สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2556 (เมษายน มิถุนายน 2556)(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2013 14:33 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ยังอยู่ในภาวะสดใส มีการเติบโต อย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์สำหรับการบรรจุหีบห่อสินค้าของอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อตุสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นต้น โดยคาดว่า เมื่อมีการเปิดประชาคม เศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 จะสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ของไทยขยายตัวได้ในภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมนี้ยังมีคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญ ทั้งในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และในเอเซีย ได้แก่ จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมที่จะรับกระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคที่จะตามมา รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองความต้องการได้ในทุกระดับ

การผลิต

ไตรมาส 2 ปี 2556 การผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.82 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 1) โดย ในส่วนของกระดาษ ได้แก่ กระดาษคราฟท์ มีการผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.07 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.71 และกระดาษคราฟท์ มีการผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.38 เป็นผลจากการขยายตัวตามภาวะ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ในการบรรจุหีบห่อ จากความต้องการใช้ในภาคการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการใช้มากยิ่งขึ้นจากการรณรงค์ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและกระดาษที่ใช้แล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่าย (Recycle) สำหรับการผลิตกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก ลดลงร้อยละ 2.79 6.18 และ 3.69 ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษในไตรมาสนี้กับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก ลดลงเช่นกัน ร้อยละ 8.88 1.21 และ 11.54 ตามลำดับ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อลดลงซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปผลิตในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องรองรับความต้องการบริโภค ซึ่งอยู่ในภาวะชะลอตัวใน ไตรมาสนี้

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

1. เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 34.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.20 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 82.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 2) เป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดต่าง ๆ ขยายตัวจากการส่งมอบสินค้าต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน เพื่อจัดจำหน่ายต่อและนำไปผลิตสินค้าที่ทำจากเยื่อกระดาษตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อาทิ จีน อินเดีย และประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลัก คือ จีน จะมีอิทธิพลต่อตัวเลขมูลค่าการส่งออกของไทยสูง เพราะมีความต้องการใช้ในปริมาณที่มากกว่าประเทศอื่น ๆ ดังนั้นหากบางช่วงจีนไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ก็จะมีการนำเข้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 408.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.75 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 2) และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.51 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษที่สำคัญโดยเฉพาะประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนเพิ่มขึ้น ซึ่งกระดาษชนิดนี้ประเทศไทยมีสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกมากที่สุดเมื่อเทียบกับกระดาษชนิดอื่น ๆ สูงถึงร้อยละ 38.65 ของมูลค่าการส่งออกกระดาษ และผลิตภัณฑ์ กระดาษ รองลงมา คือ กระดาษชำระ กระดาษแข็ง บรรจุภัณฑ์กระดาษ (หีบ กล่อง ซองฯ) กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษอื่น ๆ และกระดาษคราฟท์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.90 16.17 11.13 9.95 และ 2.20 ตามลำดับ

3. หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 26.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.10 และร้อยละ 41.31 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ในตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยการนำเข้าขยายตัวถึงร้อยละ 304.67 นอกจากนี้ ยังมีตลาดเมียนมาร์ อินโดนีเซีย และสหราชอาณาจักร ที่มีการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 40.63 51.02 และ 44.42 ตามลำดับ

การนำเข้า

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 134.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 19.80 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนเนื่องจาก ในประเทศสามารถผลิต ได้ค่อนข้างมากจึงลดการนำเข้าลง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.5 (ตารางที่ 3) สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าเพื่อผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การนำเข้าเยื่อกระดาษส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าในกลุ่มสินค้าที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้ อาทิ เยื่อกระดาษใยยาว และกระดาษที่มีคุณสมบัติพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้า จากประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ แอฟริกาใต้

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 371.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.57 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.61 เมื่อ เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3) โดยกระดาษและ กระดาษแข็ง มีสัดส่วนการนำเข้า มากที่สุด ร้อยละ 55.06 ของการนำเข้ากระดาษและ ผลิตภัณฑ์กระดาษ รองลงมา คือ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษและผลิตภัณฑ์ กระดาษอื่น ๆ กระดาษคราฟท์ และกระดาษหนังสือพิมพ์ มีสัดส่วนร้อยละ 17.78 16.17 7.04 และ 3.95 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามมีการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนจากประเทศจีนจำนวนมากมาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เนื่องจากมีราคาถูกกว่าภายในประเทศ และอัตราภาษีนำเข้าเป็นศูนย์

3. สิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 71.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.83 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.50 เมื่อเปรียบเทียบ กับไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าหนังสือ ตำรา แบบเรียน และวารสาร เพื่อการศึกษาและความบันเทิง โดยตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน และสหราชอาณาจักร มีสัดส่วนร้อยละ 32.43 17.66 10.28 และ 8.9 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้อัตราการอ่านเพิ่มขึ้นจาก 2-5 เล่ม เป็น 15 เล่มต่อคนต่อปี เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงหนังสือได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ขยายตัวได้ รวมถึงการจัดทำโครงการต่าง ๆ รองรับ กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลกประจำปี 2556 (World Book Capital 2013) จากการคัดเลือกของยูเนสโก

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาวะการผลิต เยื่อกระดาษและกระดาษคราฟท์ ของไตรมาส 2 ปี 2556 เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่นำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ ซึ่งขยายตัว ตามความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ ในการบรรจุหีบห่อ ขยายตัวค่อนข้างมาก เช่น ในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง เป็นต้น สำหรับกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก การผลิตลดลง เนื่องจากกำลังซื้อในภาคธุรกิจและภาคประชาชนชะลอตัวตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น และมีการนำเข้ากระดาษบางประเภทซึ่งมีราคาต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศเพิ่มขึ้น ในส่วนการส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น เป็นผลจากผู้ประกอบการสามารถรักษาฐานการส่งออกไปยังตลาดหลัก ได้แก่ จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ การแข็งค่าของเงินบาท ราคาวัตถุดิบ ตลอดจนการปรับค่าจ้างแรงงานตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 3 ปี 2556 คาดว่า การผลิตทั้งเยื่อกระดาษและกระดาษโดยรวม จะขยายตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจและมีทิศทางเดียวกันกับไตรมาสที่ 2 สำหรับการส่งออกเยื่อกระดาษและสิ่งพิมพ์ มีแนวโน้มขยายตัวแม้ว่าจะมีการใช้สื่อดิจิทัลอย่างกว้างขวาง แต่กระดาษยังคงเป็นที่ต้องการใช้ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์เพื่อการบริโภคและอุปโภคซึ่งผู้ประกอบการจะต้องมีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและออกแบบใหม่ ๆ ให้สอดรับกับพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคและกระแสอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ