สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2557 (เมษายน - มิถุนายน 2557)(อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 9, 2014 14:13 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์หดตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวของไทย และเป็นช่วงที่ไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูเข้าสู่ฤดูฝน ส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง การส่งออกปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ปรับตัวการส่งออกปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณการผลิตที่ลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศลดลง ประกอบกับไทยมีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้มากขึ้น สำหรับไตรมาสที่ 3 ปี 2557 คาดว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะขยายตัวดีขึ้น เนื่องจาก คสช. มีนโยบายเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นด้วยมีการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นด้วย

การผลิต

การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 10.65 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 10.96 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.71 และ 9.23 ตามลำดับ สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 5.76 และ 2.83 ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากไตรมาสที่ 2 ของทุกปีเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวของไทย และยังเป็นช่วงที่ไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน การก่อสร้างโครงการต่างๆ จึงชะลอตัวลง ส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศน้อยลง

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 9.11 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.13 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 8.98 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 7.97 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.66 ทั้งนี้ ภาคก่อสร้างชะลอตัวลงเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวของไทย และเป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้ไตรมาสที่ 2 ของทุกปีเป็นช่วงที่ไทยมีปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนซึ่งเป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีปริมาณการส่งออกรวม 3.27 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 175.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 1.17 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 48.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.25 และ 44.95 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 95.00 และ 84.11 ตามลำดับ ในส่วนของปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการส่งออกจำนวน 2.10 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 127.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.40 โดยมี

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.41 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.02 โดยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.92 ทั้งนี้ ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นในภาพรวม เนื่องจากไทยมีการขยายกำลังการผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น ซึ่งถึงแม้จะคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ในประเทศจะลดลง ก็ไม่สามารถลดกำลังการผลิตลงได้เพราะจะทำให้ไม่คุ้มทุน จึงทำให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์มีความจำเป็นที่จะต้องผลิตปูนซีเมนต์ในปริมาณที่ค่อนข้างคงที่ เว้นแต่จะมีการหยุดเดินเครื่องจักรเพื่อการซ่อมบำรุง นอกจากนี้ ประเทศในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยต่างก็มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการขยายการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศของตน และมีการนำเข้าปูนซีเมนต์จากไทยเพิ่มมากขึ้น โดยตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ เมียนมาร์ รองลงมา คือ กัมพูชา บังคลาเทศ ลาว และมาเลเซีย ตามลำดับ

การนำเข้า

การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีปริมาณรวม 4,485.78 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ6.50 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 4.25 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.31 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 34.14 โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ดจำนวน 1.74 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.005 ล้านเหรียญสหรัฐ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 4,484.04 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ไทยลดปริมาณการนำเข้าปูนซีเมนต์ลง เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยบางรายได้มีการเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศมากขึ้น ซึ่งการนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นปูนซีเมนต์ขาวชนิดพิเศษ และอะลูมินัสซีเมนต์ ที่ไม่มีการผลิตในประเทศ โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ จีน รองลงมา คือ อินเดีย อียิปต์ เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ตามลำดับ

ราคาสินค้า

ราคาปูนซีเมนต์มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรเนื่องมาจากราคาเชื้อเพลิงที่ขยับสูงขึ้นเมื่อกลางปี 2555 รวมถึงต้นทุนการขนส่งและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์บางรายได้ปรับขึ้นราคาขายปูนซีเมนต์บ้างแล้ว โดยเฉลี่ย 100-200 บาท ต่อตัน ตามต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลไม่มีมาตรการ/นโยบาย รองรับสำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์โดยตรง แต่มีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากไตรมาสที่ 2 ของทุกปีเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวของไทย และเป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูฝน ส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง ปริมาณความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศจึงลดลงตามไปด้วย

ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมาร์และกัมพูชา ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยในอาเซียน มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์สูงขึ้น เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศของตนที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ประกอบกับบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากลดปริมาณการผลิตลงจะทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจนไม่คุ้มทุน จึงทำให้ไทยมีปูนซีเมนต์มากพอที่จะขยายการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าต่างๆ ได้มากขึ้น

แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจาก คสช. มีนโยบายเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะโครงการขยายเส้นทางรถไฟรางคู่ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนต่อไป

สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะเมียนมาร์และกัมพูชาซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย ยังมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศของตนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับไทยมีการขยายกำลังการผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณผลผลิตมากเกินความต้องการในประเทศ จึงสามารถส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าต่างๆ ได้มากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ