รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมิถุนายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 18, 2014 15:33 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนพฤษภาคม 2557
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2557 เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2557 - ร้อยละ 10.0 แต่ลดลงร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
  • คือ ยานยนต์ เครื่องประดับเพชรพลอยเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือนอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็งรถจักรยานยนต์ - อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ระดับร้อยละ 61.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 56.4 ในเดือนเมษายน 2557

ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนมิถุนายน 2557

อุตสาหกรรมอาหาร
  • การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เริ่มกระเตื้องขึ้นบ้าง และค่าเงินบาทที่ทรงตัวในระดับเดียวกันกับเดือนก่อน
  • การจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากปัญหาการชุมนุมทางการเมืองสิ้นสุดลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นและประชาชนกลับมาจับจ่ายเพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมรถยนต์
  • ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2557 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2557 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลเชิงบวกด้านจิตวิทยาต่อผู้บริโภค
  • การผลิตรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2557 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 39 และส่งออกร้อยละ 61
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

เม.ย. 57 = 156.2

พ.ค. 57 = 171.9

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • ยานยนต์
  • เสื้อผ้าสำเร็จรูป
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

เม.ย. 57 = 56.4

พ.ค. 57 = 61.4

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ยานยนต์
  • Hard Disk Drive
  • อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนพฤษภาคม 2557 มีค่า 171.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2557 (156.2) ร้อยละ 10.0 แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนพฤษภาคม 2556 (179.3) ร้อยละ 4.1

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2557 ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เบียร์ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ ยานยนต์ เครื่องประดับและเพชรพลอย เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง รถจักรยานยนต์ เป็นต้น
อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ระดับร้อยละ 61.4 เพิ่มขึ้นจากเดือน เมษายน 2557 (ร้อยละ 56.4) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนพฤษภาคม 2556 (ร้อยละ 66.9)
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2557 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐานผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ ยานยนต์ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เส้นใยสิ่งทอเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐานอุปกรณ์ที่ใช้ทางทัศนศาสตร์ เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2557

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2557 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 317 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนเมษายน 2557 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 324 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 2.16 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 19,534 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเมษายน 2557 ซึ่งมีการลงทุน 44,942 ล้านบาท ร้อยละ 56.53 และมีการจ้างงานจำนวน 7,004 คน ลดลงจากเดือนเมษายน 2557 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 8,811 คน ร้อยละ 44.97

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 358 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 11.45 มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งมีการลงทุน 30,198 ล้านบาท ร้อยละ 35.31 มีการจ้างงานรวมลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2556 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 8,821 คน ร้อยละ 20.6

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมขุดตักดินลูกรัง สำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 26 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ จำนวน 21 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2557 คืออุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า กระแสฟ้า จำนวนเงินทุน 3,410.68 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตเหล็กแท่ง รีดท่อเหล็ก จำนวนเงินทุน 3,396.89 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2557 คืออุตสาหกรรมผลิตเหล็กแท่ง รีดท่อเหล็ก จำนวนคนงาน 656 คนรองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์อิเล็คทรอนิกส์ จำนวนคนงาน 549 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2557 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 89 ราย มากกว่าเดือนเมษายน 2557 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 83 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.23 แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 1,272 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนเมษายน 2557 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,606 ล้านบาท มีการเลิกจ้างงาน จำนวน 2,092 คน น้อยกว่าเดือนเมษายน 2557 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 3,373 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 110 ราย คิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 19.09 มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2556 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,677.45 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างน้อยกว่าเดือนพฤษภาคม 2556 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 2,645 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2557 คืออุตสาหกรรมซ่อมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หรือส่วนประกอบ จำนวน 13 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม คัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จำนวน 8 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2557 คืออุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องคำนวณ เครื่องทำบัญชี เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เงินทุน 260 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ทำผลิตภัณฑ์โลหะสำเร็จรูปด้วยวิธีเคลือบ ลงรัก ชุบ ขัดจำนวน 231 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2557 คือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์โลหะสำเร็จรูปด้วยวิธีเคลือบ ลงรัก ชุบ ขัด จำนวนคนงาน 581 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องคำนวณ เครื่องทำบัญชี เครื่อง อิเล็กทรอนิกส์ จำนวนคนงาน 381 คน
ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.)

ในเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสกท.ทั้งสิ้น 515 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 848 โครงการ ร้อยละ 39.27 และมีเงินลงทุน 308,300 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 537,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.59

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2557
การร่วมทุน                      จำนวน(โครงการ)      มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
1.โครงการคนไทย 100%                177                  74,800
2.โครงการต่างชาติ 100%               220                 146,600
3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ         118                  86,900
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2557 คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 164,100 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดบริการ และ สาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 78,400 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารเดือนมิถุนายนคาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เป็นผลจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนการจำหน่ายในประเทศ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปัญหาการชุมนุมทางการเมืองสิ้นสุด และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้ ประชาชนกลับมาจับจ่ายเพิ่มขึ้น

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤษภาคม 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 12.1 แต่ปรับลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.3 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 21.1 และ 9.8 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในกุ้งเป็นสำคัญ ส่วน ปลาทูน่าแม้ว่าราคาจะปรับลดลง แต่ความต้องการของต่างประเทศยังชะลอตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า

กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.2 และปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 20.9 เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 9.2 สำหรับอาหารไก่ การผลิตชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.2 เป็นผลจากความต้องการใช้อาหารไก่ลดลง จากโรงงานชะลอการแปรรูปตามการเลี้ยงไก่ที่ปรับลดลง

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนพฤษภาคม 2557 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 2.1 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 4.9 เป็นผลจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคดีขึ้น สืบเนื่องการชุมนุมทางการเมืองสิ้นสุดลงภายหลังการเข้ายึดอำนาจของ คสช.

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤษภาคม 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 8.9 และ 14.1 เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาท ส่วนมูลค่าการส่งออกน้ำตาลลดลงจากปีก่อนจากราคาในตลาดโลกและคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวลงหลังสต๊อกน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เริ่มกระเตื้องขึ้นบ้าง และค่าเงินบาทที่ทรงตัวในระดับเดียวกันกับเดือนก่อน สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากปัญหาการชุมนุมทางการเมืองสิ้นสุดลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นและประชาชนกลับมาจับจ่ายเพิ่มขึ้น

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
"กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าแฟชั่นที่สวมใส่สบาย และชุดกีฬา จะขยายตัวได้ และเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น ประกอบกับกระแสความนิยมในการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี"

1. การผลิต

ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน ผ้าขนหนูและเครื่องนอน ผ้าลูกไม้ และอื่น ๆ (ยางยืด) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.1 1.0 11.7 3.7 และ 4.1 ตามลำดับ จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากไทย แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลงในกลุ่มเส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน ผ้าลูกไม้ และอื่น ๆ (ยางยืด) ร้อยละ 13.5 1.7 12.8 และ 5.6 ตามลำดับ จากความต้องการทั้งตลาดภายในและต่างประเทศที่ลดลงโดยเปรียบเทียบ

ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับเดือนก่อน การผลิตเสื้อผ้าถัก และเสื้อผ้าทอ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.7 และ 17.5 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าถัก และเสื้อผ้าทอเพิ่มขึ้นเช่นกัน ร้อยละ 6.5 และ 10.5 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริโภคในประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ความต้องการเพื่อผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากตลาดสหภาพยุโรปซึ่งเป็นคำสั่งซื้อในช่วงก่อนที่จะมีการแข่งขันฟุตบอลโลกเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

2. การจำหน่าย

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และผ้าลูกไม้ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น จากความเชื่อมั่นทางการเมืองในประเทศเริ่มคลี่คลาย ส่งผลต่อภาคการผลิตและกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคเพื่อจับจ่ายใช้สอยในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอเพิ่มขึ้น

การส่งออก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยกลุ่มสิ่งทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.7 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ด้ายและเส้นใยฯ เคหะสิ่งทอ และสิ่งทออื่น ๆ ในส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ร้อยละ 16.6 ซึ่งเป็นผลจากเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.9 โดยเฉพาะมูลค่าในตลาดอาเซียน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมลดลง ร้อยละ 1.3 เป็นผลจากมูลค่าทั้งในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มลดลง ร้อยละ 1.5 และ 0.9 โดยตลาดอาเซียน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปลดลง ร้อยละ 4.4 0.1 และ 0.1 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่า จะขยายตัวได้ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะไปกระตุ้นความต้องการจับจ่ายใช้สอยทั้งสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าแฟชั่นที่สวมใส่สบาย และชุดกีฬา จะขยายตัวได้ และเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการผลิตภัณฑ์ในกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้น ประกอบกับกระแสความนิยมในการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของเดือนพฤษภาคม 2557 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.94 เป็นผลมาจากการปรับตัวที่เพิ่มขึ้นของเหล็กเส้นข้ออ้อย สำหรับเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.76 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 33.56

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนพฤษภาคม 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 142.21 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.73 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยกลุ่มเหล็กทรงยาวมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.94 ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดได้แก่ เหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.18 รองลงมาคือ ลวดเหล็กแรงดึงสูง เพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.97 เนื่องจากเดือนที่ผ่านมามีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน ลูกค้าจึงกลับมาสั่งซื้อสินค้าในเดือนนี้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับโรงงานที่หยุดซ่อมบำรุงได้เริ่มเดินเครื่องจักรเต็มที่ สำหรับกลุ่มเหล็กทรงแบน พบว่าการผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกันคือ ร้อยละ 13.76 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 33.56 เนื่องจากผู้ผลิตรายหนึ่งได้กลับมาผลิตหลังจากหยุดการผลิตเนื่องจากปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.96 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.58 และเมื่อเปรียบเทียบดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2557 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.12 โดยเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.44 เหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.03

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด ClS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนพฤษภาคม 2557 เทียบกับเดือนก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 112.71 เป็น 113.08 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.33 เหล็กเส้น เพิ่มขึ้นจาก 110.21 เป็น 110.63 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.38 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้นจาก 109.33 เป็น 112.41 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.8 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ได้แก่ เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 117.41 เป็น 116 ลดลง ร้อยละ 1.20 เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 118.6 เป็น 115.81 ลดลง ร้อยละ 2.35

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนมิถุนายน 2557 เทียบกับเดือนก่อน คาดว่าการผลิตเหล็กโดยรวมจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่เริ่มคลี่คลาย อาจเป็นผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ จากการที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กลวดคาร์บอนสูงที่นำเข้าจากจีนและประกาศใช้มาตรการปกป้องชั่วคราวสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน อาจจะทำให้การนำเข้าเหล็กทั้งสองชนิดลดลงและส่งผลให้การผลิตเหล็กในประเทศเพิ่มมากขึ้น

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2557 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งเป็นการลดลงตามความต้องการของตลาดในประเทศเป็นหลัก ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความวิตกกังวล ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม ดังนี้

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน 148,011 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งมีการผลิต 231,866 คัน ร้อยละ 36.17 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2557 ร้อยละ 16.79 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 69,681 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งมีการจำหน่าย 110,267 คัน ร้อยละ 36.81 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงจากเดือนเมษายน 2557 ร้อยละ 4.89 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 94,788 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งมีการส่งออก 86,947 คัน ร้อยละ 9.02 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ และมีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2557 ร้อยละ 35.79 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกากลางและอเมริกาใต้

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2557 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2557 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลเชิงบวกด้านจิตวิทยาต่อผู้บริโภค สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2557 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 39 และส่งออกร้อยละ 61 รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2557 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยเป็นการลดลงตามความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ประกอบกับตลาดในประเทศมีการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนพฤษภาคม ดังนี้

1.การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 160,898 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งมีการผลิต 218,276 คัน ร้อยละ 26.29 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แต่มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2557 ร้อยละ 7.54 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต

2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 155,813 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งมีการจำหน่าย 189,537 คัน ร้อยละ 17.79 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์ แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2557 ร้อยละ 18.81 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์ และแบบสปอร์ต

3.การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU)

จำนวน 21,998 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งมีการส่งออก 30,499 คัน ร้อยละ 27.87 โดยเป็นการลดลงในประเทศสหราชอาณาจักร อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนเมษายน 2557 ร้อยละ 10.49 โดยเป็นการการลดลงในประเทศสหราชอาณาจักร อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน 2557 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2557 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลเชิงบวกด้านจิตวิทยาต่อผู้บริโภค สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2557 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 86 และส่งออกร้อยละ 14

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการเร่งลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะตามบริเวณแนวรถไฟฟ และเขตตัวเมืองในจังหวัดใหญ่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง การส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเมียนมาร์และกัมพูชาซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย ยังคงมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในปริมาณที่มากขึ้น"

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนพฤษภาคม 2557 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.24 และ 6.22 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.47 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 4.82

เมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้ดี โดยมีปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็นช่วงเร่งการก่อสร้างหลังจากที่มีวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนพฤษภาคม 2557 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.57 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.58

เมื่อพิจารณาในภาพรวม การส่งออกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากไทยมีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับเมียนมาร์ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยมียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตามนโยบายเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของ คสช. จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยมีการสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศมากขึ้นต่อไป

แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงเดือนมิถุนายนเป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูฝน อย่างไรก็ตาม มาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นต่อไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ที่มีแนวโน้มว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หรือทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับเดือนก่อนตลอดช่วงครึ่งปีที่เหลือ โดยถึงแม้ไทยจะมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้ไทยสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดต่างๆ โดยเฉพาะตลาดหลักในภูมิภาคอาเซียนได้ต่อไป

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤษภาคม 2557 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ IC และ HDD ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงร้อยละ 6.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวลดลงของตู้เย็นและหม้อหุงข้าว

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน พ.ค. 2557

เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์                มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)          %MoM           %YoY
อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์                1,555.79               19.79           6.18
แผงวงจรไฟฟ้า                                   629.63               21.12          12.72
เครื่องปรับอากาศ                                 397.93               -3.70          11.53
กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่ง            146.85                8.93         -26.12
รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์                4,742.33               13.96           4.01
ที่มา : สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤษภาคม 2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.48 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.20 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ลดลงร้อยละ 6.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวลดลง คือ ตู้เย็น คอมเพรสเซอร์ และหม้อหุงข้าว ลดลงร้อยละ 18.98 11.97 และ 13.05 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการที่ผู้บริโภคในประเทศมีการชะลอการใช้จ่ายตามสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ สำหรับเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.24 และ 0.38 ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมถึงเครื่องรับโทรทัศน์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อรองรับกับระบบดิจิตอลและความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.80 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ HDD Semiconductor Monolithic lC และ Other lC เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.44 13.05 25.94 และ 4.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนในอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ เช่น Bluetooth หน้าจอ Touch Screen และกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Consumer Electronics) ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย HDD เริ่มกลับมาขยายตัวได้เป็นเดือนแรกหลังจากที่ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนพฤษภาคม 2557 มีมูลค่า 4,742.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.96 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.90 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ลดลงร้อยละ 0.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ โดยการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน รองลงมาคือ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่ง วีดีโออื่น ๆ

สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.83 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์โดยการส่งออกไปสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น ยกเว้นจีนและอาเซียนที่ปรับตัวลดลง รองลงมา คือ แผงวงจรไฟฟ้า โดยการส่งออกไปอาเซียน สหภาพยุโรป และจีนเพิ่มขึ้น ยกเว้นญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวลดลง

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมิถุนายน2557 จากแบบจำลองดัชนีชี้นาที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกลุ่ม Semiconductor และ lC ที่เริ่มมีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสหภาพยุโรปและอาเซียน และ HDD จะเริ่มกลับมาผลิตในประเทศมากขึ้นหลังจากมีการย้ายคำสั่งซื้อไปฐานการผลิตที่อื่นแทน ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในไทย และในส่วนของอุตสาหกรรมไฟฟ้า จะลดลงร้อยละ 8.10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงจากกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัวลงประกอบกับตลาดส่งออกหลักค่อนข้างทรงตัว

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ