึงเร่งการใช้จ่าย ทำให้มีความต้องการยาเพิ่มขึ้น สำหรับมูลค่าการส่งออก มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากลูกค้าในต่างประเทศจะนำเข้ายาในช่วงนี้ เพื่อบริหารสินค้าคงคลังในช่วงปลายปี

แนวโน้ม

ไตรมาสสุดท้าย ของปี 2556 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศ รวมถึงมูลค่าการนำเข้าและส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค จะชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากผู้ผลิต รวมถึงผู้สั่งซื้อ จะบริหารสินค้าคงคลังไม่ให้เหลือในปริมาณที่สูงมากในช่วงปลายปี ตลอดจนสถานพยาบาลภาครัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลัก ได้เร่งการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากในช่วงปลายปีงบประมาณ ประกอบกับผู้ซื้อยังมีสินค้าเก่าคงเหลืออยู่ โดยคาดว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นประมาณช่วงไตรมาสที่ 2 ตามวัฏจักรธุรกิจ

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ