สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2556 (กรกฎาคม – กันยายน 2556)(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 27, 2013 14:10 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 3 ปี 2556 มีปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 15.08 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการละลายน้ำตาลทรายดิบเพื่อผลิตน้ำตาลทรายลดลง ซึ่งเป็นช่วงปิดฤดูหีบอ้อย และหากไม่รวมการผลิตน้ำตาล ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 10.38 แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตไม่รวมการผลิตน้ำตาล มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.37 เป็นผลจากการผลิตของกลุ่มปศุสัตว์ ผักผลไม้ น้ำมันพืชและอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากความต้องการในประเทศเป็นหลัก แต่หากรวมการผลิตน้ำตาล ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 7.60 ส่วนสินค้าอื่นๆ ส่วนใหญ่ผลิตลดลงจากวัตถุดิบลดลง และการชะลอตัวของ คำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าซบเซา โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่ยังคงมีปัญหาหนี้สาธารณะในหลายประเทศ ประกอบกับราคาสินค้าในตลาดโลกผันผวนมาก ส่งผลกับการส่งออกสินค้าอาหารที่มีปริมาณการส่งออกที่ลดลง

การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2556 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ลดลงร้อยละ 15.08 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตน้ำตาลอยู่ในช่วงนอกฤดูหีบอ้อย ขณะที่การผลิตหลายกลุ่มสินค้าสำคัญปรับชะลอตัวลง (ตารางที่ 1) แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.60 เป็นผลจากการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น ในหลายสินค้า เช่น ปศุสัตว์ ผักผลไม้ นมและผลิตภัณฑ์ และธัญพืชและแป้ง ขณะที่ภาพรวม การผลิตช่วง 9 เดือนของปี 2556 การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนร้อยละ 5.03 จากการผลิตที่กลับมาผลิตได้ปกติหลังเกิดอุทกภัยในปีก่อน แม้ว่าวัตถุดิบบางอย่างได้รับผลกระทบจากโรคระบาด และการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าซบเซา แต่มีตลาดในประเทศที่ยังขยายตัวจากการปรับขึ้นค่าแรงงานและเงินเดือนชดเชยได้บางส่วน สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.86 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น แต่ลดลงร้อยละ 3.08 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตออกล่าช้าจากปกติ ขณะที่การผลิตรอบ 9 เดือนของปี 2556 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 4.16 จากผลกระทบภัยแล้ง

กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 8.02 และ 20.24 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง ต้องมีการพักบ่อเพื่อตัดวงจรโรค ทำให้ผลผลิตมีปริมาณลดลง ขณะที่การผลิตช่วง 9 เดือนของปี 2556 ลดลงร้อยละ 7.83 แม้ว่าการผลิตกุ้งจะมีปริมาณลดลง แต่มีการผลิตปลาทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการสำรองวัตถุดิบนำเข้ามากในช่วงครึ่งปีแรกจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.98 และ 26.07 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ ในขณะที่การผลิตช่วง 9 เดือนของปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 40.07 เนื่องจากการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สด แช่แข็งจากไทยจากปัญหาไข้หวัดนกในหลายประเทศ ทำให้การส่งออกไก่แช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรป และจากการนำเข้าไก่แปรรูปเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น ทดแทนจากจีนที่ประสบปัญหาไข้หวัดนกรอบใหม่

กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 19.22 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.18 และการผลิตช่วง 9 เดือนของปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.37 เป็นผลสืบเนื่องจากการกลับมาสั่งซื้อของประเทศนำเข้าได้แก่ กลุ่มสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง เสมือนทำให้ราคาสินค้าลดลง

กลุ่มน้ำตาลทราย ปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 67.98 เนื่องจากเป็นช่วงปิดฤดูหีบอ้อย มีการผลิตเพียงการละลายน้ำตาลทรายดิบเพื่อผลิตน้ำตาลทรายขาว แต่การผลิตปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.80 จากการที่อ้อยได้รับผลกระทบภัยแล้ง ทำให้ต้องเลื่อนเวลาส่งเข้าหีบในโรงงาน ทำให้การละลายเพื่อผลิตน้ำตาลทรายขาวเลื่อนตามไปด้วย และการผลิตช่วง 9 เดือนของปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.60 แม้ว่าการผลิตน้ำตาลจะเพิ่มขึ้น แต่มีคุณภาพอ้อยด้อยลง วัดได้จากค่า CCS ที่ได้ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืช ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น จากไตรมาสก่อนร้อยละ 7.59 เนื่องจากโรงงานบางแห่งที่ปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักรในช่วงไตรมาสก่อนกลับมาผลิตได้ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.65 และการผลิตช่วง 9 เดือนของปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.11 เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นมาก สำหรับผลิตภัณฑ์นม การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการผลิตช่วง 9 เดือนของปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 9.14 จากการที่โรงงานนมพร้อมดื่มกลับมาผลิตได้หลังเกิดปัญหาอุทกภัยในช่วงต้นปีก่อน และมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของอาหารสัตว์ การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการเลี้ยงไก่ ที่ในไตรมาสก่อนโรงงานแปรรูปไก่ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้ต้องหยุดโรงงานแต่ปัจจุบันเริ่มคลี่คลาย ทำให้มีความต้องการใช้อาหารเพื่อเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้น หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.16 และการผลิตช่วง 9 เดือนของปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.42 เนื่องจากมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2556 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศลดลงร้อยละ 8.48 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจลดลง จากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีการปรับขึ้นของราคาสินค้าจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานและค่าจ้าง และเกิดภาวะน้ำท่วมขึ้นในหลายจังหวัดในภาคตะวันออกและพื้นที่ภาคกลาง จึงทำให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ดี แม้ระดับราคาสินค้าจะปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสินค้าปศุสัตว์ ผักผลไม้และผลิตภัณฑ์นม แต่ผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงและเงินเดือน ยังทำให้ภาพรวมปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.58 ในขณะที่การจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.69 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

เนื่องจากมีการจำหน่ายเครื่องดื่มอัดลมและชาพร้อมดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสมเพิ่มขึ้น จากการทำการส่งเสริมการตลาดอย่างรุนแรง ส่วนอาหารสัตว์ได้รับผลดีจากความต้องการเนื้อไก่และไก่แปรรูปเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ประกอบกับการเลี้ยงกุ้งที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรก เริ่มทะยอยกลับมาเลี้ยงได้เพิ่มขึ้น จึงมีความต้องการใช้อาหารกุ้งเพิ่มขึ้น ทำให้การจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.39 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยภาพรวมการจำหน่ายในประเทศช่วง 9 เดือนของปี 2556 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.74 เนื่องจากผู้บริโภคได้รับการ ปรับขึ้นเงินเดือนและค่าจ้างแรงงาน

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2556 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 206,659.26 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.96 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 3) เป็นผลจากการส่งออกข้าวและธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากไก่ และอาหารทะเล แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 9.87 เป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศ ผู้นำเข้าหลักบางแห่งแม้ว่าจะมีสัญญาณที่ฟื้นตัว แต่ก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศในสหภาพยุโรปที่ยังมีสัญญาณฟื้นตัวไม่มากนัก ขณะที่ช่วง 9 เดือนของปี 2556 การส่งออกภาพรวมลดลงร้อยละ 9.48 โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มประมง มีมูลค่าการส่งออก 53,117.11 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ9.84 จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณและมูลค่าในเกือบทุกกลุ่มทั้งอาหารทะเลแปรรูปและแช่เย็นแช่แข็ง และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกลดลงร้อยละ 20.73 เนื่องจากคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรปที่ชะลอตัวลง เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เนื่องจากสหภาพยุโรปได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจซบเซา ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การบริโภคสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าทดแทน นอกจากนี้ปริมาณผลผลิตกุ้งในช่วง 9 เดือนมีปริมาณลดลงจากเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง และส่งผลต่อเนื่องไปยังการส่งออกภาพรวมช่วง 9 เดือนของปี 2556 ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.88

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออก 27,408.46 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.96 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง แต่ปรับลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.48 จากการส่งออกผักสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้สด และผลไม้แปรรูปที่ส่งออกลดลงกว่าร้อยละ 10 โดยสินค้าสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง ส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.23 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการกลับมาสั่งซื้อของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดีการส่งออกช่วง 9 เดือนของปี 2556 ในภาพรวมของกลุ่มผักผลไม้ สามารถส่งออกได้ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 6.65

กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออก 20,059.20 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.58 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 0.65 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกไก่แช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นแต่มูลค่าเพิ่มต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปที่ส่งออกปรับตัวลดลง โดยช่วง 9 เดือนของปี 2556 การส่งออกภาพรวมของกลุ่มลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 0.03

กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 69,240.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.30 จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.13 และ 31.90 หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.35 เป็นผลจากการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งมูลค่าการส่งออกลดลงเป็นอย่างมาก จากการที่ราคาในประเทศสูงจนไม่สามารถส่งออกได้ และการส่งออกภาพรวมของกลุ่มในช่วง 9 เดือนของปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.69

กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 19,218.77 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 43.16 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 34.68 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจากการส่งออกน้ำตาลในราคาที่ต่ำลง ประกอบกับการที่ประเทศผู้ผลิต เช่น อินเดีย และบราซิล กลับมาส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น ทำให้สต็อกน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น ซึ่งทำให้การส่งออกน้ำตาลในรอบ 9 เดือนของปี 2556 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 33.03

กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 17,615.53 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.43 และ 22.39 ตามลำดับ โดยเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทสิ่งปรุงรสอาหาร ไขมันและน้ำมันพืช และนมและผลิตภัณฑ์นม ภาพรวมการส่งออกของกลุ่มในรอบ 9 เดือนของปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 9.76

การนำเข้า

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2556 การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีมูลค่ารวม87,402.70 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.17 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 4) โดยเป็นการนำเข้าเมล็ดพืชน้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 132.39 เป็นผลจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.11 โดยเป็นการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น กากพืชน้ำมัน และปลาทูน่าแช่แข็งเพิ่มขึ้น เป็นการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงต้นไตรมาส และจากราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการนำเข้าในภาพรวม 9 เดือนของปี 2556 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.16

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2556 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับ อุตสาหกรรมอาหาร โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ ในลักษณะการรับจำนำผลผลิต และการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและระดับราคาจำหน่ายลดลง รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาด้านปัจจัยการผลิต ได้แก่

1.คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 เห็นชอบตามที่ประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติเสนอ คือ ราคา ปริมาณ วงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกรและระยะเวลาการรับจำนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ตามมติ กขช. ครั้งที่ 6/2556 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ทั้งนี้ โดยยังคงอยู่ในกรอบรวมของปริมาณการ รับจำนำข้าวเปลือกและกรอบวงเงินในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกต้องอยู่ในกรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท และเห็นชอบมาตรการการป้องกันการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความร่วมมือปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด และให้รายงานผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีภายในระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งเห็นชอบแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวและเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนา (zoning) โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับไปประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการจัดหาพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานทดแทน เช่น อ้อย ปาล์มน้ำมัน และหญ้าเนเปียร์ (napier) เป็นต้น ให้แก่เกษตรกรที่ประสงค์จะปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มรายได้ของตนเอง และให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการดำเนินการเพื่อให้มีการจัดตั้งสถานประกอบการเพื่อรองรับผลิตผลจากพืชพลังงานทดแทนดังกล่าวโดยเร็วต่อไป

2.คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2556 อนุมัติร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน สำหรับปี พ.ศ. 2556 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 คือ แก้ไขความใน (2) ของข้อ 4 ของประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนสำหรับปี พ.ศ. 2556 โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าทั่วไป ต้องนำเข้าระหว่างวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2556 และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยเห็นควรเร่งประชาสัมพันธ์การขยายกรอบระยะเวลาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้กับภาครัฐและเอกชน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้มงวดกับกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นำเข้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยอาหารของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ในประเทศ และพิจารณามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยให้มีการเพิ่มผลผลิตภายในประเทศโดยการจัดทำโซนนิ่ง นอกจากนี้ ต้องดูแลคุ้มครองเกษตรกรและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระบบอุตสาหกรรมให้ได้รับความเป็นธรรมและสามารถเกื้อกูลกันอย่างเหมาะสม

3.คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 อนุมัติมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2556/57 ตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) คือ ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูกาลปี 2556/57 อย่างเร่งด่วน ภายในกรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 1,907.25 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2556/57 แต่ละขั้นตอนให้มีความรัดกุม ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรงอย่างแท้จริง โดยให้รับข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติและการบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานที่เหมาะสมและชัดเจน เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป 4.สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2556 ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวม อยู่ในช่วงปรับตัวดีขึ้นจากจากไตรมาสก่อน หากไม่นับรวมการผลิตน้ำตาลที่เป็นช่วงปิดฤดูการหีบอ้อย แต่หากนับรวมน้ำตาล การผลิตจะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การผลิตในภาพรวมปรับตัวสูงขึ้น ส่วนการส่งออกปรับตัวลดลงจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดหลักซบเซาจากภาวะหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย นอกจากนี้สต็อกสินค้าในตลาดโลกที่สำคัญ คือ น้ำตาลทราย แม้ว่าสต็อกที่คาดการณ์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ผลจากที่ประเทศอินเดีย และบราซิล มีผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้น และคาดว่าจะส่งออกน้ำตาลได้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อระดับราคาน้ำตาลที่ชะลอตัวลง ในส่วนสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ สินค้าไก่แปรรูป ปริมาณความต้องการจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการพิจารณายกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากกรณีไข้หวัดนกของสหภาพยุโรป ส่งผลต่อการส่งออกไก่ของไทยเพิ่มขึ้น แต่อาจไม่เป็นผลดีนักจากการส่งออกไก่สดที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าไก่แปรรูป ซึ่งจะทำให้ราคาและรายได้ของผู้ประกอบการลดลง สำหรับสินค้ามันสำปะหลัง เนื่องจากได้รับผลดีจากการนำเข้าจากจีนที่เริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าที่ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเล โดยเฉพาะวัตถุดิบกุ้งยังประสบปัญหาโรคตายด่วน ทำให้วัตถุดิบลดลง แต่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นจากการทดลองแก้ไขปัญหาลดอัตราการสูญเสียได้บ้าง

แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2556คาดว่า จะเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล โดยการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากคำสั่งซื้อเพื่อรองรับเทศกาลจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยหลังเกิดไฟไหม้โกดังน้ำตาลในประเทศบราซิลที่ทำให้น้ำตาลเสียหายไปส่วนหนึ่ง นอกจากนี้การจำหน่ายในประเทศที่ได้รับผลดีจากการปรับค่าแรงและเงินเดือนส่งผลให้การบริโภคในประเทศยังคงมีการขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง และเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน จีนและญี่ปุ่นยังขยายตัวประกอบกับระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นภายหลังเกิดภัยแล้งในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดีมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังส่งผลต่อการผลิตและส่งออก คือ ปริมาณวัตถุดิบหลายชนิดได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง น้ำท่วมและโรคระบาด โดยเฉพาะกุ้งที่ปริมาณวัตถุดิบลดลง

เนื่องจากโรคตายด่วนในลูกกุ้ง และผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศในสหภาพยุโรปจากปัญหาหนี้สาธารณะ แม้ว่าผู้บริโภคยังมีกำลังซื้ออยู่ แต่จากข่าวการที่รัฐบาลของหลายประเทศจะนำทองคำสำรองออกขายเพื่อลดหนี้ ทำให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจยังคงซบเซา และสหรัฐอเมริกายังสามารถใช้มาตรการขยายเพดานหนี้ เป็นการกระตุ้นอุปสงค์ให้เพิ่มขึ้นจนถึงสิ้นปี 2556 แต่อาจปรับลดลงได้หากมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย และจากการที่งบประมาณอาจไม่รับอนุมัติจากสภาคองเกรสในช่วงเดือนมกราคม 2557 แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออก จากค่าเงินบาทที่มักจะแข็งค่ารุนแรงกว่าเงินสกุลอื่น ซึ่งเป็นผลจากการเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ระยะสั้น และการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกาที่ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลง และค่าเงินในภูมิภาคเอเชียปรับแข็งค่าขึ้น ประกอบกับการค้าของไทยยังผูกกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกามากกว่าเงินสกุลอื่น ซึ่งอาจทำให้การผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปรับชะลอตัวลงได้

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ