สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2556 (กรกฎาคม – กันยายน 2556)(อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 27, 2013 14:02 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก3,657.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 58.73 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นมากถึง ร้อยละ 158.00 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับลดลง ร้อยละ 28.25 เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลง สาเหตุเพราะราคาทองคำในตลาดโลกต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ในส่วนการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 1,862.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.78 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.91 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม

การผลิตและการจำหน่าย

การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ไตรมาส 3 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 1 ) ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.25 เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ในส่วนดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 1.18 ตามความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงจากหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย โดยจะส่งผลต่อดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.95 และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 21.45 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริการวมถึงเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น ทำให้คำสั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปลดลงอย่างมาก ในส่วนดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 14.00 เนื่องจากความวิตกกังวลต่อเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 18.54

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2556 (ตารางที่ 2) การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 1,862.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.78 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกอัญมณี เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินและทำด้วยทองเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.70 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกอัญมณี โดยเฉพาะเพชร พลอย เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน และเครื่องประดับแท้ทำด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป จะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 58.73 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นมากถึง ร้อยละ 158.00 จากความต้องการทองคำในตลาดฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 28.25 สำหรับผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่

1. อัญมณี ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 684.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.48 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการส่งออกเพชร พลอยเพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.34 จากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.61 12.66 และ 11.19 ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์อัญมณีที่สำคัญ มีดังนี้

1.1 เพชร ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 457.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.36 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการผลิตในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.99 เนื่องจากเพชรมีราคาเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.98 18.80 และ 13.51 ตามลำดับ

1.2 พลอย ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 223.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.45 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการผลิตในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.79 เนื่องจากความต้องการในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอินเดีย เพิ่มขึ้น โดยในแต่ละตลาดมีสัดส่วนร้อยละ 59.60 8.42 และ 6.62 ตามลำดับ

2. เครื่องประดับแท้ ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 1,016.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.28 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินและทำด้วยทองเพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.51 จากการส่งออกเครื่องประดับเงินเพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแท้ที่สำคัญมี ดังนี้

2.1 เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 429.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.60 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ถูกลงจากราคาวัตถุดิบเงินที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.30 เนื่องจากสินค้ามีราคาถูกลงจากราคาวัตถุดิบเงินที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.39 27.12 และ 5.18 ตามลำดับ

2.2 เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 541.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.77 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากความต้องการในตลาดฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 4.20 เนื่องจากความวิตกกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรส่งผลให้ความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง

3. เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 91.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.36 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นสินค้าทางเลือกให้กับผู้บริโภคในช่วงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 3.13 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกในตลาดสำคัญลดลง ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.29 21.39 และ 9.85 ตามลำดับ

4. อัญมณีสังเคราะห์ ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 36.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.81 และ 30.13 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากเป็นสินค้าทางเลือกให้กับผู้บริโภคในช่วงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร โดยคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง ออสเตรีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.05 18.12 และ 11.49 ตามลำดับ

5. ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 1,795.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 158.00 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกในไตรมาสนี้อยู่ในช่วงปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 47.19 เนื่องจากราคาทองคำลดต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.95 22.84 และ 20.89 ตามลำดับ

การนำเข้า

1. เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ไตรมาส 3 ปี 2556 (ตารางที่ 3 ) มีมูลค่าการนำเข้า 688.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลง ร้อยละ 3.23 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการนำเข้าเพชร และแพลทินัม เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตลดลง แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.10 ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าวัตถุดิบสำคัญ ได้แก่ เพชร พลอย และเงิน เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาล

คริสต์มาสและปีใหม่ สำหรับมูลค่าการนำเข้าในภาพรวมอยู่ที่ 3,505.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 9.03 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 91.16 เนื่องจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง ร้อยละ 122.16 ประกอบด้วย

วัตถุดิบสำคัญ ได้แก่

1.1 เพชร ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 292.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 20.20 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเพชรมีราคาเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าแต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.86 เพื่อเตรียมวัตถุดิบสำหรับรองรับการผลิตในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ที่เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ อินเดีย ฮ่องกง และอิสราเอล คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.70 17.71 และ 16.64 ตามลำดับ

1.2 พลอย ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 99.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.85 และ 8.81 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากการเตรียมวัตถุดิบเพื่อรองรับการผลิตในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง อินเดีย และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.23 15.78 และ 7.80 ตามลำดับ

1.3 ทองคำ ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 2,836.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 10.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกในไตรมาสนี้อยู่ในช่วงปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 122.16 เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกต่ำกว่าปีที่แล้วจูงใจให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58.04 10.37 และ 6.92 ตามลำดับ

1.4 เงิน ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 192.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.41 และ 28.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับเนื่องจากราคาเงินในตลาดโลกปรับตัวลดลงจูงใจให้มีการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตเพิ่มขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน เยอรมนี และเกาหลีใต้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.20 17.84และ 13.43 ตามลำดับ

1.5 โลหะมีค่าและโลหะอื่น ๆ ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 34.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.77 และ 9.24 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.36 22.56 และ 14.32 ตามลำดับ

2. เครื่องประดับอัญมณี ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าทั้งสิ้น 198.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 20.25 เนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ส่งผลให้การบริโภคเครื่องประดับอัญมณีแท้ลดลง ผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่

2.1 เครื่องประดับอัญมณีแท้ ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 183.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.68 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 22.10 เนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.22 5.90 และ 4.06 ตามลำดับ

2.2 เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาส 3 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 14.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 41.40 และ 12.69 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากเป็นสินค้าทางเลือกในช่วงเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.33 14.02 และ 6.51 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) อยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับปี 2557-2560 ซึ่งยุทธศาสตร์นี้มีวิสัยทัศน์ คือ "อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม บนพื้นฐานภูมิปัญญาไทยเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีของโลกและเครื่องประดับคุณภาพชั้นนำของโลก" ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 5 ด้าน คือ 1) พัฒนาการผลิต

2) ยกระดับความสามารถด้านการตลาด 3) ยกระดับทักษะทรัพยากรมนุษย์ 4) พัฒนากฎระเบียบ โครงสร้างพื้นฐาน และวิจัยพัฒนาให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ และ 5) เพิ่มความเข้มแข็งของการบริหารจัดการและอุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะทำให้ทิศทาง การพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระยะต่อไปมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2556 ด้านการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.25 แต่การจำหน่ายลดลง ร้อยละ 1.18 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงจากหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.78 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 58.73 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 158.00 ซึ่งเป็นผลจากความต้องการทองคำในตลาดฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 28.25 เป็นผลจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลง เนื่องจากราคาทองคำลดต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

การนำเข้า (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลง ร้อยละ 3.23 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเนื่องจากการนำเข้าเพชร และแพลทินัม ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบลดลง แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.10 ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าวัตถุดิบสำคัญ เช่น เพชร พลอย และเงิน เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ สำหรับมูลค่าการนำเข้าในภาพรวมอยู่ที่ 3,505.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 9.03 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 91.16 เนื่องจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นอย่างมาก

แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2556 คาดว่า จะขยายตัวได้ตามการผลิตเพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

แนวโน้มภาพรวมการส่งออก ไตรมาส 4 ปี 2556 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่าจะขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ การส่งออกเพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ประกอบกับราคาทองคำที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยด้านลบ จากผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ที่ยังไม่ประกาศปรับลดมาตรการผ่อนคลายปริมาณเงิน (QE) อาจส่งผลให้ปัจจัยที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้แย่ลง เพราะการคงมาตรการผ่อนคลายปริมาณเงินสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐรวมถึงเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่จริง ซึ่งจำเป็นต้องติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐในครั้งถัดไปซึ่งจะมีขึ้นในเดือนธันวาคมอย่างใกล้ชิด

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ