สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2556 (เมษายน - มิถุนายน 2556)(อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2013 14:40 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยในขณะนี้ส่งผล กระทบอย่าง มากต่อภาคการผลิตของอุตสาหกรรม ประกอบกับค่าจ้างแรงงานที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มลดลง กดดันให้ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนไปใช้ทุนเข้มข้นและเคลื่อนย้ายกิจกรรมมูลค่าเพิ่มต่ำไปประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า เพื่อหวังลดความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีกำไรเหลือน้อยมาก อาจไม่สามารถรับแรงกระแทกจากภายนอก เช่น การแข็งค่าของเงินบาทได้

การผลิตและการจำหน่าย

กลุ่มสิ่งทอ ในไตรมาส 2 ปี 2556 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ มีการผลิตลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.63 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สอดคล้อง กับการจำหน่ายที่ลดลงร้อยละ 2.58 ตามวัฏจักรของอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่จะปรับลดลงในไตรมาสนี้ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.12 และการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.56 จากความต้องการของตลาดภายในประเทศ ประกอบกับคำสั่งซื้อทั้งจากอาเซียน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ขยายตัวเพิ่มขึ้น (ตารางที่ 1)

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ในไตรมาส 2 ปี 2556 การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าถัก) และการจำหน่าย ดัชนีปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ร้อยละ 5.75 และ 7.00 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิต และ การจำหน่าย เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.17 และ 1.31 ตามลำดับ (ตารางที่ 2) สำหรับการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้น เครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าทอ) การผลิต และ การจำหน่าย เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ร้อยละ 5.46 และ 1.57 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน การผลิต และ การจำหน่ายลดลงร้อยละ 7.15 และ 7.88 ตามลำดับ (ตารางที่ 3) เนื่องจากคำสั่งซื้อลดลง ในกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลัก ประกอบกับความผันผวนของค่าเงินบาทในครึ่งปีหลังเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก ปัจจัยเหล่านี้ล้วนกระทบต่อคำสั่งซื้อสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวม

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ การส่งออก

ไตรมาส 2 ปี 2556 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าการส่งออก 1,883.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.31 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.95 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อทั้งจากตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียน และเอเซียขยายตัว โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และบังคลาเทศ มีความต้องการเพื่อนำไปผลิตและส่งออกไปตลาดอื่น ๆ โดยผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มส่งออกที่สำคัญ ได้แก่

1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการส่งออก 1,174.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.05 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.30 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.35 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

1.1 ผ้าผืนและด้าย ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 631.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.66 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.03 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อน ประกอบด้วย ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออก 401.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63.58 และด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ มีมูลค่าการส่งออก 229.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.42 โดยตลาดส่งออกสำคัญ คือเวียดนาม จีน บังคลาเทศ และญี่ปุ่น

1.2 เคหะสิ่งทอ ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 71.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.74 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญ คือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

1.3 เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 206.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.64 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.47 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญ คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน

1.4 สิ่งทออื่น ๆ ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 163.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.14 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญ คือ ญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย

2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 709.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.11 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 3.35 เมื่อเทียบกับ ไตรมาส เดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.65 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

2.1 เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออก 613.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.40 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 2.55 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 86.47 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม ทั้งหมด สำหรับตลาดสำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และอาเซียน สำหรับตลาดสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีมูลค่าการส่งออกลดลง เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อลดลง

การนำเข้า

ไตรมาส 2 ปี 2556 มีการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคิดเป็นมูลค่า 1,212.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.49 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 9.04 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งทอต้นน้ำที่เป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์นำเข้าที่สำคัญ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้า (ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทอ อื่น ๆ) รวมทั้งสิ้น 1,077.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.41 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลง ร้อยละ 11.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 88.93 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ซึ่งผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้า มีดังนี้

1.1 เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่านำเข้า 249.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 24.81 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บราซิล และจีน

1.2 ด้ายทอผ้าฯ มีมูลค่านำเข้า 200.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 3.71 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และไต้หวัน

1.3 ผ้าผืน มีมูลค่านำเข้า 450.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 9.28 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

1.4 ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 106.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.32 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา

2. กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 134.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 14.24 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.07 ของการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับตลาดนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ฮ่องกง เวียดนาม และตุรกี

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 รับทราบผลกระทบของค่าเงินบาทที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งมีข้อสรุปคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเกินไป โดยแข็งค่ากว่าค่าเงินของคู่แข่งในภูมิภาคและขาดเสถียรภาพ ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจโดยรวม ที่ประชุมจึงได้ขอให้ภาครัฐพิจารณาให้ความช่วยเหลือ เช่น ผลักดันให้ใช้เงินบาทเป็นเงินสกุลสำหรับการค้าขายในภูมิภาค การลดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาค การส่งเสริมสนับสนุนให้มีผู้เรียนสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น และการจัดทำโครงการพื้นฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านพลังงาน การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้วัตถุดิบในประเทศเพิ่มขึ้น การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ขายสินค้าให้กับผู้ส่งออก และสามารถใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าภายในประเทศโดยไม่ต้องแลกเป็นเงินบาท

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ) ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีฐานข้อมูลปัจจัยสนับสนุนการลงทุนและข้อมูลเชิงลึกรายประเทศ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาย้ายหรือขยายฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนในระยะต่อไป

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

กลุ่มสิ่งทอ การผลิต และการส่งออก ผลิตภัณฑ์สิ่งทอในไตรมาส 2 ปี 2556 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานการผลิตที่ต่ำในปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีคำสั่งซื้อทั้งจากตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียน และเอเซียที่ขยายตัว โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และบังคลาเทศ ส่งผลให้การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพิ่มสูงขึ้น

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบ กับไตรมาสก่อนแต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากในปีที่ผ่านมาเกิดวิกฤตน้ำท่วม ทำให้ฐานการผลิตต่ำ ในขณะที่การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบ ไตรมาสก่อนแต่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากคำสั่งซื้อของกลุ่มสหภาพ ยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักลดลง อย่างไรก็ตาม มีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นจากจีน เวียดนาม และบังคลาเทศ ในรูปเสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาถูกสำหรับตลาดระดับล่าง

แนวโน้ม

แนวโน้มในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 คาดว่า การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน จะมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้น เพื่อส่งมอบในอีก 1 เดือน หรือ 3 เดือนข้างหน้า สำหรับการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในไตรมาส 3 ปี 2556 คาดว่า จะขยายตัวได้ทั้งในส่วนของเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน เพื่อสนองความต้องการโดยเฉพาะผู้ผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปคาดว่า จะขยายตัวเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะจากตลาดสหรัฐอเมริกา

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ