สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2556 (เมษายน มิถุนายน 2556)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2013 14:00 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ไตรมาส 2 ปี 2556 หลายประเทศยังคงมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของยุโรปยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ 100.8 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 2 ปี 2555 อยู่ที่ 106.1 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงผันผวน โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนกันยายน (ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2556) อยู่ที่ 105.3 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะยุติมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบ

เศรษฐกิจไทยปี 2556 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 5.3 เป็นการขยายตัวในระดับปกติ ซึ่งชะลอลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 19.1จากผลของฐานการผลิตที่ต่ำจากอุทกภัยในปี 2554 แต่ขยายตัวจากจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 คือ การชะลอลงของทั้งอุปสงค์ภายในประเทศและภายนอกประเทศ โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนชะลอลง ซึ่งสินค้าคงทนประเภทยานยนต์ยังคงขยายตัวสูง รวมทั้งหมวดสินค้ากึ่งคงทนที่ยังขยายตัว ส่วนสินค้าไม่คงทนและบริการหดตัวลง สำหรับการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวชะลอลง การลงทุนโดยรวมขยายตัวชะลอลง เป็นผลจากการชะลอตัวของทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ สำหรับการส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการชะลอลงเช่นกัน

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 4.8 ชะลอลงจากจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 37.0 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 ที่หดตัวร้อยละ 4.3 การที่ GDP สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจาก ไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 เป็นการขยายตัวในระดับปกติ โดยขยายตัวดีในกลุ่มยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5 ขยายตัวชะลอลงจากปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.4

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ชะลอตัวลงทั้งการส่งออกและการนำเข้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ค่าเงินบาทผันผวนตั้งแต่ช่วงต้นปี 2556 โดยในไตรมาสที่ 2 การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 121,035.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 56,337.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 64,698.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 นั้นมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 1.10 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 0.28 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ดุลการค้ายังคงขาดดุลต่อเนื่องซึ่งมีมูลค่า 8,360.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบมูลค่าการส่งออกและนำเข้ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 2.21 ส่วนมูลค่าการนำเข้านั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.36

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนเมษายนและพฤษภาคมมีมูลค่ารวม 75,021.6 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนเมษายนมีมูลค่า 47,698.0 ล้านบาท สำหรับเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 27,323.6 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนเมษายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 6,916.8 ล้านบาท และในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 8,926.9 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมในเดือนเมษายนและพฤษภาคมของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 32.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 528 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 502 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 2 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 179,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยโครงการลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 ประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 201 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 46,400 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 144 โครงการ เป็นเงินลงทุน 54,300 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 183 โครงการ เป็นเงินลงทุน 78,500 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 67,400 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 34,400 ล้านบาท และหมวดเกษตรกรรม และผลิตผลการเกษตรมีเงินลงทุน 32,000 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 169 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 35,940 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศฮ่องกงได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 9 โครงการ มีเงินลงทุน 13,848 ล้านบาท ประเทศสิงคโปร์มีจำนวน 24 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 4,772 ล้านบาท และประเทศสหรัฐอเมริกามีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 20 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 4,359 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้ามีประมาณ 1,781,115 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.21 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 31.82 รองลงมาคือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.82 เนื่องจากทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวอยู่ทั้งโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมสำหรับคนชั้นกลางที่ติดรถไฟฟ้าและจังหวัดใหญ่ เช่น นครราชสีมา และจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต พัทยา

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในครึ่งหลังของปี 2556 คาดการณ์ว่าความต้องการบริโภคเหล็กโดยรวมของประเทศจะชะลอตัวลง จากปัจจัยการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศซึ่งกระทบกับกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ตลอดจนการชะลอตัวลงของภาคการก่อสร้าง รวมถึงการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่จะชะลอตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ซึ่งโดยรวมจะส่งผลต่อความต้องการบริโภคเหล็กโดยรวมของประเทศที่จะชะลอตัวลง ประกอบกับปริมาณสินค้าคงคลังจากช่วงครึ่งแรกของปีที่จะถูกระบายในช่วงครึ่งหลังของปี หรืออาจขยายไปจนถึงต้นปี 2557 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลโดยตรงต่อระดับการผลิตของผู้ผลิตภายในประเทศที่คาดว่าจะชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ยานยนต์ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 มีปริมาณการผลิตขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วแต่เป็นการขยายตัวในอัตราที่ลดลง การจำหน่ายค่อนข้างทรงตัว การส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์นั่งขยายตัวสูง (ร้อยละ 60.64) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปเยอรมนี การ์ตา และญี่ปุ่น

อุตสาหกรรมรถยนต์ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวเพียงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถผลิตและส่งมอบรถที่เป็นยอดตกค้างให้กับผู้บริโภคจากโครงการรถยนต์คันแรกได้ครบตามจำนวนที่สั่งจองแล้ว โดยข้อมูลจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถยนต์ ประมาณการว่า ในไตรมาสที่สามของปี 2556 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 6 แสนคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 45-50 เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไตรมาส 2/2556 อยู่ในภาวะชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากทั้งกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นจากการใช้เงินล่วงหน้าไปแล้วกับนโยบายของภาครัฐ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ทำให้การส่งออกไปในตลาดหลักลดลงทุกตลาด

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2556 คาดว่าการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะลดลงร้อยละ 6.0 และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 10.0 ตามสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกเนื่องจากตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักมีการปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ HDD ทำให้เห็นถึงสัญญาณความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง รวมถึงมีสัญญาณการชะลอตัวของการนำเข้าส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแสดงว่าการผลิตเพื่อการส่งออกในอนาคตจะยังไม่เพิ่มขึ้นทั้งนี้ Semiconductor Industry Association มีการปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวในปี 2556 ลงเหลือร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนจากเดิมคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อน เคมีภัณฑ์ ไตรมาสที่ 2 โดยภาพรวมอยู่ในภาวะดีขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักในประเทศที่มีการส่งออกขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการส่งออกที่ลดลง จึงส่งผลให้มีความต้องการใช้เคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นไม่มาก โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มการชะลอตัวในช่วงครึ่งปีหลัง มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐและญ่ปุ่น และปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเริ่มคลีคลาย แนวโน้มของการส่งออกเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 2 โดยเคมีภัณฑ์พื้นฐานจะมีการเติบโตของมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากกว่าเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย พลาสติก ไตรมาส 2 ปี 2556 พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติก ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.34 ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์วันหยุดยาว และในช่วงฤดูฝนจะมีการคำสั่งซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ลดลง และความไม่สะดวกในการขนส่ง แต่ดัชนีส่งสินค้าเพิ่มขึ้นเร้อยละ 2.62 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของอุตสาหกรรมพลาสติกนั้นดีขึ้น

แนวโน้มในไตรมาส 3 ทุกๆ ปี จะเป็นช่วงที่ทำการผลิตมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสอื่น เนื่องจากต้องมีการเตรียมสินค้าเพื่อจำหน่ายในเทศกาลคริสมาสต์ และปีใหม่ แต่ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงต้องตระหนักเรื่องการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้ง ปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรปที่ยืดเยื้อ และเศรษฐกิจของจีนที่เริ่มชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยลดลงรวมทั้งอุตสาหกรรมพลาสติกลดลงด้วย ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 2 ปี 2556 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่ลดลง โดยมีปัจจัยมาจากการที่ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทยมีการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง รวมถึงการขยายกำลังการผลิตเพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้า

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี 2556 คาดว่าอัตราการขยายตัวจะค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2555 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และต่างประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยเฉพาะประเทศจีน มีอัตราการขยายตัวที่ทรงตัว จึงส่งผลให้การส่งออกและนำเข้าของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไทยมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำตามไปด้วย อย่างไรก็ตามคาดว่าปัจจัยหนุนจากภายในประเทศ คือ การที่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลาสติก มีการขยายตัว น่าจะทำให้ความต้องการวัตถุดิบเม็ดพลาสติกมีเพิ่มขึ้น เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2556 การผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.82 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน โดย ในส่วนของกระดาษ ได้แก่ กระดาษคราฟท์ มีการผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.07 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อน การผลิตเยื่อกระดาษ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.71 และกระดาษคราฟท์ มีการผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.38 เป็นผลจากการ ขยายตัวตามภาวะอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ในการบรรจุหีบห่อ จากความต้องการ ใช้ในภาคการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการใช้มากยิ่งขึ้นจากการรณรงค์ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและกระดาษที่ใช้แล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่าย (Recycle)

ภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 3 ปี 2556 คาดว่า การผลิตทั้งเยื่อกระดาษและกระดาษโดยรวม จะขยายตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจและมีทิศทางเดียวกันกับไตรมาสที่ 2 สำหรับการส่งออกเยื่อกระดาษและสิ่งพิมพ์ มีแนวโน้มขยายตัวแม้ว่าจะมีการใช้สื่อดิจิทัลอย่างกว้างขวาง แต่กระดาษยังคงเป็นที่ต้องการใช้ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์เพื่อการบริโภคและอุปโภคซึ่งผู้ประกอบการจะต้องมีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและออกแบบใหม่ ๆ ให้สอดรับกับพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคและกระแสอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2556 ยังสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ โดย กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 43.49 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.77 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.49 และ 4.12 ตามลำดับ สำหรับการผลิตเซรามิก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในปีนี้ไม่มีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น และยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากนโยบายรถยนต์คันแรก ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการซื้อรถยนต์มากกว่าการปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง จึงชะลอการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านออกไป

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2556 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจาก เป็นช่วงฤดูฝน สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของตลาดอาเซียนเป็นสำคัญ ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น ได้แก่ กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และอิฐทนไฟปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 9.75 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 11.28 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.10 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.14 สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.35 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.36 ทั้งนี้ การผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากการขยายการลงทุนทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน โดยภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบขนส่ง และโครงการจัดการน้ำ ส่วนภาคเอกชนก็มีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในธุรกิจก่อสร้างในต่างจังหวัด

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงที่ภาคก่อสร้างจะกลับสู่ภาวะปกติ หลังจากผ่านพ้นช่วงชะลอตัวในไตรมาสที่ 2 สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 กลุ่มสิ่งทอ การผลิต และการส่งออก ผลิตภัณฑ์สิ่งทอในไตรมาส 2 ปี 2556 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานการผลิตที่ต่ำในปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีคำสั่งซื้อทั้งจากตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียน และเอเซียที่ขยายตัว โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และบังคลาเทศ ส่งผลให้การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพิ่มสูงขึ้น ส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถัลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนแต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในปีที่ผ่านมาเกิดวิกฤตน้ำท่วมทำให้ฐานการผลิตต่ำในขณะที่การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบไตรมาสก่อน แต่ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อของกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก ลดลง อย่างไรก็ตาม มีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นจากจีน เวียดนาม และบังคลาเทศ ในรูปเสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาถูกสำหรับตลาดระดับล่าง

แนวโน้มในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 คาดว่า การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน จะมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้น เพื่อส่งมอบในอีก 1 เดือน หรือ 3 เดือนข้างหน้า สำหรับการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในไตรมาส 3 ปี 2556 คาดว่า จะขยายตัวได้ทั้งในส่วนของเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน เพื่อสนองความต้องการโดยเฉพาะผู้ผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปคาดว่าจะขยายตัวเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะจากตลาด สหรัฐอเมริกา ไม้และเครื่องเรือน การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิต เช่น วัตถุดิบไม้ ค่าขนส่ง และค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ลดลง โดยไตรมาส 2 ปี 2556 มีปริมาณการผลิต 1.93 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.02 และ 13.45 ตามลำดับ สำหรับการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 มีปริมาณ 3.92 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 11.31

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2556 มีแนวโน้มทรงตัว อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ อาจส่งผลให้ความต้องการเครื่องเรือนทำด้วยไม้เพิ่มขึ้น

ยา ไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 การผลิตยาในประเทศมีปริมาณ 6,754.80 ตัน ลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.81 และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 มีปริมาณการผลิต 13,292.41 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 15.15 เนื่องจากผู้ผลิตบางรายเริ่มเปลี่ยนแผนการตลาด โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงไม่กี่รายการ เช่น ยารักษาโรคเฉพาะทางที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ (ความดัน เบาหวาน หัวใจ) จากเดิมที่เน้นผลิตยาที่จำหน่ายได้ปริมาณมากแต่มูลค่าเพิ่มต่ำเป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา

ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับ ไตรมาสนี้ เนื่องจากเป็นช่วงปลายปีงบประมาณ โรงพยาบาลของรัฐซึ่งเป็นตลาดหลักของผู้ผลิตยาจะเร่งการใช้จ่ายงบประมาณ สำหรับมูลค่าการนำเข้า คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราที่ไม่สูงนัก เนื่องจากนโยบายด้านสุขภาพของภาครัฐ ส่วนมูลค่าการส่งออก คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันก่อนที่ประเทศคู่ค้าจะลดการนำเข้าลงในไตรมาสสุดท้าย เพื่อบริหารปริมาณสินค้าคงคลังไม่ให้เหลือมากเกินไปในช่วงปลายปี ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ไตรมาสที่ 2 ปี 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ซึ่งขยายตัวตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะในส่วนของยางยานพาหนะ อย่างไรก็ตาม สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ปรับตัวลดลงเนื่องจากความต้องการของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปลดลง สำหรับราคายางยังคงปรับตัวลดลง ถึงแม้ว่าอุปทานยางธรรมชาติลดลงจากการที่อยู่ในช่วงฤดูยางผลัดใบ

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะขยายตัวได้ดี เนื่องจากกระแสวิตกกังวลเรื่องสุขภาพอนามัย และเป็นสินค้าจำเป็นทั้งทางการแพทย์ ภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 2 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีปริมาณลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ คือ การฟอกและตกแต่งหนังฟอก ผลิตลดลงเนื่องจากปริมาณสินค้าคงค้างในสต๊อกมีจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการนำเข้าหนังดิบและหนังฟอก เพื่อรองรับความต้องการของตลาดเบาะหนังรถยนต์ที่ขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์ ประกอบกับมีตลาดที่เศรษฐกิจขยายตัวได้รองรับ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง

แนวโน้มการผลิตหนังและตกแต่งหนังฟอก และการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและการผลิตรองเท้า และการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วน ช่วงครึ่งปีหลัง 2556 คาดว่า จะขยายตัวได้ ซึ่งสินค้าหนังฟอกจะมีการขยายตัวตามปริมาณคำสั่งซื้อที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และความต้องการในกลุ่มอาเซียนเพื่อรองรับการผลิตสินค้าช่วงปลายปี อัญมณีและเครื่องประดับ การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ในไตรมาส 2 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 18.91 เนื่องจากมีช่วงวันหยุดยาวในเดือนเมษายน ในส่วนดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลงร้อยละ 19.06 สอดคล้องกับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ที่ลดลง

แนวโน้มการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2556 คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2556 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ลดลงร้อยละ 54.89 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตน้ำตาลในช่วงปลายของฤดูหีบอ้อย ขณะที่การผลิตหลายกลุ่มสินค้าสำคัญปรับชะลอตัวลง แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เป็นผลจากการกลับมาผลิตของอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์ที่ต้องหยุดผลิตจากปัญหาอุทกภัยเมื่อปีก่อน ขณะที่ครึ่งปีแรกของปี 2556 การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนร้อยละ 4.20 จากการผลิตที่กลับมาผลิตได้ปกติหลังเกิดอุทกภัยในปีก่อน แม้ว่าวัตถุดิบบางอย่างได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2556คาดว่า จะชะลอตัวลงตามฤดูกาล การผลิตที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบหลายชนิดได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและโรคระบาด โดยเฉพาะกุ้งที่ปริมาณวัตถุดิบเสียหายจากโรคตายด่วนในลูกกุ้ง และผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศในสหภาพยุโรปจากปัญหาหนี้สาธารณะ แม้ว่าผู้บริโภคยังมีกำลังซื้ออยู่ แต่จากข่าวการที่รัฐบาลของหลายประเทศจะนำทองคำสำรองออกขายเพื่อลดหนี้ ทำให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจยังคงซบเซา และสหรัฐอเมริกายังสามารถใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 3 เป็นการกระตุ้นอุปสงค์ให้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก แต่อาจปรับลดลงหากมีการปรับนโยบาย

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ