สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2556 (เมษายน มิถุนายน 2556)(อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2013 14:15 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

Highlight
  • ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2556 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 257.14 ลดลงร้อยละ 2.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 14.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 15.53 เมื่อเทียบกับปีก่อน และกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 6.67
  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2556 มีมูลค่า 13,366.62 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากความต้องการในตลาดหลักชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น
  • ในไตรมาส 3/2556 คาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการผลิตลดลงร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกเป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะลดลงร้อยละ 6.0 และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 10.0 ตามสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 2/2556 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 257.14 ลดลงร้อยละ 2.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.64 โดยเฉพาะ HDD ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.47 โดยมาจากกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านประเภททำความเย็น เช่น เครื่องปรับอากาศ คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น พัดลม

นอกจากนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.04 มาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.53 โดยเฉพาะ HDD ลดลงถึงร้อยละ 17.59 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็วจากการเติบโตของสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ทำให้ความต้องการ HDD ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดโลกว่าในปี 2556 ความต้องการ HDD อยู่ที่ 32.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 11.17 เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่มีมูลค่า 36.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 6.67 โดยเป็นการปรับตัวลดลงในเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน คอนเดนซิ่งยูนิต ตู้เย็น พัดลม กระติกน้ำร้อน ยกเว้นสายไฟฟ้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18.28 (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 1)

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในไตรมาส 2/2556 มีเครื่องใช้ไฟฟ้าบางกลุ่มที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ได้แก่ เครื่องซักผ้า เตาอบไมโครเวฟ คอมเพรสเซอร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 126.04 67.44 42.12 ตามลำดับ ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการจำหน่ายลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ได้แก่ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยล์ยูนิตลดลงร้อยละ 7.51 6.11 3.87 ตามลำดับ สำหรับการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เครื่องซักผ้า เตาอบไมโครเวฟ คอมเพรสเซอร์ กระติกน้ำร้อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 110.08 50.01 33.39 22.65 ตามลำดับ ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ ตู้เย็น หม้อหุงข้าว พัดลม สายไฟฟ้าลดลงร้อยละ 13.86 11.06 6.04 4.24 ตามลำดับ (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 2)

การส่งออก

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2556 มีมูลค่า 13,366.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวลดลงร้อยละ 8.33 โดยมาจากทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งออกไปยังตลาดหลักลดลงทุกตลาด (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 3)

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 2/2556 มีมูลค่า 5,804.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.41 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 5.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งตลาดหลักที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 21.2 11 5.1 ตามลำดับ ขณะที่อาเซียนและสหภาพยุโรปปรับตัวเพิ่มร้อยละ 8.29 และ 0.9 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2556 มีมูลค่า 7,562.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.23 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยสินค้าหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี วงจรพิมพ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.58 และ 19.65 ทั้งนี้ ตลาดหลักของอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการขยายตัว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 10.60 สินค้าหลักที่ลดลงอย่างมาก คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ ลดลงร้อยละ 21.44 ขณะที่วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี วงจรพิมพ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.50 และ 55.93 ซึ่งเมื่อพิจารณาการส่งออกไปตลาดหลักทุกตลาดปรับตัวลดลง ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การนำเข้า

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2556 มีมูลค่า 11,175.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.19 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวลดลงร้อยละ 6.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 4)

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 2/2556 คิดเป็นมูลค่า 4,708.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 10.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนส่วนการนำเข้าอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2556 มีมูลค่า 6,466.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวลดลงร้อยละ 4.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 2/2556

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2556 อยู่ในภาวะชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากทั้งกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นจากการใช้เงินล่วงหน้าไปแล้วกับนโยบายของภาครัฐ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ทำให้การส่งออกไปในตลาดหลักลดลงทุกตลาด

แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 3/2556

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2556 คาดว่าการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะลดลงร้อยละ 6.0 และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 10.0 ตามสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกเนื่องจากตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักมีการปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ HDD ทำให้เห็นถึงสัญญาณความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง รวมถึงมีสัญญาณการชะลอตัวของการนำเข้าส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแสดงว่าการผลิตเพื่อการส่งออกในอนาคตจะยังไม่เพิ่มขึ้นทั้งนี้ Semiconductor Industry Association มีการปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวในปี 2556 ลงเหลือร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนจากเดิมคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อน

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ