อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 2 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติก เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.28 และดัชนีส่งสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.07 ทั้งนี้ เนื่องจากไตรมาส 2 ความต้องการบริโภคในประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะช่วงเทศกาลบอลโลกมีความต้องการซื้อทีวีระบบดิจิตอล และความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจึงเร่งผลิตและส่งสินค้าสนองกับความต้องการของผู้บริโภค
ไตรมาส 2 ปี 2557 ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) เท่ากับ 276,274.11 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สินค้าที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ หลอดหรือท่อ แผ่นฟิลม์ชนิดยึดติดในตัว เครื่องสุขภัณฑ์ แผ่นฟิลม์ชนิดไม่เสริมแรง และเครื่องใช้ในครัวเรือน โดยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.05 10.09 26.09 6.70 และ6.03 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 3) โดยประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยัง ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา
ไตรมาส 2 ปี 2557 ปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) เท่ากับ 148,257.31 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ใยยาวเดี่ยว พลาสติกปูพื้น แผ่นฟิลม์ชนิดยึดติดในตัว เครื่องสุขภัณฑ์ เครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องประกอบของอาคาร โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.46 16.77 16.70 19.68 27.39 และ 22.09 ตามลำดับ โดยประเทศไทยนำเข้าสินค้าดังกล่าวจาก ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา
กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ประกาศปรับลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศลง 2 แสนคัน ทำให้เป้าหมายการผลิตรถยนต์ปี 2557 อยู่ที่ 2.2 ล้านคัน ซึ่งลดลงจากปี 2556 จำนวน 257,057 คัน หรือลดลงร้อยละ 10.46 ส่งผลให้ชิ้นส่วนในยานยนต์ที่เป็นพลาสติกน่าจะลดลงตาม
- ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในครึ่งปีหลัง 2557 น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มผ่อนคลาย แผนกระตุ้นเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น กลไกการดำเนินนโยบายของภาครัฐเริ่มขับเคลื่อนได้ ส่งผลดีต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเริ่มมีการฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ รวมทั้งอุตสาหกรรมพลาสติก เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่ส่งออกสำคัญของไทย
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--