ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2557 หดตัว 4.1% ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 61.41% อุตสาหกรรมที่ทำให้การผลิตรวมลดลง ได้แก่ การผลิตยานยนต์ อัญมณี เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง รถจักรยานยนต์ เป็นต้น
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2557 หดตัว 4.1% ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 61.41% ส่วนภาวะการผลิตอุตสาหกรรม เดือนพฤษภาคม 2557 สาขาที่สำคัญ มีดังนี้
อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมรถยนต์ เดือนพฤษภาคม ปี 2557 หดตัว เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ก่อน ซึ่งเป็นการลดลงจากความต้องการของตลาดในประเทศเป็นหลัก ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม ด้านการผลิตรถยนต์ เดือนพฤษภาคม ปี 2557 มีจำนวน 148,011 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 36.17
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนพฤษภาคม ปี 2557 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.94 โดยปรับเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ HDD Semiconductor Monolithic IC และ Other IC ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 6.39 โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวลดลง คือ ตู้เย็น และหม้อหุงข้าว จากการที่ผู้บริโภคในประเทศมีการชะลอการใช้จ่ายตามสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ สำหรับเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นเนื่องจากการส่งออกไปตลาดอาเซียนและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น รวมถึงเครื่องรับโทรทัศน์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.05 เนื่องจากมีการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อรองรับกับระบบดิจิตอลและความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตกลุ่มเส้นใยสิ่งทอภายในประเทศ เดือนพฤษภาคม ปี 2557 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่า จะมีปริมาณการผลิตลดลงจากคำสั่งซื้อของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ส่วนกลุ่มผ้าผืนมีการผลิตลดลงเล็กน้อย เป็นผลจากการบริโภคในประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ทำให้
ความต้องการในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปซึ่งเป็นคำสั่งซื้อในช่วงก่อนมีการแข่งขันฟุตบอลโลกเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวม เดือนพฤษภาคม ปี 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.3 เนื่องจากการผลิตผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์และมันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้น แต่การผลิตสินค้าสำคัญส่วนใหญ่ประสบปัญหาวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของโรค ส่วนการส่งออกในภาพรวมลดลงร้อยละ 30.2 เนื่องจากได้รับผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบจากความผันผวนของระดับราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรปที่ยังชะลอตัว จากการติดตามรอผลสรุปการแก้ไขวิกฤตการณ์ยูเครน-รัสเซีย-สหภาพยุโรป ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจอุตสาหกรรม เดือนพฤษภาคม 2557 โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 56.64 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นทางธุรกิจของผู้ประกอบการที่มีมากกว่า 50 แสดงว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นธุรกิจอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและกระดาษ อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก อุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้และผัก รวมถึงอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะดีขึ้นในอันดับต้นๆ
(ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม)
วันที่ 27 มิถุนายน 2557
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--