MPI ไตรมาสที่ 2/57 หดตัว 5.0% ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 20, 2014 13:38 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย. 2557  หดตัว  6.6% อุตสาหกรรมที่ทำให้ลดลง ได้แก่ ยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 60.61% ส่วนแนวโน้มครึ่งหลังของปี        มีทิศทางดีขึ้น จากสถานการณ์ในประเทศที่เข้าสู่ความสงบ สร้างบรรยากาศความเชื่อมั่นในการลงทุนและการบริโภค ประกอบกับการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งช่วยให้ส่วนต่างๆ ของประเทศมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจมากขึ้น

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ไตรมาส 2/2557 หดตัว 5.0% ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.5% อุตสาหกรรมที่ทำให้การผลิตรวมลดลง ได้แก่ การผลิตยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI เดือน มิ.ย. 2557 ติดลบ 6.6 % อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 60.61% ส่วนภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเดือน มิถุนายน 2557 สาขาที่สำคัญ มีดังนี้

อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เดือนมิถุนายนปี 2557 หดตัวเมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงจากความต้องการของตลาดในประเทศเป็นหลัก อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวของตลาดในประเทศ ที่ประชาชนเร่งซื้อรถยนต์ในปีที่ผ่านมาตามนโยบายรถยนต์คันแรก ทำให้การผลิตรถยนต์เดือนมิถุนายน ปี 2557 มีจำนวน 160,452 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.10 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง ร้อยละ 37 รถกระบะ 1 ตันและอนุพันธ์ ร้อยละ 62 และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ร้อยละ 1 แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ ปี 2557 การผลิตลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,200,000 คัน ลดลงร้อยละ 10.46 แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายรถยนต์ในประเทศประมาณ 1,000,000 คัน ลดลงร้อยละ 24.59 และการผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์ประมาณ 1,200,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.37 โดยผู้ผลิตเริ่มขยายการส่งออกเพื่อชดเชยตลาดในประเทศที่ชะลอตัว

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ของเดือนมิถุนายน 2557 มีการปรับตัวลดลง ร้อยละ 1.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการผลิตลดลงร้อยละ 8.73 โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ ปรับตัวลดลงเกือบทั้งหมด เช่น กลุ่มเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และพัดลม เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศมีการชะลอการใช้จ่ายตามสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ ยกเว้นเครื่องรับโทรทัศน์ เพิ่มขึ้น เมื่อ

เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อรองรับกับระบบดิจิตอล สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.05 โดย ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.11 เนื่องจากการส่งออก

ไปจีนปรับตัวลดลง ส่วนกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่ม ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์(Semiconductor) แผงวงจรไฟฟ้า (Monolithic IC) และแผงวงจรไฟฟ้าอื่นๆ (Other IC) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.02 24.34 และ 16.22 ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนในอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เช่น Bluetooth หน้าจอ Touch Screen และกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Consumer Electronics) ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตและการจำหน่ายภายในประเทศ กลุ่มเส้นใยสิ่งทอเดือนมิถุนายนปี 2557 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตลดลงจากคำสั่งซื้อของตลาดภายในและต่างประเทศ เช่นเดียวกับกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป ชะลอตัวหลังจากได้ส่งมอบสินค้าในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่บราซิลเพิ่งจบไป สำหรับกลุ่มผ้าผืน มีการผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริโภคในประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และยังมีคำสั่งชื้อจากต่างประเทศเริ่มทยอยเข้ามา

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในเดือนมิถุนายน ปี 2557 ภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 15.3 เนื่องจากการผลิตผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์และผักผลไม้ที่เพิ่มขึ้น แต่การผลิตสินค้าสำคัญยังคงประสบปัญหาวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของโรค และจากสภาพความขัดแย้งทางการเมืองที่คลี่คลายลง ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาดำเนินการได้เต็มที่ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศเริ่มฟื้นตัว ส่วนการส่งออกในภาพรวมลดลงร้อยละ 6.2 เนื่องจากได้รับผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า

(ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม)

30 กรกฎาคม 2557

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ