สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2556 (กรกฎาคม – กันยายน 2556)(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 27, 2013 13:56 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางล้อยังขยายตัวได้ดี ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ สำหรับการส่งออกในยางแปรรูปขั้นต้นชะลอตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้ความต้องการใช้ยางของประเทศผู้ใช้ยางที่สำคัญ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก จึงทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวมมากนัก

การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.26 และ 5.98 ตามลำดับ

ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ และยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในส่วนของการผลิตยางนอกและยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน ปรับตัวลดลง สำหรับการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 0.56 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.43

เมื่อมองภาพรวมในช่วง 9 เดือนแรก การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นลดลงเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 1.87 ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางส่วนใหญ่ถือว่ายังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อซึ่งขยายตัวตามอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ สำหรับผลิตภัณฑ์ ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยังทรงตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะถึงแม้ความต้องการใช้ของสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักที่สำคัญของไทยจะชะลอตัวลง แต่ความต้องการของตลาดอาเซียนก็ขยายตัวขึ้นทดแทนความต้องการที่ลดลงของสหภาพยุโรปได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของยางนอกและยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ และยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน ปรับตัวลดลงเล็กน้อย

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 17.25 และ 9.22 ตามลำดับ สำหรับการจำหน่ายยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางหล่อดอก รวมทั้งถุงมือยาง/ถุงมือตรวจปรับตัวเพิ่มขึ้น

เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในส่วนของการผลิตยางนอกและยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน ปรับตัวลดลง

เมื่อมองภาพรวมในช่วง 9 เดือนแรก การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.04 ในส่วนของการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มยางล้อ โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ความต้องการยังคงเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีความจำเป็นที่ต้องใช้ในทางการแพทย์และใช้ในทางอุตสาหกรรม ตามกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค สำหรับยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ และยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน ปรับตัวลดลงเล็กน้อย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 2,150.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และในภาพรวมช่วง 9 เดือนแรก ลดลงร้อยละ 32.04 27.14 และ 10.97 ตามลำดับ โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งความต้องการใช้ยางของประเทศผู้ใช้ยางที่สำคัญ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ

โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 2,071.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.79 และ 0.59 ตามลำดับ โดยลดลงในส่วนของผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เนื่องจากความต้องการของตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ลดลง อย่างไรก็ตาม ตลาดถุงมือยาง/ถุงมือตรวจในอาเซียนยังขยายตัวได้ดี จึงทดแทนความต้องการที่ลดลงได้บางส่วน

สำหรับในภาพรวมช่วง 9 เดือนแรก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.57 โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และมาเลเซีย

การนำเข้า

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 การนำเข้ายางและเศษยาง มีมูลค่า 284.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และในภาพรวมช่วง 9 เดือนแรก ลดลงร้อยละ 9.57 27.92 และ 13.26 ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ ประกอบด้วย ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ มีมูลค่า 339.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.16 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และในภาพรวม 9 เดือนแรก การนำเข้าลดลงร้อยละ 10.51 และ 1.55 ตามลำดับ สำหรับตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. ในปีงบประมาณ 2556 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัย โครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราสู่มาตรฐานสากล และโครงการพัฒนาระบบข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าว คือสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบยางผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และได้มาตรฐานสากลซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันใน

ตลาดโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม จึงมีการดำเนินโครงการต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2557

2. กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอแนวทางการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในภาค อุตสาหกรรมให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 และกระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราขึ้น (คำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 240/2556 ลงวันที่ 26 กันยายน 2556) โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี) เป็นประธานคณะทำงานฯ เพื่อดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และสามารถเป็นส่วนหนึ่ง ในการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบตามนโยบายของรัฐบาล

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรม ยางและผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางล้อยังขยายตัวได้ดี ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ สำหรับการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นชะลอตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้ความต้องการใช้ยางของประเทศผู้ใช้ยางที่สำคัญ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณาในภาพรวมช่วง 9 เดือนแรก อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางยังขยายตัวได้ เนื่องจากยังมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก รวมทั้งตลาดในแถบอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวมมากนัก

แนวโน้ม

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 4 ปี 2556 ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางล้อ ตามการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ถึงแม้ว่าตลาดหลักที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรปจะชะลอตัวลง แต่ตลาดในอาเซียนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดว่าจะทดแทนการนำเข้าที่ลดลงได้ รวมทั้งประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมากเกินไป

สำหรับแนวโน้มด้านราคายางพาราในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 ยังมีความผันผวนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลในด้านลบต่อราคายาง คือ ราคาซื้อขายในตลาดล่วงหน้าและราคาน้ำมันที่ลดลง รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

หมายเหตุ : จำนวนโรงงานที่เก็บข้อมูล
  • ผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง ยางนอกรถแทรกเตอร์ มีจำนวน 5 โรงงาน
  • ยางนอกรถกระบะ มีจำนวน 4 โรงงาน
  • ยางนอก ยางใน รถบรรทุกและรถโดยสาร มีจำนวน 8 โรงงาน
  • ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 10 โรงงาน
  • ยางนอกและยางในรถจักรยาน และยางนอกอื่นๆ มีจำนวน 6 โรงงาน
  • ยางรอง ยางหล่อดอก ถุงมือยางถุงมือตรวจ มีจำนวน 7 โรงงาน
  • ยางรัดของ มีจำนวน 4 โรงงาน
  • ยางแผ่น มีจำนวน 16 โรงงาน
  • ยางแท่งมีจำนวน 14 โรงงาน

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ