ภาวะอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ ไตรมาสที่ 2 ปี 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ซึ่งขยายตัวตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะในส่วนของยางยานพาหนะ อย่างไรก็ตาม สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ปรับตัวลดลงเนื่องจากความต้องการของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปลดลง สำหรับราคายางยังคงปรับตัวลดลง ถึงแม้ว่าอุปทานยางธรรมชาติลดลงจากการที่อยู่ในช่วงฤดูยางผลัดใบ
การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 27.68 เนื่องจากในช่วงต้นของไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ หยุดพักกรีดยาง จึงทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและช่วงครึ่งปีแรกการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นลดลง 2.08 และ 5.38 ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะในตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ทำให้ความต้องการใช้ยางแปรรูปเพื่อนำมาผลิตผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ ลดลงตามไปด้วย
ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ คือ ผลิตภัณฑ์ยางล้อ ประกอบด้วย ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกและยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ผลิตภัณฑ์ยางล้อปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางหล่อดอก ซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ 3.13 1.08 และ 4.44 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและในช่วงครึ่งปีแรก ผลิตภัณฑ์ยางล้อยังขยายตัวได้ดี ปรับตัวเพิ่มขึ้นเทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะการผลิตยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.41 ซึ่งขยายตัวตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.86 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.68
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ ช่วงหกเดือนแรก เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.84 17.03 และ 9.17 ตามลำดับ สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อน การจำหน่ายยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกรถบรรทุก/แทรกเตอร์ และยางหล่อดอก ปรับตัวลดลง ร้อยละ 3.19 3.88 และ 4.55 ตามลำดับ แต่ในกลุ่มของยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.03 และ 0.98 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางล้อปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางนอกรถบรรทุก/แทรกเตอร์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.04 และ 1.21 ตามลำดับ สำหรับในส่วนของการจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 26.58 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.49
สำหรับการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในช่วงครึ่งปีแรก ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.17 สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถุงมือยางและยางล้อปรับตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้นยางรถบรรทุก/แทรกเตอร์
ในภาพรวมอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศถือว่ายังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ที่ขยายตัวตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยังขยายตัวได้เนื่องจากกระแสวิตกกังวลเรื่องสุขภาพอนามัย และเป็นสินค้าจำเป็นทั้งทางการแพทย์ ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 1,726.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และช่วงครึ่งปีแรก มูลค่าการส่งออกยาง แปรรูปขั้นต้น ลดลงร้อยละ 28.19 10.23 และ 9.38 ตามลำดับ ซึ่งแม้ว่าปริมาณการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น แต่ราคายางปรับตัวลดลงมาก จึงทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงตามไปด้วย สำหรับตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญ คือ ประเทศจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลคาไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 2,137.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 0.97 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและช่วงครึ่งปีแรก มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.94 และ 2.37 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการส่งออกถุงมือยาง/ถุงมือตรวจปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและช่วงครึ่งปีแรก คิดเป็นร้อยละ 15.29 3.78 และ 7.00 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการของตลาดหลักที่สำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปปรับตัวลดลง
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 การนำเข้ายางและเศษยาง มีมูลค่า 314.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยคิดเป็นร้อยละ 0.69 แต่เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและช่วงครึ่งปีแรก มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 14.47 และ 4.44 ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ ประกอบด้วย ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ มีมูลค่า 319.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.67 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.84 และเมื่อพิจารณาในช่วงครึ่งปีแรก มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.03
การนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ คือ ยางรถยนต์ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ซึ่งทำให้การแข่งขันของอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในประเทศ ปี 2556 จะมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากมียางรถยนต์นำเข้าจากประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้น โดยใช้การตัดราคาในการแข่งขัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้รถประเภท Eco Car ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกรอบข้อตกลง FTA ส่งผลให้การนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นด้วย ตลาดนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเยอรมนี
ราคายางไตรมาสที่ 2 ปี 2556 ปรับตัวลดลง ถึงแม้จะมีปริมาณยางพาราออกสู่ตลาดน้อยลง เพราะอยู่ในช่วงฤดูยางผลัดใบในเดือนเมษายน -พฤษภาคม ซึ่งทำให้ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ อย่างไรก็ตาม ราคายางเริ่มปรับตัวลงอีกครั้ง เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้การบริโภคยางพาราอยู่ในระดับต่ำ
1. นโยบายการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคายาง เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ โดยรัฐบาลได้รับซื้อยางพาราจากเกษตรกร เป็นการดึงปริมาณผลผลิตยางออกจากตลาด เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาของยางและผลักให้ราคายางเพิ่มขึ้น
2. ในปีงบประมาณ 2556 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัย โครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราสู่มาตรฐานสากล และโครงการพัฒนาระบบข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าว คือสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบยางผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และได้มาตรฐานสากลซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
3. ประเด็นสำคัญที่น่ากังวลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางของไทยในระยะต่อไป คือ ตามที่ร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... เปิดช่องให้คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย สามารถประกาศเก็บเงินค่าธรรมเนียมการส่งออกจากผลิตภัณฑ์ยางประเภทใดก็ได้ โดยประเด็นนี้จะสร้างความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งเมื่อมีการประกาศเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง จะทำให้ผลิตภัณฑ์ยางที่ส่งออกจากประเทศไทยมีต้นทุนสูงกว่าผลิตภัณฑ์ยางจากประเทศอื่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ยางในประเทศไทย ซึ่งย่อมจะส่งผลต่อการตัดสินใจในการขยายการลงทุนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศไทยของบริษัทข้ามชาติ และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่น่าลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง เมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติรายอื่น เช่น อินโดนีเซีย ที่เป็นประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศไทย ซึ่งไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมในการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง และยังมีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนแรงงานอีกด้วย
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 ในภาพรวมของอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ซึ่งขยายตัวตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ขยายตัวได้ดีเนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นทั้งทางการแพทย์ ภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน
ในส่วนของการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นมูลค่าการส่งออกลดลง เนื่องจากราคายางปรับตัวลดลงมาก สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวมขยายตัว แต่ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ของตลาดหลักที่สำคัญคือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ
อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะขยายตัวได้ดี เนื่องจากกระแสวิตกกังวลเรื่องสุขภาพอนามัย และเป็นสินค้าจำเป็นทั้งทางการแพทย์ ภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน
การส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะคาดว่าจะยังทรงตัว เนื่องจากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้ตัดสิทธิ GSP ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 สำหรับตลาดส่งออกหลักที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ สหภาพยุโรป ถึงแม้ว่าจะยังขยายตัวได้ดี แต่จีนเริ่มเป็นคู่แข่งสำคัญ เนื่องจากจีนมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางล้อให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากสหภาพยุโรปมากขึ้น สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจของตลาดหลักที่สำคัญ คือสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญของอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง คือ ประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก
สำหรับแนวโน้มด้านราคายางพาราในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 ยังมีความผันผวน ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลในด้านลบ คือ ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--