สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมิถุนายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 18, 2014 14:56 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI เดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 171.94 ลดลงร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนการผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ เครื่องประดับเพชรพลอยเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็งรถจักรยานยนต์ สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2557 หดตัวร้อยละ 2.1 และเมื่อไม่รวมทองคำแท่งหดตัวร้อยละ 3.0

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม1 หรือ MPl เดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 171.94 ลดลงร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ เครื่องประดับเพชรพลอย เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง รถจักรยานยนต์

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต2 เดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ร้อยละ 61.41 จากร้อยละ 56.40 ในเดือนเมษายน 2557 และร้อยละ 66.85 ในเดือนพฤษภาคม 2556

อุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ(พฤษภาคม 2557)

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิต (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤษภาคม 2557 ปรับลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.3 กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 21.1 และ 9.8 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในกุ้งเป็นสำคัญ ส่วนปลาทูน่าแม้ว่าราคาจะปรับลดลง แต่ความต้องการของต่างประเทศยังชะลอตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า ส่วนกลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลงในกลุ่มเส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน ผ้าลูกไม้ และอื่น ๆ (ยางยืด) ร้อยละ 13.5 1.7 12.8 และ 5.6 ตามลำดับ จากความต้องการทั้งตลาดภายในและต่างประเทศที่ลดลง

การผลิตเสื้อผ้าถัก และเสื้อผ้าทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.5 และ 10.5 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริโภคในประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ความต้องการเพื่อผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากตลาดสหภาพยุโรปซึ่งเป็นคาสั่งซื้อในช่วงก่อนที่จะมีการแข่งขันฟุตบอลโลกเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2557 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.12 โดยเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.44 เหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.03 ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด ClS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนพฤษภาคม 2557 เทียบกับเดือนก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กเส้น และเหล็กแผ่นรีดร้อน สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ได้แก่ เหล็กแท่งเล็ก Billet และเหล็กแท่งแบน

อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำนวน 148,011 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งมีการผลิต 231,866 คัน ร้อยละ 36.17 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2557 ร้อยละ 16.79 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน สำหรับการส่งออก มีจำนวน 94,788 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งมีการส่งออก 86,947 คัน ร้อยละ 9.02 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกากลาง และอเมริกาใต้

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ HDD Semiconductor Monolithic lC และ Other lC เนื่องจากมีการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนในอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ เช่น Bluetooth หน้าจอ Touch Screen และกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Consumer Electronics) ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย HDD เริ่มกลับมาขยายตัวได้เป็นเดือนแรกหลังจากที่ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 6.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวลดลง คือ ตู้เย็น คอมเพรสเซอร์ และหม้อหุงข้าว จากการที่ผู้บริโภคในประเทศมีการชะลอการใช้จ่ายตามสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ สำหรับเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต เพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมถึงเครื่องรับโทรทัศน์ เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อรองรับกับระบบดิจิตอลและความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ