สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2556 (เมษายน มิถุนายน 2556)(เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2013 14:05 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในไตรมาส 2 ปี 2556 หลายประเทศยังคงมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของยุโรปยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ 100.8 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 อยู่ที่ 106.1 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงผันผวน โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนกันยายน (ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2556) อยู่ที่ 105.3 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะยุติมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบ

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 ปี 2556 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า อันเนื่องมาจากภาคการผลิตและการว่างงานฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 1.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 การบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 2 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 1.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 2 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 4.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 75.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 65.3

การผลิตภาคอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม ไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 76.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 75.9 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 98.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 97.0

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 การนำเข้าไตรมาส 2 ปี 2556 หดตัวร้อยละ 0.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.5

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.9 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง อัตราการว่างงานไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 7.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8.0 อัตราการว่างงานมีการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ด้านการเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ให้คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 0.25 และ Fed ยังคงใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ต่อไปเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน

เศรษฐกิจจีน

เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ปี 2556 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากภาคการผลิต และการส่งออกที่ชะลอตัวลงภาวะเศรษฐกิจของจีน ในไตรมาส 2 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 7.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 มูลค่าการค้าปลีกในไตรมาส 2 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 13.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 13.9 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในไตรมาส 2 ปี 2556 ขยายตัว ร้อยละ 20.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 20.2 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 99.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 102.1

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 9.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.5

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 4.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 10.5 การนำเข้าไตรมาส 2 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 5.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.5

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.9 เป็นผลมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลง อัตราการว่างงานไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 เท่ากับไตรมาส 2 ของปี 2555

สถานการณ์ด้านการเงิน ธนาคารกลางจีน (Peoples Bank of China) ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี อยู่ที่ร้อยละ 6.00 นอกจากนี้ธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดเงินเข้าตลาดเงิน 17,000 ล้านหยวน โดยการซื้อคืนพันธบัตร เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดสินเชื่อ

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 1 ปี 2556 ขยายตัวเล็กน้อย จากการลงทุนในภาคก่อสร้างและการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น และในไตรมาส 2 ปี 2556 คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

ภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ในไตรมาส 1 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 0.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 1 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 0.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 การลงทุนในภาคก่อสร้างไตรมาส 1 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 9.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2555 ที่ หดตัวร้อยละ 0.8 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 44.3 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 40.0

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 96.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.2

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 7.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ที่หดตัวร้อยละ 2.0 การนำเข้าไตรมาส 2 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 10.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.4

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2556 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.2 เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลง อัตราการว่างงานไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.4

สถานการณ์ด้านการเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.1 (เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2556) และยังคงดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว

เศรษฐกิจสหภาพยุโรป

เศรษฐกิจสหภาพยุโรปไตรมาส 1 ปี 2556 หดตัว และในไตรมาส 2 ปี 2556 คาดว่ายังคงหดตัวต่อเนื่อง เนื่องจากภาคการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

ภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ในไตรมาส 1 ปี 2556 GDP หดตัวร้อยละ 0.8 หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.0 การบริโภคไตรมาส 1 ปี 2556 หดตัวร้อยละ 0.5 เท่ากับไตรมาส 1 ของปี 2555

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 1 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 97.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 100.1

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 3.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 สำหรับการส่งออกในเดือนเมษายน และพฤษภาคม ขยายตัวร้อยละ 14.7 และ 7.0 ตามลำดับ การนำเข้าไตรมาส 1 ปี 2556 หดตัว ร้อยละ 6.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 สำหรับการนำเข้าในเดือนเมษายน และพฤษภาคม หดตัวร้อยละ 2.0 และ หดตัวร้อยละ 7.0 ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อ ในไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.5 อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเป็นผลจากราคาพลังงานที่ลดลง อัตราการว่างงานในไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 11.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 10.4 อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง

สถานการณ์ด้านการเงิน ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.50 (เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2556) เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปเนื่องจากเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศยังคงอยู่ในภาวะถดถอย บางประเทศเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว และอัตราการว่างงานที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมในเอเชีย

เศรษฐกิจฮ่องกง

เศรษฐกิจฮ่องกงในไตรมาส 1 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีความต้องการบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ

ภาวะเศรษฐกิจของฮ่องกง ในไตรมาส 1 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวเป็นสำคัญ

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตสาขาอุตสาหกรรมการผลิต ในไตรมาส 1 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 86.4 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่า 130,152 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของฮ่องกง (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59.7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของฮ่องกง) ขยายตัวร้อยละ 10.4 ด้านการนำเข้าไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่า 153,547 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 เพิ่มขึ้นจากในไตรมาส 1 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 จากราคาผักสด และราคาค่าเช่าบ้านที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ อัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาล ในเดือนมิถุนายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ลดลงเล็กน้อยจากในเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.4 อัตราการว่างงานอยู่ในระดับค่อนข้างคงที่จากความต้องการแรงงานภายในประเทศมีเพียงพอสำหรับรองรับจำนวนกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจเกาหลีใต้

เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในไตรมาส 2 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวทั้งในส่วนความต้องการบริโภคภายในประเทศ การลงทุน และการส่งออก

ภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ในไตรมาส 2 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขยายตัวทั้งในส่วนความต้องการบริโภคภายในประเทศ การลงทุน และการส่งออก

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่า 141,262 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวจากการส่งออกไปตลาดอันดับหนึ่งอย่างจีน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.5 ของการส่งออกทั้งหมดของเกาหลีใต้) ขยายตัวร้อยละ 12.6 อย่างไรก็ตามการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นและฮ่องกง หดตัวร้อยละ 13.5 และ 17.7 ตามลำดับ ด้านการนำเข้า ในไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่า 126,935 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวต่อเนื่องร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ลดลงจากในไตรมาส 1 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.4 อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ต่ำแม้ฐานเปรียบเทียบในช่วงไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อนจะอยู่ในระดับต่ำแล้วก็ตาม ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 โดยสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีราคาลดลง อัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 เพิ่มขึ้นจากในเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.0

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50

เศรษฐกิจสิงคโปร์

เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาส 2 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่กลับมาขยายตัว

ภาวะเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ในไตรมาส 2 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากในไตรมาส 1 ปี 2556 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 จากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.1 หลังจากหดตัวถึงร้อยละ 6.5 ในไตรมาส 1 ปี 2556

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 103.6 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากหดตัวติดต่อกันมาสามไตรมาส แต่ดัชนีในเดือนมิถุนายน 2556 หดตัวร้อยละ 5.9 จากการผลิตสินค้าในกลุ่ม ไบโอเมดิคอล กลุ่มวิศวกรรมเครื่องมือวัด และกลุ่มการผลิตเคมีภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 23.7 16.4 และ 4.1 ตามลำดับ

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่า 96,327 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ โดยการส่งออกไปตลาดสำคัญหดตัวในหลายตลาด ทั้งตลาดมาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย และสหภาพยุโรป หดตัวร้อยละ 7.3 5.7 8.2 และ 22.0 ตามลำดับอย่าง สำหรับการส่งออกในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.4 และ 2.7 ตามลำดับ ด้านการนำเข้าไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่า 89,128 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนเมษายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 3.5 อย่างไรก็ตามการนำเข้าในเดือนพฤษภาคม 2556 หดตัวร้อยละ 3.5

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ลดลงจากในไตรมาส 1 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนค่าขนส่งและการติดต่อสื่อสารลดลง อัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาล ไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 เพิ่มขึ้นจากในไตรมาส 1 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.9

เศรษฐกิจอินโดนีเซีย

เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ในไตรมาส 2 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามความต้องการบริโภคของครัวเรือนยังอ่อนแอ ขณะที่การส่งออกยังมีความไม่แน่นอนตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

ภาวะเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ในไตรมาส 2 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ความต้องการการบริโภคของครัวเรือนยังอ่อนแอเนื่องจาก เงินเฟ้อของอินโดนีเซียที่เร่งตัวสูงขึ้น ทำให้อำนาจซื้อของผู้บริโภคลดลง ขณะที่การส่งออกยังมีความไม่แน่นอนตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 114.2 ขยายตัวร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่า 45,416 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ สำหรับในเดือนเมษายน 2556 การส่งออกหดตัวร้อยละ 8.7 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่า 45,651 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับในเดือนเมษยน 2556 การนำเข้าหดตัวร้อยละ 2.8

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 5.7 เพิ่มขึ้นจากในไตรมาส 1 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.3 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 5.9 จากราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นเนื่องจากการปรับลดมาตรการอุดหนุนของรัฐบาล

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ร้อยละ 6.5 จากเดิมร้อยละ 6.0 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาเชื้อเพลิง

เศรษฐกิจมาเลเซีย

เศรษฐกิจมาเลเซียในไตรมาส 1 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีความต้องการภายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ

ภาวะเศรษฐกิจของมาเลเซีย ในไตรมาส 1 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยทางด้านอุปทานมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคการบริการและภาคการก่อสร้างที่ขยายตัว ขณะที่ทางด้านอุปสงค์มีการบริโภคของภาคเอกชนและการลงทุนเป็นแรงเกื้อหนุนที่สำคัญ

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตสาขาอุตสาหกรรมการผลิต ในไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 126.9 ขยายตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับดัชนีในเดือนมิถุนายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 3.4

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่า 54,999 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดคู่ค้าสำคัญอย่างญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรปหดตัวร้อยละ 9.0 2.6 และ 7.4 ตามลำดับ โดยการส่งออกของมาเลเซียไปตลาดดังกล่าวหดตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการส่งออกไปตลาดอันดับหนึ่งอย่างสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 9.8 สำหรับการส่งออกในเดือนเมษายน 2556 หดตัวร้อยละ 3.0 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่า 49,705 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้าในเดือนเมษายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 9.4

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 เพิ่มขึ้นจากในไตรมาส 1 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 อัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 เพิ่มขึ้นจากในเดือนเมษายน 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.0

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ธนาคารกลางมาเลเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.0 เนื่องจากอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และระดับอัตราเงินเฟ้อ

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาส 1 ปี 2556 GDP ขยายตัวดีที่ร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการใช้จ่ายของครัวเรือนและการลงทุนที่ขยายตัวเป็น แรงขับเคลื่อนที่สำคัญ

ภาวะเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ในไตรมาส 1 ปี 2556 GDP ขยายตัวดีที่ร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายของครัวเรือนและการลงทุน ขณะที่การส่งออกส่งยังเป็นตัวฉุดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในไตรมาส 1 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 101.9 ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีในเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 8.7 และ 20.4 ตามลำดับ

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่า 12,081 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีนหดตัวร้อยละ 13.8 11.4 และ 24.7 ตามลำดับ สำหรับในเดือนเมษายน 2556 การส่งออกหดตัวร้อยละ 11.1 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่า 14,356 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับในเดือนเมษายน 2556 การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 7.7

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากอัตราค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ชะลอตัว

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.5 เนื่องจากอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้

เศรษฐกิจอินเดีย

เศรษฐกิจอินเดีย ในไตรมาส 1 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง

ภาวะเศรษฐกิจของอินเดีย ในไตรมาส 1 ปี 2556 GDP ขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตสาขาอุตสาหกรรมการผลิต ในไตรมาส 1 ปี 2556 อยู่ที่ระดับ 197.2 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับดัชนีในเดือนเมษายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.6 อย่างไรก็ตามดัชนีในเดือนพฤษภาคม 2556 หดตัวร้อยละ 2.0

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่า 82,904 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปตลาดหลักอย่างสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 7.2 และ 1.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามในเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2556 การส่งออกหดตัวร้อยละ 0.8 และ 3.9 ตามลำดับ ด้านการนำเข้าในไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่า 127,711 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับในเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2556 การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 11.0 และ 6.8 ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 9.5 ลดลงจากในไตรมาส 1 ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 10.7 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ธนาคารกลางอินเดียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repo Rate) ไว้ที่ร้อยละ 7.50 แม้จะยังมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ