สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2557 (เมษายน - มิถุนายน 2557)(อุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 9, 2014 14:00 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ไตรมาส 2 ปี 2557 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียเปลี่ยนแปลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งโดยปกติในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี จะเป็นช่วงที่แครกเกอร์ต่างๆ ปิดซ่อมบำรุงประจำปี รวมถึงความต้องการสินค้ามีน้อย จากการที่ยังมีสินค้าคงคลังเหลือจากไตรมาสก่อน และผ่านช่วงเทศกาลต่างๆ มาแล้ว ผู้ผลิตจึงชะลอการสั่งซื้อวัตถุดิบลง ทำให้ราคาเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบๆ

การผลิต

จากการรวมตัวเป็นกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ของ 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น แต่ก็ยังก่อให้เกิดโอกาสอย่างมหาศาลตามมาด้วย ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างความแข็งแกร่งทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อสร้างนักวิจัย นักนวัตกรรมที่มีคุณภาพสูง เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงเดินหน้าโครงการพัฒนาบุคลากร โดยสร้างสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงระยอง (RAIST) และโรงเรียนวิทยาศาสตร์ระยอง (RASA) โดยมีกำหนดเปิดภาคการศึกษาแรกในปี 2558

การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมีมูลค่า 76,878.66 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.91 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ลดลงร้อยละ 3.39 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2557 โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นมีการส่งออกลดลงร้อยละ 13.20 ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลางและขั้นปลายมีการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.38 และ 20.47 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2556

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมีมูลค่า 156,455.73 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีมูลค่า 26,948.71 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 2.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2556 และลดลงร้อยละ 1.79 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2557 โดย ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลางมีการนำเข้าลดลงร้อยละ 24.19 ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นปลายมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.34 และ 6.48 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2556

สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมีมูลค่า 54,388.70 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ราคาสินค้า

ราคาเอธิลีนในตลาดเอเชียในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ราคาเฉลี่ยตลอดไตรมาสอยู่ที่ 42.88 บาทต่อกิโลกรัม และราคาโพรพิลีนเฉลี่ยตลอดไตรมาสอยู่ที่ 48.03 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาของทั้งสองผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า

ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2557 ราคาเฉลี่ยเม็ดพลาสติก PE และ PP (ราคาเฉลี่ย SE Asia CFR ) ของ LDPE, HDPE, และ PP อยู่ที่ระดับ 52.41, 51.08 และ 51.28 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ HDPE และ PP มีระดับราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ส่วน LDPE เมีระดับราคาเฉลี่ยลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

สรุปและแนวโน้ม
สรุป

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป รวมถึงความสภาวะทางการเมืองภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนมูลค่าการนำเข้าปรับตัวลดลง เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และการใช้สินค้าคงคลังทดแทนการนำเข้า

แนวโน้ม

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี 2557 คาดว่าอัตราการขยายตัวจะค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2556 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจใน

ประเทศ และต่างประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยเฉพาะประเทศจีน มีอัตราการขยายตัวที่ทรงตัว จึงส่งผลให้การส่งออกและนำเข้าของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไทยมีอัตราการขยายตัวที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก อย่างไรก็ตามคาดว่าปัจจัยหนุนจากภายในประเทศ คือ ความชัดเจนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ได้อนุมัติการลงทุนในโครงการสำคัญต่างๆ และการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ น่าจะทำให้ความต้องการวัตถุดิบเม็ดพลาสติกมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีดีขึ้นตามไปด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ