ภาพรวมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 มีมูลค่า 2,304.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 244.07 อันเป็นผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำมากใน ไตรมาสที่ผ่านมา แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 7.16 ทั้งนี้ ถ้าพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) จะมีมูลค่า 1,608.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69.80 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม ลดลงร้อยละ 8.00 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ในไตรมาส 2 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 1) ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 18.91 เนื่องจากมีช่วงวันหยุดยาวในเดือนเมษายน ในส่วนดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลงร้อยละ 19.06 สอดคล้องกับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ที่ลดลง นอกจากนี้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงร้อยละ 7.50 แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.17 เนื่องจากปริมาณคำสั่งซื้อเครื่องประดับแท้ และพลอย จากสหรัฐอเมริกา และเพชร จากเบลเยี่ยม ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในส่วนดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายและดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงร้อยละ 5.21 และ 8.65 ตามลำดับ
การตลาด
ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2556 (ตารางที่ 2) การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่าการส่งออก 1,608.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.00 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน อันเป็นผลจากการส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับแท้ลดลง แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.92 เนื่องจากมีการส่งออกเพชรเพิ่มขึ้นในตลาดฮ่องกง เบลเยี่ยม และอินเดีย และพลอยเพิ่มขึ้นในตลาดฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 244.07 อันเป็นผลจากความต้องการทองคำในตลาดสิงคโปร์ ฮ่องกง และอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น แต่ลดลงร้อยละ 7.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลง ทั้งนี้ ครึ่งปีแรกการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ขยายตัวร้อยละ 3.66 โดยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่
1. อัญมณี ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 597.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.26 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการส่งออกเพชร และพลอยที่ลดลง และเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอินเดีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.35 16.29 และ 11.31 ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์อัญมณีที่สำคัญมี ดังนี้
1.1 เพชร ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 410.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.45 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากไม่ใช่ช่วงเทศกาลการซื้อเป็นของขวัญ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเพชรมีราคาลดลงจากปีที่แล้วจึงจูงใจให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.81 23.55 และ 14.08 ตามลำดับ
1.2 พลอย ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 183.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.51 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากไม่ใช่ช่วงเทศกาลการซื้อเป็นของขวัญ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการในตลาดส่งออกสำคัญเพิ่มขึ้นและเป็นการปรับตัวจากฐานที่ต่ำมากในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.20 14.98 และ 14.39 ตามลำดับ
2. เครื่องประดับแท้ ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 859.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินและทำด้วยทองลดลง แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกเครื่องประดับเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแท้ที่สำคัญมี ดังนี้
2.1 เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 359.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากไม่ใช่ช่วงเทศกาลการซื้อเป็นของขวัญ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสินค้ามีราคาถูกลงจากราคาวัตถุดิบเงินที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และเดนมาร์ก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.79 16.09 และ 10.71 ตามลำดับ
2.2 เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 448.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 17.24 และ 0.26 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการในตลาดสำคัญลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และสวิตเซอร์แลนด์
3. เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 81.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.28 และ 8.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกในตลาดส่งออกสำคัญลดลง ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์
4. อัญมณีสังเคราะห์ ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 33.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.69 และ 3.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และออสเตรีย
5. ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 695.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 244.07 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำมาก แต่ลดลงร้อยละ 29.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาทองคำลดต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.44 22.55 และ 10.48 ตามลำดับ
1. เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2556 (ตารางที่ 3) มีมูลค่าการนำเข้า 691.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลงร้อยละ 25.89 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการนำเข้าเพชร พลอย และเงิน ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบลดลงตามดัชนีการผลิตที่ลดลง แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าเพชร และเงิน ที่มีราคาถูกลง สำหรับมูลค่าการนำเข้าในภาพรวมอยู่ที่ 3,853.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 46.63 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.86 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วยวัตถุดิบสำคัญ ได้แก่
1.1 เพชร ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 366.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 25.61 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สอดคล้องกับดัชนีการผลิตที่ลดลง แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 109.68 เนื่องจากเพชรมีราคาลดลงจูงใจให้มีการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตเพิ่มขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ อินเดีย เบลเยี่ยม และฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.17 21.35 และ 19.10 ตามลำดับ
1.2 พลอย ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 72.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 35.51 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สอดคล้องตามการผลิตที่ลดลงในไตรมาสนี้ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากพลอยมีราคาลดลง โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง อินเดีย และสหราชอาณาจักร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.65 17.31 และ 11.51 ตามลำดับ
1.3 ทองคำ ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 3,162.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 49.70 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แม้ราคาทองคำจะเป็นแนวโน้มขาลง แต่จากการที่สหรัฐอเมริกามีแผนการยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ออกมา ซึ่งทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯแข็งค่าขึ้นเป็นเหตุให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำ แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.34 เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกลดลง โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และแอฟริกาใต้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.66 14.27 และ 11.25 ตามลำดับ
1.4 เงิน ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 173.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 29.79 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามดัชนีการผลิตที่ลดลง และเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาเงินในตลาดโลกปรับตัวลดลงจึงจูงใจให้มีการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตเพิ่มขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.10 20.18 และ 19.98 ตามลำดับ
1.5 โลหะมีค่าและโลหะอื่นๆ ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 31.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามดัชนีการผลิตที่ลดลง แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.67 20.62 และ 16.37 ตามลำดับ ทั้งนี้ การนำเข้าเพชร พลอย ทองคำ เงิน โลหะมีค่าและโลหะอื่น ๆ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 98.75 ของการนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด
2. เครื่องประดับอัญมณี ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 173.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่
2.1 เครื่องประดับอัญมณีแท้ ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 163.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าถูกลง โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.61 3.64 และ 3.30 ตามลำดับ
2.2 เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาส 2 ปี 2556 มีมูลค่าการนำเข้า 10.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 23.88 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงเปิดเทอมที่ประชาชนส่วนใหญ่จะใช้จ่ายไปกับอุปกรณ์การเรียนและค่าเทอมของสมาชิกในครอบครัวมากกว่าการใช้จ่ายไปกับสินค้าฟุ่มเฟือย แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.85 เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าถูกลง โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.48 13.50 และ 10.76 ตามลำดับ
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2556 เห็นชอบร่างประกาศ กระทรวงการคลัง เรื่องการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่นำเข้ามาแสดงและจำหน่ายในงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย จากเดิมการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับที่นำเข้ามาแสดงและจำหน่ายในงานแสดงสินค้า จะถูกเก็บอากรขาเข้าร้อยละ 20 ซึ่งการที่รัฐออกประกาศดังกล่าว เพื่อส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย และจูงใจให้มีผู้สนใจเข้าร่วมงานและซื้อขายสินค้ามากขึ้น ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปด้วย ทั้งนี้ งานดังกล่าวจะมีขึ้นในช่วงเดือนกันยายนนี้
สรุปและแนวโน้ม
ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาส 2 ปี 2556 ภาคการผลิตและการจำหน่ายหดตัวลดลงร้อยละ 18.91 และ 19.06 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมีช่วงวันหยุดยาวในเดือนเมษายน
ด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลงร้อยละ 8.00 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวม เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 244.07 อันเป็นผลจากการปรับเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำมากในไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงร้อยละ 7.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลง
ด้านการนำเข้า (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลงร้อยละ 25.89 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการนำเข้าวัตถุดิบเพชรหดตัวร้อยละ 25.61 ตามดัชนีการผลิตที่ลดลง แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลงจูงใจให้เกิดการนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้น เช่น เพชร พลอย อัญมณีสังเคราะห์ ไข่มุก ทองคำ เงิน และโลหะมีค่า และโลหะอื่น ๆ ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.86
แนวโน้มการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2556 คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2556 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ราคาทองคำที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักของสินค้าไทยที่อาจทำให้การขยายตัวไม่เป็นไปตามที่ต้องการ สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม คาดว่า จะหดตัวลงอย่างมากตามทิศทางการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่มีแนวโน้มหดตัว จากราคาทองคำในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในส่วนแนวโน้มการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2556 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น เพชร พลอย และทองคำยังไม่ขึ้นรูป เพื่อรองรับคำสั่งซื้อในช่วงปลายปี
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--