สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2556 (เมษายน - มิถุนายน 2556)(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2013 14:44 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตและการจำหน่ายยาในประเทศชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา โดยผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สินค้าใหม่ที่เข้าสู่ตลาดยังต้องอาศัยระยะเวลาในการยอมรับจากผู้สั่งใช้ ด้านการส่งออกมีการขยายตัวสูงในประเทศเวียดนามและเมียนมาร์ ส่วนการนำเข้าหดตัวลงเนื่องจากการควบคุมการเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการภาครัฐ

การผลิต

ไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 การผลิตยาในประเทศมีปริมาณ 6,754.80 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 16.81 และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 มีปริมาณการผลิต 13,292.41 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 15.15 เนื่องจากผู้ผลิตบางรายเริ่มเปลี่ยนแผนการตลาด โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงไม่กี่รายการ เช่น ยารักษาโรคเฉพาะทางที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ (ความดัน เบาหวาน หัวใจ) จากเดิมที่เน้นผลิตยาที่จำหน่ายได้ปริมาณมากแต่มูลค่าเพิ่มต่ำเป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการผลิตมีการขยายตัว ร้อยละ 3.32 ซึ่งผู้ผลิตจะเพิ่มปริมาณการผลิตในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี เนื่องจากเป็นช่วงที่จะมีการเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 มีปริมาณ 5,775.55 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 11.03 และ 4.36 ตามลำดับ สำหรับปริมาณการจำหน่ายช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 มีปริมาณ 11,814.22 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.47 เนื่องจากยาที่ทำการตลาดใหม่ยังต้องอาศัยเวลาในการยอมรับจากแพทย์ผู้สั่งใช้ นอกจากนี้การควบคุมการเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการข้าราชการ เพื่อไม่ให้เกิดการใช้ยาเกินความจำเป็น ทำให้โรงพยาบาลภาครัฐซึ่งเป็นตลาดหลักของผู้ผลิตต้องลดปริมาณในการจัดซื้อ รวมทั้งยาบางชนิดตลาดมีความต้องการสูงแต่ถูกนำไปใช้ผสมเป็นสารเสพติดจึงถูกเฝ้าระวังและควบคุมปริมาณการจำหน่ายจากหน่วยงานที่กำกับดูแล

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 มีมูลค่า 2,141.22 ล้านบาท ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 23.86 และ 6.90 ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และฮ่องกง มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,355.67 ล้านบาท หรือร้อยละ 63.31 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

สำหรับช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคมีมูลค่า 4,144.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 28.09 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีมูลค่าการส่งออกรวม 2,715.62 ล้านบาท หรือร้อยละ 65.53 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

มูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวสูงมาก เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลัก คือ อาเซียน มีการขยายตัวดี โดยเฉพาะประเทศเวียดนามและเมียนมาร์ มีการเติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ประมาณร้อยละ 50 และ 20 ตามลำดับ โดยทั้ง 2 ประเทศถือเป็นตลาดใหญ่และมีโอกาสเติบโต ทำให้ผู้ผลิตไทยที่มีความพร้อมในการส่งออกทำการแสวงหาพันธมิตรทำหน้าที่เป็นตัวแทนการจำหน่ายในประเทศดังกล่าว ตลอดจนผู้นำเข้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กระจายสินค้าได้ให้ความสำคัญกับตลาดดังกล่าวมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 มีมูลค่า 9,739.76 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 16.82 และ 15.38 ตามลำดับ โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการนำเข้ารวม 4,204.21 ล้านบาท หรือร้อยละ 43.17 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

สำหรับการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 มีมูลค่า 21,249.26 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.41 หรือร้อยละ 44.37 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร มีมูลค่าการนำเข้า 9,099.45 ล้านบาท หรือร้อยละ 42.87 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

ยาที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นยามีสิทธิบัตรจากผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป แต่เมื่อภาครัฐยังคงดำเนินนโยบายควบคุมการเบิกจ่ายยาในระบบสวัสดิการของข้าราชการที่เข้มงวด ทำให้แพทย์ต้องสั่งจ่ายยาอย่างสมเหตุผล เพื่อไม่ให้เกิดการใช้ยาเกินความจำเป็น การนำเข้ายาจึงมีอัตราการเติบโตที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นในปี 2555 ซึ่งประเทศไทยได้รับผลกระทบจากอุทกภัยช่วงปลายปี 2554 ส่งผลให้ยาหลายประเภทผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ การนำเข้ายาในปี 2555 จึงมีการขยายตัวสูงมาก

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตยาไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 หดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตเริ่มมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงไม่กี่รายการ แทนที่จะเน้นผลิตยาที่จำหน่ายได้ปริมาณมากแต่มูลค่าเพิ่มต่ำเช่นในอดีต เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา ในส่วนการจำหน่ายหดตัวลงเช่นกันเนื่องจากยาที่ทำการตลาดใหม่ยังต้องอาศัยเวลาในการยอมรับจากแพทย์ผู้สั่งใช้ นอกจากนี้การประหยัดงบประมาณของภาครัฐ ทำให้โรงพยาบาลรัฐบาล ซึ่งเป็นตลาดหลักลดงบประมาณในการจัดซื้อ การส่งออกมีการขยายตัวสูงมาก โดยเฉพาะประเทศเวียดนามและเมียนมาร์ ทั้งจากผู้ผลิตไทยที่มีความพร้อมในการส่งออกทำการแสวงหาพันธมิตรทำหน้าที่เป็นตัวแทนการจำหน่ายในประเทศดังกล่าว และผู้นำเข้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กระจายสินค้าได้ให้ความสำคัญกับตลาดดังกล่าวมากขึ้น ส่วนการนำเข้าหดตัวลงจากการควบคุมการเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการภาครัฐ

แนวโน้ม

ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสนี้ เนื่องจากเป็นช่วงปลายปีงบประมาณ โรงพยาบาลของรัฐซึ่งเป็นตลาดหลักของผู้ผลิตยาจะเร่งการใช้จ่ายงบประมาณ สำหรับมูลค่าการนำเข้า คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราที่ไม่สูงนัก เนื่องจากนโยบายด้านสุขภาพของภาครัฐ ส่วนมูลค่าการส่งออก คาดว่า จะขยายตัว เพิ่มขึ้นเช่นกันก่อนที่ประเทศคู่ค้าจะลดการนำเข้าลงในไตรมาสสุดท้าย เพื่อบริหารปริมาณสินค้าคงคลังไม่ให้เหลือมากเกินไปในช่วงปลายปี

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ