สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2556 (เมษายน - มิถุนายน 2556)(อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2013 14:48 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตและการส่งสินค้ารองเท้า ในไตรมาส 2 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขยายตัวลดลง ทำให้สินค้าคงค้างในสต๊อกมีจำนวนมาก เนื่องจากการบริโภครองเท้าภายในประเทศลดลง สาเหตุจากภาระการใช้จ่ายของประชาชนมีมากขึ้นจากการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ประกอบกับต้นทุนพลังงานและราคาสินค้าที่สูงขึ้น จึงทำให้ประชาชนต้องประหยัดค่าใช้จ่าย

การผลิต

ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2556 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง จำแนกได้ ดังนี้

1. การฟอกและการตกแต่งหนังฟอก ดัชนีผลผลิตไตรมาส 2 ปี 2556 เทียบกับ ไตรมาสก่อน มีปริมาณลดลงร้อยละ 2.10 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.76 โดยดัชนีการส่งสินค้าเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงเช่นกัน ร้อยละ 3.28 และ 0.80 ตามลำดับ เป็นผลจากการที่ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.77 และ 8.23 ตามลำดับ

2. การผลิตกระเป๋าเดินทางกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ดัชนีผลผลิตไตรมาส 2 ปี 2556 เทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีปริมาณการผลิตลดลง ร้อยละ 16.08 และ 16.33 ตามลำดับ โดยดัชนีการส่งสินค้าเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงในทิศทางเดียวกัน ร้อยละ 8.59 และ 11.86 ตามลำดับ ในส่วนดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 3.73 และ 4.19 ตามลำดับ

3. การผลิตรองเท้า ดัชนีผลผลิตไตรมาส 2 ปี 2556 เทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตลดลง ร้อยละ 13.61 และ 4.69 ตามลำดับ มีผลให้ดัชนีการส่งสินค้าเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 12.20 แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.82 ในส่วนดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.74 และ 24.79 ตามลำดับ เป็นผลจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วง ปลายปี 2554 ทำให้โรงงานผลิตรองเท้าต่างชาติรายใหญ่ในประเทศไทยถูกน้ำท่วมไม่สามารถทำการผลิตเพื่อส่งออกได้ มีผลให้ฐานดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 ที่ใช้เปรียบเทียบต่ำกว่า

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2556 อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 466.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และร้อยละ 0.79 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้

1. หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 192.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่า 169.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.09 เป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์หนังโคกระบือฟอก และ หนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าสำคัญ ขยายตัวร้อยละ 14.97 และ 21.57 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ถุงมือหนัง และเครื่องแต่งกายและเข็มขัด มีมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 17.11 13.80 และ 21.91 ตามลำดับ

เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 การส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด มีมูลค่า 183.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.90 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ของเล่นสัตว์ขยายตัว ร้อยละ 14.05 และหนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ ขยายตัว ร้อยละ 18.51 ตามความต้องการในกลุ่มประเทศเอเซียและอาเซียน สำหรับผลิตภัณฑ์หนังโคกระบือฟอก ถุงมือหนัง และเครื่องแต่งกายและเข็มขัด มีมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 5.04 6.46 และ 18.16 ตามลำดับ โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ได้แก่ ฮ่องกง เวียดนาม และจีน มีสัดส่วนร้อยละ 18.93 15.16 และ 15.09 ตามลำดับ

2. เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าส่งออก 73.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่า 74.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง ร้อยละ 1.52 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกในผลิตภัณฑ์ประเภทกระเป๋าใส่เศษสตางค์ และเครื่องเดินทางอื่น ๆ มีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.31 และ 9.76 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์กระเป๋าเดินทาง และกระเป๋าถือ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.10 และ 0.66 ตามลำดับ

เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 การส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทาง มีมูลค่า 75.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.23 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องเดินทางอื่น ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าสำคัญ มีมูลค่าการส่งออกลดลงถึงร้อยละ 24.85 สำหรับผลิตภัณฑ์กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ และกระเป๋าใส่เศษสตางค์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.27 4.66 และ 14.35 ตามลำดับ โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มเครื่องใช้สำหรับเดินทาง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ มีสัดส่วนร้อยละ 27.92 12.60 และ 7.47 ตามลำดับ

3. รองเท้าและชิ้นส่วน ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 200.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่า 175.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.35 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกในผลิตภัณฑ์สำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ รองเท้าหนัง รองเท้าแตะ รองเท้าอื่น ๆ และส่วนประกอบของรองเท้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.67 40.93 0.03 และ 72.12 ตามลำดับ สำหรับรองเท้ากีฬา มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 40.16

เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 การส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วน มีมูลค่า 203.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.43 ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกในผลิตภัณฑ์ประเภทรองเท้ากีฬา และส่วนประกอบของรองเท้า ลดลงมากถึงร้อยละ 64.62 และ 51.17 ตามลำดับ เนื่องจากเจ้าของลิขสิทธิ์รองเท้ากีฬายี่ห้อดัง ๆ เริ่มยกเลิกสั่งคำสั่งซื้อจากประเทศไทย เพราะผู้ประกอบการไทยเริ่มปฏิเสธคำสั่งซื้อหรือตกลงราคากันไม่ได้ ส่งผลให้ชาวต่างชาติหันไปสั่งซื้อรองเท้ากีฬาจากเวียดนาม อินโดนีเซียและบังกลาเทศแทน เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทยมาก ในส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง และรองเท้าอื่น ๆ ยังขยายตัวได้ร้อยละ 3.62 15.85 และ 14.84 ตามลำดับ โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มรองเท้าและชิ้นส่วน คือ สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเดนมาร์ก มีสัดส่วนร้อยละ 13.76 8.18 และ 6.81 ตามลำดับ

การนำเข้า

ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2556 อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 330.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และ ร้อยละ 16.20 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้

1. หนังดิบและหนังฟอก ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 186.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.32 และ 15.77 ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำเข้าเพื่อนำมาผลิตสินค้าปลายน้ำภายในประเทศ เช่น รองเท้า กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์หนัง และเบาะหนัง ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงการฟอกหนังเพื่อการส่งออก โดยแหล่งนำเข้าหนังดิบและหนังฟอกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล และอาร์เจนตินา มีสัดส่วนร้อยละ 12.97 11.14 และ 10.08 ตามลำดับ

2. กระเป๋า ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 78.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.64 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.97 ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ ประเภทกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ และกระเป๋าอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน อิตาลี และฝรั่งเศส มีสัดส่วนร้อยละ 46.31 21.29 และ 15.82 ตามลำดับ

3. รองเท้า ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 65.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.31 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการนำเข้ารองเท้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.57 ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้ารองเท้าทุกประเภท ได้แก่ รองเท้าหนัง รองเท้าทำด้วยยางหรือพลาสติก รองเท้ากีฬา และรองเท้าอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และอิตาลี มีสัดส่วนร้อยละ 54.56 12.54 และ 8.92 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. นโยบายการปรับค่าจ้างแรงงาน 300 บาท ทั่วประเทศ เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ส่งผลให้ผู้ประกอบการรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนังซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs ต้องปรับตัวทั้งกลยุทธ์ด้านการผลิตและการตลาดเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง

2. นโยบายรถคันแรกของภาครัฐที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ยังส่งมอบรถยนต์ไม่แล้วเสร็จ ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2556 จึงยังส่งผลต่อความต้องการใช้หนังฟอกในชิ้นส่วนของรถยนต์อย่างต่อเนื่อง

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 2 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาส ก่อน มีปริมาณลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ คือ การฟอกและตกแต่งหนังฟอก ผลิตลดลงเนื่องจากปริมาณสินค้าคงค้างในสต๊อกมีจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการนำเข้าหนังดิบและหนังฟอก เพื่อรองรับความต้องการของตลาดเบาะหนังรถยนต์ที่ขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์ ประกอบกับมีตลาดที่เศรษฐกิจขยายตัวได้รองรับ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ในส่วนการผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีการผลิตลดลงเช่นกันเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทาง ที่ส่วนใหญ่จะชะลอตัวลงตามแนวโน้มอุปสงค์ในตลาดโลก สำหรับการผลิตและการส่งสินค้ารองเท้า มีปริมาณลดลง ทำให้สินค้าคงค้างในสต๊อกมีจำนวนมากจากความต้องการบริโภครองเท้าภายในที่ลดลง เนื่องจากภาระการใช้จ่ายของประชาชนมีมากขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ต้นทุนพลังงาน และราคาสินค้าที่สูงขึ้น ทำให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง

การส่งออกในช่วงไตรมาส 2 ปี 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอก และหนังอัด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของประเทศคู่ค้าในกลุ่มเอเซีย ได้แก่ จีน ที่นำเข้าหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดไปผลิตสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปตลาดอื่น ประกอบกับกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย มีความต้องการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกในกลุ่มรองเท้าและชิ้นส่วนเริ่มปรับตัวดีขึ้น ตามการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริกา และเดนมาร์ก

การนำเข้า ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์หนังดิบและหนังฟอก ซึ่งจะนำเข้าเพื่อรองรับการผลิตสินค้าปลายน้ำภายในประเทศ เช่น รองเท้า กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์หนัง และเบาะหนัง ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ สำหรับการนำเข้ากระเป๋าและรองเท้า มีการนำเข้าลดลง จากเศรษฐกิจชะลอตัวและการบริโภคภายในประเทศที่ลดลง

แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตหนังและตกแต่งหนังฟอก และการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและการผลิตรองเท้า และการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วน ช่วงครึ่งปีหลัง 2556 คาดว่า จะขยายตัวได้ ซึ่งสินค้าหนังฟอกจะมีการขยายตัวตามปริมาณคำสั่งซื้อที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และความต้องการในกลุ่มอาเซียนเพื่อรองรับการผลิตสินค้าช่วงปลายปี สำหรับสินค้ารองเท้าจะยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่ชะลอตัวจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งอาจกระทบโดยตรงต่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการในตลาดเอเชีย และอาเซียนที่ยังมีแนวโน้มขยายตัว

แนวโน้มทั้งปี 2556 คาดว่า การส่งออกรองเท้า และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง จะลดลงกว่า ปี 2555 เนื่องจากการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะยังคงชะลอตัวจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดเอเชียและอาเซียนจะมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปจีน และเวียดนาม ที่นำเข้าชิ้นส่วนรองเท้าไปผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดอื่น รวมทั้งตลาดเมียนมาร์ที่มีความต้องการรองเท้ามากขึ้น จึงมีโอกาสนำเข้าจากไทยมากขึ้นด้วย สำหรับอุตสาหกรรมฟอกหนัง คาดว่า จะสามารถขยายตัวได้จากความต้องการใช้สินค้าต่อเนื่อง เช่น เบาะรถยนต์ ที่ขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ