สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2556 (เมษายน - มิถุนายน 2556)(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2013 15:00 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 2 ปี 2556 มีปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 54.89 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเข้าสู่ช่วงปลายฤดูกาลหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล และหากไม่รวมการผลิตน้ำตาล ปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 9.29 แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตไม่รวมการผลิตน้ำตาล มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.11 เป็นผลจากการกลับมาผลิตของอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์ ที่ต้องหยุดผลิตจากปัญหาอุทกภัยเมื่อปีก่อน แต่หากรวมการผลิตน้ำตาล ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.26 ซึ่งมาจากการผลิตเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้าอื่นๆ ส่วนใหญ่ผลิตลดลงจากภัยแล้งที่ทำให้วัตถุดิบลดลง และการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าซบเซา โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่ยังคงมีปัญหาหนี้สาธารณะในหลายประเทศ ประกอบกับราคาสินค้าในตลาดโลกผันผวนมาก ส่งผลกับการส่งออกสินค้าอาหารที่มีปริมาณการส่งออกที่ลดลง

การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2556 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ลดลงร้อยละ 54.89 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตน้ำตาลในช่วงปลายของฤดูหีบอ้อย ขณะที่การผลิตหลายกลุ่มสินค้าสำคัญปรับชะลอตัวลง (ตารางที่ 1) แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เป็นผลจากการกลับมาผลิตของอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์ที่ต้องหยุดผลิตจากปัญหาอุทกภัยเมื่อปีก่อน ขณะที่ครึ่งปีแรกของปี 2556 การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนร้อยละ 4.20 จากการผลิตที่กลับมาผลิตได้ปกติหลังเกิดอุทกภัยในปีก่อน แม้ว่าวัตถุดิบบางอย่างได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และการชะลอตัวของ คำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าซบเซา แต่มีตลาดในประเทศที่ยังขยายตัวจากการปรับขึ้นค่าแรงงานและเงินเดือนชดเชยได้บางส่วน สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 29.26 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากระดับราคาไม่จูงใจให้เกษตรกรผลิต และลดลงร้อยละ 10.67 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ลดลงจากผลกระทบภัยแล้ง ขณะที่ครึ่งปี 2556 การผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 3.73

กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 2.32 และ 5.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง ต้องมีการพักบ่อเพื่อตัดวงจรโรค ทำให้ ผลผลิตมีปริมาณลดลง ขณะที่ครึ่งปี 2556 การผลิตลดลงร้อยละ 1.33 แม้ว่าการผลิตกุ้งจะมีปริมาณลดลง แต่มีการผลิตปลาทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้น จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น มีการนำเข้าปลาทูน่ามาสต็อกและผลิตเพิ่มขึ้น

กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 4.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีบริษัทแปรรูปไก่ประสบปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ต้องชะลอการผลิตลง แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.33 เนื่องจากการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยจากปัญหาไข้หวัดนกในหลายประเทศ และจากการนำเข้าไก่แปรรูปเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น ทดแทนจากจีนที่ประสบปัญหาไข้หวัดนกรอบใหม่ และไก่แช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นจากสหภาพยุโรป

กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 18.87 และ 10.02 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และครึ่งปี 2556 การผลิตลดลงจาก ปีก่อนร้อยละ 2.81 เป็นผลสืบเนื่องจากการชะลอตัวของ คำสั่งซื้อจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในประเทศผู้นำเข้า ได้แก่ กลุ่มสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา จากวิกฤตหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรป

กลุ่มน้ำตาลทราย ปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 78.40 และ1.54 จากการที่อ้อยได้รับผลกระทบภัยแล้ง ทำให้ต้องเลื่อนเวลาส่งเข้าหีบในโรงงาน และการผลิตช่วงครึ่งปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.82 แม้ว่าการผลิตน้ำตาลจะเพิ่มขึ้น แต่มีคุณภาพอ้อยด้อยลงวัดได้จากค่า CCS ที่ได้ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืช ปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 11.49 เนื่องจากปริมาณในสต็อกสูง และโรงงานบางแห่งปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักร แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.56 และการผลิตช่วงครึ่งปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.84 เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบออกสู่ตลาดมาก สำหรับผลิตภัณฑ์นม การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.34 และ 6.84 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการผลิตครึ่งปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 12.22 จากการที่โรงงานนม พร้อมดื่มกลับมาผลิตได้หลังเกิดปัญหาอุทกภัยในช่วงต้นปีก่อน นอกจากนี้ในส่วนของอาหารสัตว์ การผลิตชะลอตัวลง ร้อยละ 4.56 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการชะลอการเลี้ยงกุ้งจากการเกิดโรคระบาด ทำให้มีความต้องการใช้อาหารกุ้งลดลง หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 5.25 และการผลิตช่วงครึ่งปี 2556 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 3.14 เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาในตลาดโลกที่สูงขึ้น เป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาภัยแล้งในสหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2556 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศลดลงร้อยละ 3.21 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจชะลอตัวลง จากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีการปรับขึ้นของราคาสินค้าจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานและค่าจ้าง และปัจจัยการเมืองที่เริ่มมีชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้น จึงทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ดีช่วงไตรมาสที่ 2 เนื่องจากมีเทศกาลที่ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น ประกอบกับการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงและเงินเดือน แม้ระดับราคาสินค้าจะได้ปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยเฉพาะในสินค้าปศุสัตว์ ผักผลไม้และผลิตภัณฑ์นมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.99 ในขณะที่การจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.88 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการจำหน่ายเครื่องดื่มอัดลมและชาพร้อมดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสมเพิ่มขึ้น จากการทำการส่งเสริมการตลาดอย่างรุนแรง ส่วนอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบจากการเลี้ยงกุ้งที่ลดลง มีการจำหน่ายลดลงร้อยละ 9.96 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยภาพรวมการจำหน่ายในประเทศช่วงครึ่งปี 2556 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.59 เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ดี และได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนและค่าจ้างแรงงาน

การค้าระหว่างประเทศ การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2556 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 200,718.74 ล้านบาท โดยลดลงร้อยละ 1.03 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 3) เป็นผลจากการส่งออกข้าวและธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากไก่ และอาหารทะเล แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 13.71 เป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศ ผู้นำเข้าหลักบางแห่งแม้ว่าจะมีสัญญาณที่ฟื้นตัว แต่ก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศในสหภาพยุโรปที่ยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ครึ่งปีแรก 2556 การส่งออกภาพรวมลดลงร้อยละ9.28 โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ สรุปได้ ดังนี้

กลุ่มประมง มีมูลค่าการส่งออก 48,359.42 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.87 จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการลดลงของปริมาณในเกือบทุกกลุ่มทั้งอาหารทะเลแปรรูปและแช่เย็นแช่แข็ง และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกลดลงร้อยละ 19.40 เนื่องจากคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรปที่ชะลอตัวลง เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เนื่องจากสหภาพยุโรปได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจซบเซา ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การบริโภคสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าทดแทน นอกจากนี้ปริมาณผลผลิตกุ้งในช่วงครึ่งปี มีปริมาณลดลงจากเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง และส่งผลต่อเนื่องไปยังการส่งออกภาพรวมครึ่งปี 2556 ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.08

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออก 25,154.26 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.74 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง แต่ปรับลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.04 จากการส่งออกผักสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้สด และผลไม้แปรรูปที่ส่งออกลดลงเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 โดยสินค้าสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง ส่งออกลดลงกว่าร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดีการส่งออกครึ่งปี 2556 ในภาพรวมของกลุ่มผักผลไม้ สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย

กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออก 17,661.13 ล้านบาท ปรับตัวลดลง ร้อยละ11.42 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 5.49 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปที่ปรับลดลง แม้ว่าไก่แช่เย็นแช่แข็งจะส่งออกเพิ่มขึ้นแต่มูลค่าเพิ่มต่ำกว่า โดยครึ่งปี 2556 การส่งออกภาพรวมของกลุ่มลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.39

กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 59,026.18 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.65 จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลังปรับตัวลดลงร้อยละ 13.09 และ 26.88 เป็นผลจากระดับราคาในตลาดโลกลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าได้รับผลกระทบจากการซบเซาของเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป และจีน หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.96 เป็นผลจากการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลดลง และการส่งออกภาพรวมของกลุ่มในรอบครึ่งปี 2556 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.18

กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 33,809.66 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.89 จากไตรมาสก่อน ที่มาจากการส่งออกน้ำตาลในช่วงฤดูกาลเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากราคาในตลาดโลกชะลอตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับการที่ประเทศผู้ผลิต เช่น อินเดีย และบราซิล กลับมาส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าส่งออกของไทยลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.60 ซึ่งทำให้การส่งออกน้ำตาลในรอบครึ่งปี 2556 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 32.45

กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 16,708.08 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.76 และ 6.06 ตามลำดับ โดยเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทสิ่งปรุงรสอาหาร หมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสม และซุปและอาหารปรุงแต่ง และภาพรวมการส่งออกของกลุ่มในรอบครึ่งปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.07

การนำเข้า

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2556 การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีมูลค่ารวม93,150.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.30 จากไตรมาสก่อน (ตารางที่ 4) โดยเป็นการนำเข้าเมล็ดพืชน้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 132.39 เป็นผลจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.11 โดยเป็นการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น กากพืชน้ำมัน และปลาทูน่าแช่แข็งเพิ่มขึ้น เป็นการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงต้นไตรมาส และจากราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการนำเข้าในภาพรวมครึ่งปี 2556 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.16

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2556 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ ในลักษณะการรับจำนำผลผลิต และการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและระดับราคาจำหน่ายลดลง รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาด้านปัจจัยการผลิต ได้แก่

1. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตให้ส่งออกน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ คือ แก้ไขเพิ่มเติมให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีอำนาจในการออกประกาศหรือระเบียบปฏิบัติรองรับการปฏิบัติงานของหน้าที่ และการให้บริการผู้ประกอบการตามขั้นตอนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และรองรับการออกใบอนุญาตและใบรับรองเพื่อการส่งออกผ่านระบบ National Single Window ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการทำธุรกรรมกับภาครัฐ

2. คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 รับทราบผลการประชุม ผลกระทบของค่าเงินบาทต่อเศรษฐกิจไทย ระหว่างภาครัฐและเอกชน เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2556 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีข้อสรุป คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าค่าเงินในภูมิภาคส่งผลต่อการขยายตัวและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยในหลายด้านทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว ซึ่งที่ประชุมเสนอให้รัฐออกมาตรการช่วยเหลือ เช่น ส่งเสริมให้เงินบาทเป็นเงินสกุลหลักสำหรับการค้าขายในภูมิภาค การลดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาค ส่งเสริมให้มีการเรียนในสายอาชีพมากขึ้น การพิจารณาสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ขายสินค้าให้กับผู้ส่งออกและสามารถใช้เงินตราต่างประเทศชำระค่าสินค้าโดยไม่ต้องแลกเป็นเงินบาทแทน

3.คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556 เห็นชอบการกำหนดมาตรการ นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2556 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอ เป็นการขยายระยะเวลาการนำเข้าจากประเทศในกรอบอาเซียน และโครงการลงทุนเกษตรแบบมีสัญญากับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้ยุทธศาสตร์ ACMECS เป็นสิ้นสุดเดือนสิงหาคม อัตราภาษีร้อยละ 0 ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการนำเข้าตามช่วงเวลาที่กำหนด ประกอบกับยังเป็นการส่งเสริมการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาวและกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามการนำเข้าและกำหนดมาตรการเข้มงวดต่อการลักลอบการนำเข้า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับเกษตรกรในประเทศในช่วงเวลาผลผลิตออกสู่ตลาด

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2556 ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวม อยู่ในช่วงชะลอตัวจากไตรมาสก่อน หากไม่นับรวมการผลิตน้ำตาลที่เป็นช่วงปลายฤดูการหีบอ้อยที่ส่งผลให้การผลิตชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ที่รวมการผลิตน้ำตาลแล้ว พบว่า การผลิตในภาพรวมหดตัวลง ตามปริมาณคำสั่งซื้อที่ปรับตัวชะลอตัวตามฤดูกาลหลังเทศกาล ส่วนการส่งออกปรับตัวลดลงจากผลกระทบระดับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มจะแข็งค่าตามค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งเกิดจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ที่อัดเงินเข้าระบบส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงและบางส่วนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดหลักซบเซาจากภาวะหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้สต็อกสินค้าในตลาดโลกที่สำคัญ คือ น้ำตาลทราย แม้ว่าสต็อกที่คาดการณ์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ผลจากที่ประเทศอินเดีย และบราซิล มีผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้น และคาดว่าจะส่งออกน้ำตาลได้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อระดับราคาน้ำตาลที่ชะลอตัวลง ส่วนการผลิตของไทยคาดว่าจะได้รับกระทบจากภัยแล้ง ทำให้คุณภาพอ้อยเข้าหีบแย่ลง โดยดูจากค่าควาหวานที่ลดลง ในส่วนสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ สินค้าไก่แปรรูป ปริมาณความต้องการจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการพิจารณายกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากกรณีไข้หวัดนกของสหภาพยุโรป ส่งผลต่อการส่งออกไก่ของไทยเพิ่มขึ้น แต่อาจไม่เป็นผลดีนักจากการส่งออกไก่สดที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าไก่แปรรูป ซึ่งจะทำให้ราคาและรายได้ของผู้ประกอบการลดลง สำหรับสินค้ามันสำปะหลัง เนื่องจากได้รับผลจากการนำเข้าจากจีนชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าที่ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง คือ กลุ่มพืชน้ำมัน เนื่องจากสต็อกมีปริมาณสูงมาก ประกอบกับตลาดต่างประเทศมีความต้องการลดลง ทำให้ราคาลดลงเป็นอย่างมากจนทำให้ผู้ผลิตสำคัญ เช่น มาเลเซีย ต้องปรับอัตราภาษีส่งออกในลักษณะเดียวกับอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้ไทยส่งออกได้ยากขึ้นจากราคาที่สูงกว่า

แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2556คาดว่า จะชะลอตัวลงตามฤดูกาล การผลิตที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบหลายชนิดได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและโรคระบาด โดยเฉพาะกุ้งที่ปริมาณวัตถุดิบเสียหายจากโรคตายด่วนในลูกกุ้ง และผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศในสหภาพยุโรปจากปัญหาหนี้สาธารณะ แม้ว่าผู้บริโภคยังมีกำลังซื้ออยู่ แต่จากข่าวการที่รัฐบาลของหลายประเทศจะนำทองคำสำรองออกขายเพื่อลดหนี้ ทำให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจยังคงซบเซา และสหรัฐอเมริกายังสามารถใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 3 เป็นการกระตุ้นอุปสงค์ให้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก แต่อาจปรับลดลงหากมีการปรับนโยบาย นอกจากนี้การจำหน่ายในประเทศที่ได้รับผลดีจากการปรับค่าแรงและเงินเดือนส่งผลให้การบริโภคในประเทศยังคงมีการขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง และเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน จีนและญี่ปุ่นยังขยายตัว ประกอบกับระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นภายหลังเกิดภัยแล้งในสหรัฐอเมริกา แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออก ที่คาดว่าจะปรับชะลอตัวลง จากค่าเงินบาทที่มักจะแข็งค่ารุนแรงกว่าเงินสกุลอื่น ซึ่งเป็นผลจากการเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ระยะสั้นของไทยมากขึ้นจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 3 และการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกาที่ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลง และค่าเงินในภูมิภาคเอเชียปรับแข็งค่าขึ้น ประกอบกับการค้าของไทยยังผูกกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกามากกว่าเงินสกุลอื่น ซึ่งอาจทำให้การผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปรับชะลอตัวลงได้

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ