สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2556 (เมษายน มิถุนายน 2556)(อุตสาหกรรมยานยนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2013 14:23 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว แต่เป็นการขยายตัวในอัตราที่ลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถผลิตและส่งมอบรถที่เป็นยอดตกค้างให้กับผู้บริโภคจากโครงการรถยนต์คันแรกได้เกือบครบตามจำนวนที่สั่งจองแล้ว
  • สถานการณ์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 สถานการณ์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2556 มีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวม 39 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวมกว่า 6,511 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5,247 คนในจำนวนนี้มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนมากกว่า 500 ล้านบาท จำนวน 2 โครงการ คือ 1) โครงการของ Mr. Hiroshi Morino ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนระบบเกียร์อัตโนมัติ เช่น Transmission care และ Converter Housing เป็นต้นมีเงินลงทุน 950.40 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 30 คน และ 2) โครงการของบริษัท มิตซูบิชิ อิเลคทริค ไทย ออโต้-พาร์ท จำกัด ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ เช่น Actuator เป็นต้น มีเงินลงทุน 508.20 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 246 คน (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.boi.go.th)
อุตสาหกรรมรถยนต์โลก(รวบรวมข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2556 จาก FOURIN)
  • อุตสาหกรรมรถยนต์โลกเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของปี 2556 มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 13,014,378 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 0.38 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 9,790,300 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 0.14 และผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 3,224,078 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 1.94 เมื่อพิจารณาประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น พบว่า ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2556 จีนมีการผลิตรถยนต์ จำนวน 3,311,660 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.45 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งโลก และสหรัฐอเมริกามีการผลิตรถยนต์จำนวน 1,802,256 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.85 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งโลก ญี่ปุ่นมีการผลิตรถยนต์ จำนวน 1,562,473 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.01 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งโลก
  • การจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลกในไตรมาสแรกของปี 2556 มีการจำหน่ายรถยนต์ 19,715,047 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 2.36 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 14,672,786 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 5,042,261 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 2.43 และ 2.13 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ พบว่า จีนมีการจำหน่ายรถยนต์ในไตรมาสแรกของปี 2556 จำนวน 5,424,230 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.51 ของปริมาณจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลก สหรัฐอเมริกามีการจำหน่ายรถยนต์ในไตรมาสแรกของปี 2556 จำนวน 3,751,083 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.03 ของปริมาณจำหน่ายรถยนต์ทั้งโลก ญี่ปุ่นมีการจำหน่ายรถยนต์ในไตรมาสแรกของปี 2556 จำนวน 1,528,008 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.76 ของประมาณจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลก
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศจีน มีปริมาณการผลิตรถยนต์ในช่วงห้าเดือนแรก ปี 2556 (ม.ค.-พ.ค.) จำนวน 9,076,855 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 13.36 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 7,301,638 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.08 และการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 1,775,217 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.81 สำหรับการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงห้าเดือนแรกของปี 2556 (ม.ค.พ.ค.) มีจำนวน 9,027,489 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 12.46 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 7,261,238 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.68 และการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 1,766,251 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.18
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีปริมาณการผลิตรถยนต์ในช่วงห้าเดือนแรก ของปี 2556 (ม.ค.-พ.ค.) จำนวน 4,767,090 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 4.80 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 1,906,885 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.72 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และการผลิตรถบรรทุก 2,860,205 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 4.40 สำหรับการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2556 (ม.ค.-เม.ย.) มีจำนวน 5,061,427 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 6.57 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 2,496,058 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.95 และการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 2,565,369 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 10.35
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่น มีปริมาณการผลิตรถยนต์ในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2556 (ม.ค.-เม.ย.) จำนวน 3,133,477 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 12.31 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 2,668,810 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 13.58 และการผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ 464,667 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 4.23 สำหรับการจำหน่ายรถยนต์ในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2556 (ม.ค.-เม.ย.) มีจำนวน 1,893,172 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของ ปีที่แล้ว ร้อยละ 7.52 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 1,624,202 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 7.46 และการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ จำนวน 268,970 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 7.86
อุตสาหกรรมรถยนต์

การผลิต ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2556 (เม.ย.-มิ.ย.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 619,450 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 561,936 คัน ร้อยละ 10.23 โดยเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 266,213 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.01 รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ 337,944 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.13 และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 15,293 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.68 สำหรับปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในไตรมาสที่สองของปี 2556 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก 293,492 คัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.38 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด โดยเป็นรถยนต์นั่ง 117,569 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.06 และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน (รวมรถยนต์ PPV) 201,328 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 68.60 หากพิจารณาในไตรมาสที่สองของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงร้อยละ 14.15 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ลดลงร้อยละ 18.31 และ 11.52 ตามลำดับ แต่ปริมาณการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.81

การจำหน่าย ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สองของ ปี 2556 (เม.ย.-มิ.ย.) มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ 325,958 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ 327,099 คัน ร้อยละ 0.38 หากแยกตามประเภทรถยนต์ มีการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 148,644 คัน รถปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ 136,616 คัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 20,645 คัน และรถยนต์ PPV (รวมรถยนต์ SUV) 20,053 คัน โดยการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และรถยนต์ PPV ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 4.11 และ 0.03 ตามลำดับ แต่มีการจำหน่ายรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.85 และ 14.70 ตามลำดับ หากพิจารณาในไตรมาสที่สองของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงร้อยละ 20.67 โดยการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ และรถยนต์ PPV(รวม SUV) ลดลงร้อยละ 25.59, 14.13, 4.62 และ 33.29 ตามลำดับ

การส่งออก ปริมาณการส่งออกรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สองของ ปี 2556 (เม.ย.-มิ.ย.) มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ (CBU) จำนวน 250,400 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการส่งออกรถยนต์ 236,328 คัน ร้อยละ 6.04 ถ้าหากคิดเป็นมูลค่าการส่งออก มีมูลค่า 115,173.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์ 114,419.07 ล้านบาท ร้อยละ 0.75 หากพิจารณาในไตรมาสที่สองของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกรถยนต์ ลดลงร้อยละ 11.82 และเมื่อคิดเป็นมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 8.33

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งของไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 มีมูลค่า 89,153.49 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 60.64 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถยนต์นั่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 28.03, 20.61 และ 10.09 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถยนต์นั่งไปออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 224.20, 20.61 และ 10.09 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกรถแวนและปิกอัพของไทยในช่วงครึ่งปีแรกของ ปี 2556 มีมูลค่า 7,276.76 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 12.55 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถแวนและปิกอัพ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และบรูไน คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 87.85, 6.14 และ 1.63 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถแวนและปิกอัพไปญี่ปุ่น และบรูไน ลดลงร้อยละ 12.78 และ 2.26 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกรถบัสและรถบรรทุกของไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 มีมูลค่า 150,845.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 1.39 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถบัสและรถบรรทุก ได้แก่ ออสเตรเลีย ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 26.44, 9.99 และ 5.03 ตามลำดับ โดยการส่งออก รถบัสและรถบรรทุกไปออสเตรเลีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.30 และการส่งออกไปซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลดลงร้อยละ 10.71 และ15.95 ตามลำดับ

การนำเข้า การนำเข้ารถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2556 (เม.ย.-มิ.ย.) มีการนำเข้ารถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก คิดเป็นมูลค่า 8,734.29 และ 3,624.02 ล้านบาท ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า การนำเข้ารถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ลดลงร้อยละ 29.71 และ 42.35 ตามลำดับ หากพิจารณาในไตรมาสที่สองของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า การนำเข้ารถยนต์นั่งลดลงร้อยละ 9.23 และการนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ลดลงร้อยละ 43.14 แหล่งนำเข้ารถยนต์นั่งที่สำคัญในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 31.10, 26.14 และ 17.41 ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถยนต์นั่งจากอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี ลดลงร้อยละ 15.89, 45.22 และ 20.94 ตามลำดับ ส่วนแหล่งนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี และเกาหลีใต้ คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 27.14, 13.43 และ 10.65 ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ลดลงร้อยละ 68.33 และ 34.57 ตามลำดับ แต่การนำเข้ารถยนต์นั่งจากเยอรมนี เพิ่มขึ้นร้อยละ 226.37

สรุปและแนวโน้มรถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่สองของปี 2556 มีปริมาณการผลิตขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วแต่เป็นการขยายตัวในอัตราที่ลดลง การจำหน่ายค่อนข้างทรงตัว การส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์นั่งขยายตัวสูง (ร้อยละ 60.64) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปเยอรมนี การ์ตา และญี่ปุ่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ไตรมาสที่สามของปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวเพียงเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่สองของปี 2556 เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถผลิตและส่งมอบรถที่เป็นยอดตกค้างให้กับผู้บริโภคจากโครงการรถยนต์คันแรกได้ครบตามจำนวนที่สั่งจองแล้ว โดยข้อมูลจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถยนต์ ประมาณการว่า ในไตรมาสที่สามของปี 2556 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 6 แสนคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 45-50

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์

การผลิต ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สองของ ปี 2556 (เม.ย.-มิ.ย.) มีจำนวน 603,409 คัน ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ 659,777 คัน ร้อยละ 8.54 แบ่งเป็นการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 515,863 คัน ลดลงร้อยละ 13.52 แต่มีการผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 87,546 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.33 หากพิจารณาในไตรมาสที่สองของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.95 โดยมีการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.93 แต่การผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต ลดลงร้อยละ 2.51

การจำหน่าย ตลาดรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2556 (เม.ย.-มิ.ย.) มีจำนวน 548,903 คัน ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ 586,435 คัน ร้อยละ 6.40 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 259,860 คัน ลดลงร้อยละ 5.43 การจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสกูตเตอร์ 249,186 คัน ลดลงร้อยละ 14.21 แต่มีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 39,857 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.16 หากพิจารณาในไตรมาสที่สองของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 0.03 โดยมีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว รถจักรยานยนต์แบบสกูตเตอร์ ลดลงร้อยละ 1.54 และ 0.76 ตามลำดับ แต่มีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.06

การส่งออก ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU&CKD) ของประเทศไทยในช่วง ไตรมาสที่สองของปี 2556 (เม.ย.-มิ.ย.) จำนวน 241,464 คัน (เป็นการส่งออก CBU จำนวน 80,481 คัน และ CKD จำนวน 160,983 ชุด) เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ 198,002 คัน ร้อยละ 21.94 หากคิดเป็นมูลค่าการส่งออกมีมูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ 8,316.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 7,135.26 ล้านบาท ร้อยละ 16.56 หากพิจารณาในไตรมาสที่สองของปี 2556 เปรียบเทียบกับ ไตรมาสที่ผ่านมา มีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU&CKD) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.70 แต่เมื่อคิดเป็นมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 6.59

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ของไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 มีมูลค่า 18,601.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 9.71 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถจักรยานยนต์ ได้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 17.90, 14.13 และ 13.18 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถจักรยานยนต์ไปสหราชอาณาจักร และอินโดนีเซีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.26 และ 68.24 ตามลำดับ แต่การส่งออกรถจักรยานยนต์ไปสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 35.12

การนำเข้า การนำเข้ารถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2556 (เม.ย.- มิ.ย.) มีการนำเข้ารถจักรยานยนต์ คิดเป็นมูลค่า 1,687.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการนำเข้ารถจักรยานยนต์ 958.85 ล้านบาท ร้อยละ 76.02 หากพิจารณาในไตรมาสที่สองของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า การนำเข้ารถจักรยานยนต์ ลดลงร้อยละ 13.30 จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า แหล่งนำเข้ารถจักรยานยนต์ที่สำคัญในครึ่งปีแรกของปี 2556 ได้แก่ เวียดนาม ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า ร้อยละ 78.57, 4.95 และ 4.56 ตามลำดับ โดยมีการนำเข้ารถจักรยานยนต์จากเวียดนาม ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 446.37, 31.08 และ 150.13 ตามลำดับ

สรุปและแนวโน้ม รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่สองของปี 2556 การผลิตหดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไตรมาสที่สามของปี 2556 คาดว่าจะหดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่สองของปี 2556 โดยข้อมูลจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ ประมาณการว่า ในไตรมาสที่สามปี 2556 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์ 5.8 แสนคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 85-90 และการผลิตเพื่อการส่งออกร้อยละ 10-15

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (OEM) ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2556 (เม.ย.-มิ.ย.) มีมูลค่า 45,767.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 7.32 การส่งออกเครื่องยนต์มีมูลค่า 6,265.06 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 18.78 และการส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ 4,578.21 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 7.91 หากพิจารณาใน ไตรมาสที่สองของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่ามูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (OEM) และชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.67 และ 9.91 ตามลำดับ ในทางกลับกันเครื่องยนต์มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 11.36

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 มีมูลค่า 106,956.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 1.44 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 15.50, 12.42 และ 11.07 ตามลำดับ โดยการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ไป อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.56 และ 21.03 ตามลำดับ แต่การส่งออกไปญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 18.63 การส่งออกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ (OEM) ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2556 (เม.ย.-มิ.ย.) มีมูลค่า 1,657.34 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 38.82 การส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีมูลค่า 247.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 27.14 หากพิจารณาในไตรมาสที่สองของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ (OEM) ลดลง ร้อยละ 22.07 แต่การส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.17

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ของไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 มีมูลค่า 12,668.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 8.63 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ ได้แก่ อินโดนีเซีย กัมพูชา และบราซิล คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 11.81, 11.25 และ 9.09 ตามลำดับ โดยการส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ไปอินโดนีเซียลดลงร้อยละ 38.23 ส่งออกไปกัมพูชาและบราซิล เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.17 และ19.91 ตามลำดับ

การนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2556 (เม.ย.-มิ.ย.) มีมูลค่า 90,851.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 36.31 หากพิจารณาไตรมาสที่สองของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ลดลงร้อยละ 12.35 แหล่งนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ที่สำคัญในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 51.54, 11.20 และ 4.87 ตามลำดับ โดยการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์จากญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.36, 25.96 และ 79.30 ตามลำดับ

การนำเข้าชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2556 (เม.ย.-มิ.ย.) มีมูลค่า 4,333.35 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.56 หากพิจารณาในไตรมาสที่สองของปี 2556 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ ลดลงร้อยละ 17.08 แหล่งนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ ที่สำคัญในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 39.31, 14.64 และ 10.41 ตามลำดับ โดยการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์จากญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.78, 0.85 และ 7.24 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ยางรถที่ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยมีสาระสำคัญของร่างประกาศ ดังนี้

1) ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำยางรถที่ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2546 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2546

2) กำหนดบทนิยาม "ยางรถที่ใช้แล้ว" หมายความว่า ยางรถที่หล่อดอกใหม่ ยางรถที่ใช้งานแล้ว และให้หมายความรวมถึงเศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นยางรถตามที่กำหนด

3) ให้ยางรถที่ใช้แล้วชนิดที่ใช้กับรถยนต์นั่ง (รวมถึงสเตชั่นแวกอนและรถแข่ง) ยางชนิดที่ใช้กับรถจักรยานยนต์ ยางชนิดที่ใช้กับรถจักรยาน เศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นยางของรถ ตามพิกัดอัตราศุลกากรที่กำหนด เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร

4) ให้ยางรถที่ใช้แล้วชนิดที่ใช้กับรถบัสหรือรถบรรทุก ตามพิกัดอัตราศุลกากรที่กำหนด เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร

5) ความในข้อ 3. และ ข้อ 4. มิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่นำยางรถที่ใช้แล้วเข้ามาเพื่อการศึกษาวิจัยเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่อการแข่งขันรถ เพื่อการท่องเที่ยว หรือยานพาหนะนำติดมาเพื่อใช้กับยานพาหนะนั้น ๆ ในปริมาณเท่าที่จำเป็น (ที่มา : www.thaigov.go.th)

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ