สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2556 (เมษายน มิถุนายน 2556)(อุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2013 14:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ไตรมาส 2 ปี 2556 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน ซึ่งโดยปกติในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี จะเป็นช่วงที่แครกเกอร์ต่างๆ ปิดซ่อมบำรุงประจำปี รวมถึงความต้องการสินค้ามีน้อย จากการที่ยังมีสินค้าคงคลังเหลือจากไตรมาสก่อน และผ่านช่วงเทศกาลต่างๆ มาแล้ว ผู้ผลิตจึงชะลอการสั่งซื้อวัตถุดิบลง ทำให้ราคาเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบๆ

การผลิต

ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตโพลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (Low Density Polyethylene, LDPE) เกรดเคลือบซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงและมีศักยภาพในการขยายตัว อีก 60,000 ตัน/ปี เป็น 152,000 ตัน/ปี ภายในปี 2559 นอกจากนี้ ยังมีโครงการความร่วมมือกับประเทศอินโดนีเซียเพื่อลงทุนสร้างแครกเกอร์แนฟธาในประเทศอินโดนีเซีย กำลังการผลิต 1,000,000 ตัน/ปี เนื่องจากอุปสงค์ในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพิ่มสูงขึ้นมากจากจำนวนชนชั้นกลางของอินโดนีเชียที่มีหลายสิบล้านคน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2560

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไตรมาสที่ 2 ปี 2556 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมีมูลค่า 70,589.98 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 2.91 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 8.60 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2556 โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นมีการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.55 ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลางและขั้นปลายมีการส่งออกลดลงร้อยละ 38.85 และ 6.19 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2555 ทั้งนี้ สาเหตุน่าจะมาจากความต้องการของผู้ใช้ปลายทางลดลง โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งมีแผนขยายกำลังการผลิตในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า และมีการปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจลง รวมถึงปรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับภาคอสังหาริมทรัพย์ มากกว่าภาคการผลิต ทำให้ความต้องการวัตถุดิบเม็ดพลาสติกในประเทศลดลง

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมีมูลค่า 147,820.95 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.89 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไตรมาสที่ 2 ปี 2556 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีมูลค่า 27,580.59 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 8.31 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2555 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.30 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ทั้งนี้ การนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีพิกัด 29024300 คือ กรดเทเลฟเทลิคเอซิด (PTA) เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากการที่มีบางหน่วยการผลิตในช่วงปลายไตรมาสประสบปัญหาทางเทคนิค ซึ่ง PTA จะนำมาผสมกับโมโนเอทิลีนไกลคอล (MEG) ผลิตเป็นเม็ดพลาสติก PET เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตขวด และเส้นใยโพลีเอสเทอร์ ซึ่งในไตรมาสก่อนหน้า มีการนำเข้าน้อยกว่าปกติเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านๆ มา อันเกิดจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป

สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมีมูลค่า 49,770.14 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 13.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ราคาสินค้า

ราคาเอธิลีนในตลาดเอเชียในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 ราคาเฉลี่ยตลอดไตรมาสอยู่ที่ประมาณ 37.06 บาทต่อกิโลกรัม และราคาโพรพิลีนเฉลี่ยตลอดไตรมาสอยู่ที่ 40.83 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาของทั้งสองผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า

ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2556 ราคาเฉลี่ยเม็ดพลาสติก PE และ PP (ราคาเฉลี่ย SE Asia CFR ) ของ LDPE, HDPE, และ PP อยู่ที่ระดับ 43.38, 43.06 และ 44.43 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้ง 3 มีระดับราคาเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 2 ปี 2556 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่ลดลง โดยมีปัจจัยมาจากการที่ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทยมีการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง รวมถึงการขยายกำลังการผลิตเพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้า

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 2 ปี 2556 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ซึ่งเกิดจากหน่วยผลิตบางแห่งในประเทศเกิดปัญหาทางเทคนิค จึงต้องนำเข้ามาทดแทน

แนวโน้ม

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี 2556 คาดว่าอัตราการขยายตัวจะค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2555 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และต่างประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยเฉพาะประเทศจีน มีอัตราการขยายตัวที่ทรงตัว จึงส่งผลให้การส่งออกและนำเข้าของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไทยมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำตามไปด้วย อย่างไรก็ตามคาดว่าปัจจัยหนุนจากภายในประเทศ คือ การที่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลาสติก มีการขยายตัว น่าจะทำให้ความต้องการวัตถุดิบเม็ดพลาสติกมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีดีขึ้น ดังนั้น ในระยะสั้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจึงควรวางแผนการผลิตเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ และอาจชะลอแผนการผลิตเพื่อส่งออกเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลให้คำสั่งซื้อชะลอตัวลง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ